เป็นเวลากว่า 30 ปีมาแล้วที่คุณหมอนักปั่น นพ.ภักดี สืบนุการณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย จังหวัดเลย ใช้งานอดิเรกที่รัก มาเชื่อมกับงานประจำที่ทำ ทำให้ได้ทั้งงาน และความสุขไปพร้อมๆ กัน จนกระทั่งสามารถตั้งเป็นชมรมให้คนรักสุขภาพที่อำเภอด่านซ้าย ได้ใช้จักรยานเป็นเครื่องมือในการสร้างเสริมสุขภาพที่ดีตามไปด้วย
“ในวัยเด็กเราเชื่อว่าการได้ขี่จักรยานออกเป็นนั้น เป็นเสรีภาพ มีความเป็นอิสระมากๆ ที่สนุกสำหรับเรา ที่เป็นเด็กในวันนั้น ทำให้ตนเองชื่นชอบการขี่จักรยานเรื่อยมา”
ผอ.รพ.สมเด็จยุพราชด่านซ้าย เล่าที่มาของการเป็นคุณหมอนักปั่น ที่ใช้งานอดิเรกมาช่วยทำงานประจำต่อไปว่า ตอนมาอยู่ที่ด่านซ้ายใหม่ๆ ไม่มีอะไรทำ เวลาว่างเยอะจึงขี่จักรยานมาทำงานทุกวัน บางคนก็มองว่าทำไม หมอถึงไม่ใช้รถยนต์เหมือนคนอื่นบ้าง แต่ด้วยความชอบในการขี่จักรยานจึงได้แนะนำให้เจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลมีขี่จักรยานด้วยกัน จากกลุ่มเล็กๆ ก็ขยายออกไปเรื่อยๆ จนสามารถตั้งเป็นชมรมได้
นพ.ภักดี เล่าว่า เราเริ่มกันจากจักรยานแม่บ้านคันละไม่กี่พันบาท แต่ด้วยสภาพภูมิประเทศที่ส่วนมากเป็นภูเขา มีทางลาดชันเป็นจำนวนมาก ทำให้ใช้ไม่นานมันก็พังต้องซ่อมอยู่เป็นประจำ จึงลองดูว่าจักรยานแบบไหนที่ทนและเหมาะกับเส้นทางของด่านซ้ายคำตอบที่ได้คือเสือภูเขา จึงได้เสาะหาร้านค้าที่จำหน่ายจักรยานเสือภูเขาในราคาที่ไม่แพงมากนัก ซื้อจักรยานมาให้เจ้าหน้าที่ หรือญาติผู้ป่วยได้หยิบยืมจักรยานไปขี่ซื้อข้าวของเครื่องใช้เวลามาทำงาน หรือเยี่ยมผู้ป่วย ซึ่งได้รับการตอบสนองที่ดี จึงเกิดมาเป็นโครงการ “ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพ เมืองด่านซ้าย” ขึ้นมา ในปี 2552
โครงการดังกล่าว มิได้ตั้งขึ้นมาเพื่อความบันเทิงเพียงอย่างเดียว ในชมรมยังมีการจัดสวัสดิการให้สำหรับเจ้าหน้าที่หรือประชาชนที่ต้องการจะมีจักรยานดีไว้ใช้ ด้วยระบบผ่อนจ่ายอีกด้วย นี่คืออีกกลยุทธ์หนึ่งที่จะดึงเจ้าหน้าโรงพยาบาลและประชาชนหันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพการออกกำลังกายด้วยการขี่จักรยานได้อีกทางหนึ่ง และยังมีจักรยานยืมให้นักเรียนแพทย์ทุกคนที่มาเรียนที่นี่ และยังมีจักรยานให้ยืมสำหรับบุคคลทั่วไปที่อยากลองปั่นเสือภูเขา แต่ว่าไม่ใช่จะให้ทุกคนเพราะว่าก็กลัวจะหายเหมือนกัน เพียงแค่ใครสักคนในโรงพยาบาลเป็นหลักประกันให้ก็สามารถยืมได้
