สปสช.แจงหลักเกณฑ์จัดสรรงบกองทุนบัตรทอง ปี 63 หนุนหน่วยบริการดูแลประชาชนทั่วประเทศ ครอบคลุมรักษา ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค และฟื้นฟูสมรรถภาพ ตามผลหารือกลไกคณะกรรมการ สธ.-สปสช. พร้อมรุกศึกษาพัฒนาระบบ สู่การดำเนินงานกองทุนอย่างมีประสิทธิภาพ จัดบริการอย่างมีคุณภาพมาตรฐาน
นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า การจัดสรรงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2563 สปสช.และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด ผ่านกลไกของคณะกรรมการกำหนดแนวทางการใช้จ่ายเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของหน่วยบริการสังกัดสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) ระดับประเทศ (คณะกรรมการ 7x7) ภายใต้การกำกับของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อร่วมบริการจัดการกองทุนฯ โดยยึดหลักพิจารณาตามรัฐธรรมนูญ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ยุทธศาสตร์ นโยบาย กฎหมาย กฎระเบียบ หลักการพื้นฐาน และมติ ครม.ที่เกี่ยวข้องรวมถึงความเห็นจากภาคส่วนต่างๆ เน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการบริการจัดการและการเข้าถึงบริการของประชาชน
ทั้งนี้ ภาพรวมยังคงจ่ายเหมือนปี 2562 ทั้งในส่วนของงบผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ค่าเสื่อมของหน่วยบริการ และงบบริการปฐมภูมิ หรือหมอครอบครัว โดยมีการปรับปรุงการจ่ายเพื่อรองรับบริการที่เป็นสิทธิประโยชน์ใหม่ เพื่อให้เป็นไปตามคุณภาพและมาตรฐานการบริการที่ได้มีการปรับปรุง เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็น อาทิ การจัดกลไกการเข้าถึงบริการโรคหลอดเลือดสมอง การพัฒนาแนวทางบริการวัณโรคตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ เป็นต้น
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า งบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2563 จำนวน 190,601.71 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.97% ได้จัดสรรแบ่งเป็น 8 รายการ ดังนี้
1.บริการเหมาจ่ายรายหัวดูแลประชากร 48.26 ล้านคน จำนวน 173,750.40 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2562 จำนวน 7,305.17 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.39% หลังหักเงินเดือนบุคลากรหน่วยบริการภาครัฐ จำนวน 49,832.58 ล้านบาท เป็นเงินสู่การบริหารโดย สปสช.จำนวน 123,917.82 ล้านบาท
2.บริการผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ รวมการควบคุมป้องกันการติดเชื้อ จำนวน 3,596.84 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2562 จำนวน 550.52 ล้านบาท หรือร้อยละ 18.1%
3.บริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง จำนวน 9,405.41 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2562 จำนวน 1,123.62 ล้านบาท หรือร้อยละ 13.6%
4.บริการป้องกันความคุมแรงของโรคเรื้อรัง เบาหวาน ความดัน และผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังในชุมชน จำนวน 1,037.57 ล้านบาท ลดลงจากปี 2562 จำนวน 97.46 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 8.6
5.บริการสาธารณสุขเพิ่มเติมสำหรับหน่วยบริการในพื้นที่กันดาร พื้นที่เสี่ยงภัย และพื้นที่ชายแดนไต้ จำนวน 1,490.29 ล้านบาท จัดสรรเท่าปี 2562
6.บริการผู้ป่วยติดเตียงที่มีภาวะพึ่งพิง จำนวน 1,025.56 บาท เพิ่มขึ้นจากปี 2562 จำนวน 108.76 ล้านบาท หรือร้อยละ 11.9%
7.บริการเพิ่มเติมสำหรับการบริการระดับปฐมภูมิที่มีแพทย์ประจำครอบครัว จำนวน 268.64 ล้านบาท จัดสรรเท่ากับปี 2562
8.งบชดเชยวัคซีนป้องกันหัด คางทูมและหัดเยอรมัน เพื่อแก้ปัญหาการระบาดในภาคใต้ปี 2561-2562 จำนวน 27 ล้านบาท
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า สำหรับในส่วนการจัดสรรงบประมาณเหมาจ่ายรายหัว โดยอัตราเฉลี่ยปี 2563 อยู่ที่จำนวน 3,600 บาทต่อประชากรสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้มีการจัดสรรแยกตาม 9 รายการ ดังนี้
1.บริการผู้ป่วยนอกทั่วไป จำนวน 1,251.68 บาทต่อประชากร
2.บริการผู้ป่วยในทั่วไป จำนวน 1,371.07 บาทต่อประชากร
3.บริการกรณีเฉพาะ จำนวน 359.24 บาทต่อประชากร
4.บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค จำนวน 452.60 บาทต่อประชากร
5.บริการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการแพทย์ จำนวน 17.43 บาทต่อประชากร
6.บริการแพทย์แผนไทย จำนวน 14.80 บาทต่อประชากร
7.ค่าบริการทางการแพทย์ที่เบิกจ่ายในลักษณะงบลงทุน จำนวน 128.69 บาทต่อประชากร
8.เงินช่วยเหลือผู้รับบริการและผู้ให้บริการ จำนวน 2.49 บาทต่อประชากร
9.บริการจ่ายตามเกณฑ์คุณภาพผลงานบริการ จำนวน 2 บาทต่อประชากร
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวต่อว่า นอกจากการจัดสรรและปรับปรุงการบริหารจัดการกองทุนฯ แล้ว ในปี 2564 ยังมีนโยบายที่นำไปสู่การพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารงบประมาณ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการของประชาชน อาทิ การพัฒนาข้อเสนอการจ่ายเพื่อสนับสนุนนโนบายการลดจำนวนวันนอนรักษาในโรงพยาบาลในโรคที่ราชวิทยาลัย สมาคมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกำหนด, การกำกับติดตามคุณภาพและมาตรฐานบริการแบบผ่าตัดวันเดียวกลับ ศึกษาการจ่ายเงินชดเชยบริการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งหน่วยบริการเอกชนและหน่วยบริการของรัฐ ศึกษาต้นทุนบริการคลินิกเอกชนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และศึกษาทบทวนรายการและอัตราจ่ายค่าใช้จ่ายอุปกรณ์และอวัยวะเทียมในการบำบัดโรค เป็นต้น เพื่อนำไปสู่การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพให้ยั่งยืนต่อไป
- 1022 views