สปสช.ออกคู่มือบริหารกองทุนปี 58 แจงมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์ที่สำคัญ คือ การบริหารวงเงินแบบเพดานระดับเขตพื้นที่รับผิดชอบของสปสช.เขตมากขึ้น โดยอยู่ใต้การตัดสินใจของอปสข.เขต ย้ำเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาที่จำเป็น และจัดหาบริการสุขภาพได้สอดคล้องกับปัญหาสุขภาพนพื้นที่
1 พ.ย.58 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ได้ออกคู่มือการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2558 โดยในส่วนของคำนำ ซึ่งระบุว่าเป็นข้อเขียนของ นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสปสช. ได้ระบุถึงการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การบริหารงบประมาณกองทุนฯที่สำคัญ คือ การเพิ่มการบริการวงเงินในระดับเขต หรือ Global budget ระดับเขตมากขึ้น
ทั้งนี้สปสช.ได้จัดทำคู่มือการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นประจำในทุกปี อย่างไรก็ตามในช่วงระยะหลังนี้ มีความเห็นต่างระหว่าง สปสช.และกระทรวงสาธารณสุข เรื่องแนวทางและวิธีการจัดสรรงบประมาณกองทุนฯ ซึ่งระหว่างนี้ก็ยังอยู่ในช่วงการหารือของทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อให้ได้ข้อสรุปร่วมกัน
สำหรับรายละเอียดของคำนำใน คู่มือการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2558 มีดังนี้
“กระบวนการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนและส่งเสริมให้มีการจัดบริการและจัดหาบริการสาธารณสุข เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพและมาตรฐานอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม โดยปีงบประมาณ 2558 มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่สำคัญคือ การบริหารวงเงินแบบเพดานระดับเขตพื้นที่ความรับผิดชอบของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเขต (Global budget ระดับเขต) ภายใต้การตัดสินใจของคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขต (อปสข.) มากขึ้น เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่จำเป็นภายในเขตพื้นที่ และมีการจัดหาบริการสาธารณสุขให้ครบถ้วนสอดคล้องกับปัญหาสุขภาพในเขตพื้นที่
รวมทั้งเป็นการให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ก่อให้เกิดการพัฒนารูปแบบการดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ประชาชนเข้าถึงบริการและได้รับบริการสาธารณสุขตามสิทธิที่พึงได้ในฐานะความเป็นประชาชนไทย
คู่มือการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นส่วนหนึ่งของการกำหนดรายละเอียดหลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในปีงบประมาณ 2558 ประกอบด้วย
เล่มที่ 1 การบริหารงบบริการทางการแพทย์และเหมาจ่ายรายหัว
เล่มที่ 2 การบริหารงบบริการผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์และการบริหารงบผู้ป่วยวัณโรค
เล่มที่ 3 การบริหารงบบริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง
เล่มที่ 4 การบริหารงบบริการควบคุม ป้องกันและรักษาโรคเรื้อรัง (ผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง)”
สามารถดาวน์โหลดคู่มือฯทั้ง 4 เล่มดังกล่าวได้ตามไฟล์ด้านล่าง
- 97 views