นพ.ภักดี เล่าว่า หลังจากพวกเขาติดจักรยาน เวลามีประชุมจะบอกว่าใครมีโครงการจักรยานอะไรก็มาเสนอได้ แต่ละคนก็นำมาเสนอส่วนใหญ่ก็อนุมัติ อาทิ มีโครงการของฝ่ายที่ดูแลเรื่องสุขภาพความอ้วนง่ายๆ แค่คุณมีน้ำหนักเกินเกณฑ์ทางโรงพยาบาลจะให้จักรยานเสือภูเขามูลค่าหนึ่งหมื่นสองพันบาทฟรี แต่มีเงื่อนไขว่าภายในสามเดือนคุณต้องลดน้ำหนักได้สองกิโล แต่ถ้าไม่สามารถจะโดนปรับสองพันบาทและยึดจักรยานคืน มูลค่าฟังดูเยอะใช่ไหมครับ แต่หมอคำนวณแล้วละว่าค่ายาสำหรับโรคเบาหวานปีหนึ่งรัฐก็ต้องจ่ายหมื่นกว่าบาทเหมือนกัน และยังต้องจ่ายต่อเนื่อง ที่นี่คนเป็นโรคเบาหวานเยอะมากครับ หมอพยายามจะลดการเพิ่มจำนวนผู้ป่วยโดยให้เขามีสุขภาพแข็งแรง
นพ.ภักดี กล่าวว่า ทุกวันนี้ในชมรมมีสมาชิกมากว่า 200 คนมีตั้งแต่อายุ 8-65 ปีขึ้นไป จะรวมตัวกันขี่จักรยานอย่างน้อยสัปดาห์ละครึ่งครั้ง จะขี่ไปตามเส้นทางต่างในอำเภอ และเพื่อไม่ให้การขี่จักรยานสูญเปล่า ตนและสมาชิกจะขี่จักรยานไปเยี่ยมตามบ้านผู้ป่วยด้วย ถามไถ่สารทุกข์สุขดิบ ดูเรื่องสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ควบคู่กันไปด้วย ผลที่ได้นอกจากตัวเราและสมาชิกจะมีร่างกายที่แข็งแรงแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างหมอกับชาวบ้านเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น การที่ตัวเราเป็นแบบอย่างทีดีของการออกกำลังกายนั้น จึงทำให้การชักชวนให้ชาวบ้านออกกำลังด้วยการขี่จักรยานเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น
นอกจากนี้ ผลพวงที่มีตามจากการต่อยอดของชมรม คือ เราได้มีการนำเด็กที่คาดว่า จะเป็นหัวโจ๊กของโรงเรียน เด็กที่เรียนไม่ดี หรือไม่ได้เรียน มาเข้ารับการอบรมให้เป็นอาสาสมัครกู้ชีพ มาช่วยงานเบื้องต้นให้โรงพยาบาล ซึ่งเป็นการสร้างกำลังใจ สร้างความภาคภูมิใจให้กับเด็กกลุ่มนี้เป็นอย่างมาก จากเดิมที่พวกเขาไม่เคยมีความภูมิใจในตัวเอง ถูกสังคมมองว่าเป็นตัวปัญหาด้วยซ้ำไป เมื่อพวกเขาเหล่านี้ได้มาทำงานตรง จะทำให้เขารู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าต่อสังคม และไม่ทำตัวให้เป็นภาระแก่ครอบครัวและสังคมอีกต่อไป
“ทำให้เราได้ทั้งความสุขจากการขี่จักรยาน แถมยังได้งานอีก ทำให้เรารู้ได้ว่า ประชาชนคนพื้นที่ประสบปัญหาด้านสุขภาพในด้านบ้าง จึงง่ายต่อการวางแนวทางการป้องกันโรคได้อีก เชื่อหรือเปล่าว่า ทุกครั้งที่ขี่จักรยานออกเยี่ยมชาวบ้าน เย็นวันนั้นแถมจะไม่ต้องซื้อของมาทำกับข้าวเลย เพราะแต่ละบ้านจะนำผลผลิตที่ตัวเองปลูกไว้ตัดมาให้เป็นของติดไม้ติดมือมาทุกครั้ง”
นอกจากนี้ นพ.ภักดี ยังกล่าวว่า การทำงานสุขภาพให้ได้ผลดี เราจะต้องนำครอบครัวของเราไปทำงานด้านนี้ด้วยกัน โดยทุกครั้งที่มีโอกาสตนจะพาครอบครัวไปขี่จักรยาน ระหว่างทางจะมีการพูดคุยกัน ออกเยี่ยมชาวบ้านด้วยกัน ซึ่งเป็นการสร้างสัมพันธภาพที่ดีให้กับคนในครอบครัว หัวใจของการทำงานของตนเองคือ จะต้องเป็นการเรียนรู้และเข้าใจคนท้องถิ่นอย่างคนใน ซึ่งจะช่วยให้การดำเนินงานทุกอย่างเป็นไปในทิศทางที่ดี
- 125 views