นสพ.มติชน : พลัน ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประกาศชัดว่าไม่เคยพูดว่าจะปลด นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าเกิดอะไรขึ้นกับกระทรวงนี้อีกแล้ว
ที่ผ่านมาแทบจะทุกรัฐบาล จะเห็นได้ว่าเกิดความขัดแย้งในกระทรวงแห่งนี้มาแทบจะโดยตลอด
สำหรับรัฐบาลชุดนี้ ตั้งแต่ ศ.นพ.รัชตะเข้ามารับตำแหน่ง โดยมี นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมช.สธ.) คอยขนาบข้าง เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักเกี่ยวกับความขัดแย้งภายในกระทรวง
เหตุเพราะ นพ.สมศักดิ์เป็นนักวิชาการสายมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) อีกทั้งพลพรรคที่พาเหรดกันเข้ามาเป็นที่ปรึกษาก็มีทั้งดีกรีเป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการ สธ. คือ นพ.มงคล ณ สงขลา มี นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล อดีตรองปลัด สธ. และอดีตกรรมการกองทุนสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษคือ การแต่งตั้งกลุ่มชมรมแพทย์ชนบทขึ้นเป็นฝ่ายเลขานุการ มี นพ.สุเทพ เพชรมาก อดีต ผอ.ศูนย์อนามัยที่ 5 นครราชสีมา และอดีตกรรมการชมรมแพทย์ชนบท นั่งตำแหน่งเลขานุการ รมว.สธ. และ นพ.สมชายโชติ ปิยวัชร์เวลา อดีต ผอ.รพ.เชียงยืน มหาสารคาม และอดีตเลขานุการชมรมแพทย์ชนบท ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการ รมว.สธ.
เป็นที่ทราบกันดีว่า ก่อนหน้านี้ชมรมแพทย์ชนบทเป็นหัวแถวออกมาคัดค้านนโยบาย ค่าตอบแทนตามผลปฏิบัติงาน หรือ พีฟอร์พี (P4P : Pay for Performance) ของปลัด สธ. และ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ สมัยเป็น รมว.สธ. จึงไม่แปลกที่กระแสสังคมออนไลน์จะวิพากษ์วิจารณ์ว่า ฝ่ายการเมืองอิงแนบกับกลุ่มหมอชนบท รวมทั้งหน่วยงานที่เรียกว่าตระกูล ส.หรือไม่
ไม่เพียงแต่ทีมที่ปรึกษาที่ถูกตั้งข้อกังขา ในส่วนขององค์กรรัฐวิสาหกิจภายใต้ สธ.อย่างองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ที่มีการตั้งคณะกรรมการ (บอร์ด) อภ.ชุดใหม่ หากพิจารณารายชื่อก็มี นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) อยู่ในนั้น
หนำซ้ำยังมีกระแสข่าวลือสะพัดไปทั่วกระทรวงว่า บอร์ด อภ.เตรียมพิจารณาประเมินผลการทำงานของ นพ.สุวัช เซียศิริวัฒนา ผอ.อภ. เข้ามาในสมัยของ นพ.ประดิษฐและ นพ.ณรงค์ มีแนวโน้มว่าอาจจะไม่ผ่านการประเมินจนถึงขั้นอาจจะมีปลดออกจากตำแหน่งในเร็ววัน
ประเด็นนี้หลายคนจับตาไปที่ความเคลื่อนไหวจากกรณี 8 เครือข่ายองค์กรสุขภาพ นำโดยชมรมแพทย์ชนบท ชมรมเภสัชชนบท กลุ่มศึกษาปัญหายา กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี ฯลฯ เรียกร้องให้บอร์ด อภ.พิจารณาผลงาน ผอ.อภ.ที่ไม่มีประสิทธิภาพจากปัญหาขาดยาต้านไวรัสเอชไอวี
สิ่งที่เกิดขึ้นในกระทรวงสาธารณสุขในวันนี้จึงทำให้อดมองไม่ได้ว่า กระทรวงหมอมีการแบ่งออกเป็น 2 ขั้วอำนาจใหญ่ๆ
แม้ ศ.นพ.รัชตะยืนยันว่า สธ.ไม่มีขั้วอำนาจ และทีมที่ปรึกษาได้แต่งตั้งจากหลายภาคส่วน แต่ภาพที่สะท้อนออกมาให้เห็นไม่เป็นเช่นนั้น
ข้อระแวงสงสัยที่ค่อนข้างชัดเจนตั้งแต่การประชุมชี้แจงนโยบายผู้บริหารระดับสูงทั่วประเทศเมื่อวันที่ 20 ตุลาคมที่ผ่านมา ที่โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการฯ
เห็นได้ชัดว่า ขณะที่ นพ.ณรงค์และกลุ่มนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) หลายร้อยคนสวมชุดสีกากี ชุดข้าราชการร่วมงาน ขณะที่ปลัด สธ.ก็ประกาศชัดในความเป็นข้าราชการ และจะเดินหน้านโยบายเขตสุขภาพ และมีบรรดาเหล่าข้าราชการเหล่านี้ยืนขึ้นปรบมือพร้อมกัน ขณะที่ภาพของฝั่งที่ถูกมองว่าโยงกับการเมืองล้วนสวมเสื้อสีขาว ขนาดอธิบดีแต่ละกรมใน สธ.ก็ไม่สวมชุดสีกากี
สำหรับชนวนเหตุของการแบ่งฝ่ายครั้งนี้ เกิดจากปลัด สธ.ไม่เห็นด้วยกับการกระจายงบประมาณในรูปแบบเดิมที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทำ เนื่องจากขัดหลักการบริหารและจัดบริการรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า เขตสุขภาพ ที่ต้องการบริหารและจัดบริการแบ่งเป็น 12 เขตพื้นที่ แต่ละเขตจะมี 5-7 จังหวัด เพื่อทำงานในรูปเขต ทั้งการใช้ทรัพยากรร่วมกันของโรงพยาบาล การใช้บุคลากรทางการแพทย์อย่างคุ้มค่า การบริหารจัดการผ่านคณะกรรมการเขตและกระจายเงินในรูปเขตสุขภาพ
แต่การกระจายงบของ สปสช.ไปยัง รพ.ขัดกับแนวทางของปลัด สธ. โดยการกระจายงบแบบ สปสช.จะผ่านรูปแบบเงินเหมาจ่ายรายหัว แบ่งออกเป็น 9 หมวด มี 1.งบการบริการผู้ป่วยนอก 2.งบการบริการผู้ป่วยใน 3.งบบริการกรณีเฉพาะ 4.งบบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค 5.งบบริการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการแพทย์ 6.งบบริการการแพทย์แผนไทย 7.งบค่าเสื่อม (เงินบำรุงเครื่องมือแพทย์ครุภัณฑ์เสื่อมสภาพ) 8.เงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีผู้รับบริการในมาตรา 41 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 และ 9.เงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีผู้ให้บริการ
ที่ผ่านมาโรงพยาบาล (รพ.) หลายแห่งออกมาเรียกร้องว่า วิธีกระจายงบของ สปสช.ยุ่งยาก เพราะแทนที่จะให้เป็นเงินก้อนเหมาจ่ายรายหัว แต่มีการแบ่งออกเป็นหมวดหมู่ บางหมวดต้องทำงานเพื่อแลกเงิน ต้องบันทึกข้อมูลมายังส่วนกลางตามกำหนดเวลา จากนั้นส่วนกลางจึงจะส่งงบมาให้ หากล่าช้าไม่ทันการ สุดท้าย รพ.ต้องควักเงินตัวเองใช้ไปก่อน
ปลัด สธ.จึงต้องการให้บริหารผ่านเขตสุขภาพและยุบจาก 9 หมวดเหลือเพียง 4 หมวดเท่านั้น คือ 1.งบการบริการผู้ป่วยนอกทั่วไป 2.งบการบริการผู้ป่วยใน 3.งบสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค และ 4.เงินช่วยเหลือผู้ให้บริการและรับบริการ ตามมาตรา 41 กลายเป็นปัญหาไม่ได้ข้อยุติ
หนำซ้ำความขัดแย้งยิ่งออกวงกว้าง เมื่อเพจของชมรมแพทย์ชนบทได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า วิธีของปลัด สธ.เป็นการเปิดช่องให้พื้นที่ไหนเสียงดังก็ได้รับงบประมาณมากกว่า ตรวจสอบไม่ได้
ขณะที่ทางฝั่งโรงพยาบาลอย่างตัวแทนโรงพยาบาล 77 แห่ง จาก 7 จังหวัดภาคใต้ คือ ตรัง สตูล พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส กลับเห็นต่าง โดยออกมาถือป้ายเดินขบวน ขอให้ยกเลิกวิธีกระจายงบของ สปสช.
จากความเห็นที่แตกต่างและแต่ละฝ่ายมีกลุ่มผู้สนับสนุนจำนวนมาก ในขณะที่ยังไม่มีใครจะสามารถลดความขัดแย้งที่ทำท่าจะลุกลามนี้ไปได้ ส่งผลทำให้การทำงานอาจเพื่อแก้ปัญหาที่หมักหมมมานาน เพื่อเดินหน้าไปสู่การปฏิรูประบบสุขภาพของประชาชน จากเดิมยากยิ่งอยู่แล้วกลับยิ่งยากหนักขึ้นไปอีก
ล่าสุด นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ. ได้ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนานโยบายและการบริหารสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขขึ้น เพื่อมาช่วยการบริหารจัดการเขตสุขภาพให้เดินหน้าไปได้ โดยมีอดีต รมช. อดีตปลัด เช่น นพ.วัลลภ ไทยเหนือ เคยมีความขัดแย้งกับฝ่ายการเมืองอย่างมาก สมัย คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ สมัยเป็น รมว. สธ. จากปัญหาโครงการทุจริตคอมพิวเตอร์ 900 ล้านบาท แต่ นพ.วัลลภเป็นบุคคลที่กลุ่มนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) ให้การเคารพมาตลอด
แหล่งข่าวแวดวงสาธารณสุขรายหนึ่งให้ความเห็นว่า มีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงการตั้งกุนซือของปลัด สธ. เพื่อต้องการเดินหน้าเขตสุขภาพและล้มเลิกการกระจายงบแบบ สปสช. เนื่องจากกลุ่มกุนซือที่มาช่วย นพ.ณรงค์คือคนยุคเก่าที่ต้องการรื้อระบบการบริหารให้กระทรวง กลับมามีอำนาจอีกครั้ง เพราะที่ผ่านมา สปสช.กุมอำนาจในการเป็นผู้ซื้อบริการ จ่ายเงินให้โรงพยาบาลในการบริการประชาชน และมีบอร์ด สปสช.คอยพิจารณากำหนดสิทธิประโยชน์ให้ประชาชนมากมาย
ดังนั้นหากจะดูทิศทางของกระทรวง ปลัด สธ.จะอยู่หรือจะไป ต้องจับตาในช่วง 3-4 เดือนนับจากนี้ว่า ฝ่ายการเมืองจะตั้งหลักและรับสถานการณ์ที่คลุมเครือแบบนี้ได้อย่างไร เพราะหากไม่ได้ข้อยุติเรื่องการกระจายงบประมาณและท่าทีของปลัด สธ. นานวันเข้าจะกลายเป็นปัญหา ทำให้ รพ.สธ.อาจต้องดึงเงินสะสมมาใช้ จนเกิดปัญหาขาดสภาพคล่องก็เป็นได้
"หากถึงขั้นนั้นเกรงว่าจะไม่ใช่แค่ตัวแทนโรงพยาบาล 77 แห่งใน 7 จังหวัดภาคใต้ออกมาเรียกร้องเท่านั้น แต่จะเกิดการรวมตัวกันเป็นม็อบเสื้อกาวน์ ถึงขั้นนั้นอาจเป็นชนวนให้เกิดการกดดัน ไม่ปลัด สธ.ก็หมอรัชตะต้องแสดงความรับผิดชอบที่ไม่สามารถทำให้กระทรวงหมอสงบ คงต้องรอลุ้นว่าภายในปีนี้ แนวโน้มปลัด สธ.จะอยู่ถึงเกษียณปีหน้าหรือไม่" แหล่งข่าวทิ้งท้าย
งานนี้ใครจะอยู่ใครจะไป ต้องรอดู อย่ากะพริบตา...
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 27 ตุลาคม 2557
- 21 views