สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารอุบัติเหตุ-ฉุกเฉินหลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม อุปถัมภ์ ที่โรงพยาบาลสิงห์บุรี จ.สิงห์บุรี เพื่อดูแลรักษาผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินทุกประเภท มีเครื่องมือแพทย์ตรวจวินิจฉัยหาความผิดปกติทันสมัย + และเปิดสายด่วนหมายเลข 1669 จำนวน 3 คู่สาย รับแจ้งและให้คำปรึกษาการดูแลสุขภาพในระยะเร่งด่วน เพื่อเป็นรพ.ที่คุณอุ่นใจ ตลอด 24 ชั่วโมง
เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 57 เวลา 15.00 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนิน ทรงเปิดแพรคลุมป้าย อาคารอุบัติเหตุ-ฉุกเฉิน หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม อุปถัมภ์ โรงพยาบาล(รพ.)สิงห์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี โดยมี ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้บริหารรพ.สิงห์บุรี ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ ประชาชน เฝ้ารับเสด็จฯ
ศ.นพ.รัชตะ กราบบังคมทูลรายงานว่า รพ.สิงห์บุรี เป็นโรงพยาบาลทั่วไปขนาด 310 เตียง ให้บริการตรวจรักษาประชาชนในจ.สิงห์บุรีและใกล้เคียง ที่เจ็บป่วยด้วยอาการที่ซับซ้อน ต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูงและแพทย์เฉพาะทาง เปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2498 เป็นต้นมา ในปีงบประมาณ 2550 กระทรวงสาธารณสุขได้จัดสรรงบประมาณ 228 ล้านบาทเศษ ก่อสร้างอาคารอุบัติเหตุฉุกเฉิน เริ่มก่อสร้างวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ.2552 แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ.2555 โดยโรงพยาบาลฯได้จัดโครงการทอดผ้าป่าสามัคคีมหากุศล สร้างการมีส่วนร่วมจากประชาชนในการร่วมพัฒนา จัดหาเครื่องมือแพทย์ อุปกรณ์การแพทย์ในปี 2553 และได้รับความเมตตาจากพระธรรมสิงหบุราจารย์ ( หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม ) บริจาคเงิน40 ล้านบาท ซื้อเครื่องมือแพทย์และให้ใช้ชื่ออาคารหลังนี้ว่า” อาคารอุบัติเหตุ-ฉุกเฉิน หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม อุปถัมภ์
อาคารดังกล่าวมี 6 ชั้น ชั้นที่ 1เป็นห้องอุบัติเหตุและฉุกเฉิน ศูนย์ส่งต่อผู้ป่วย ห้องตรวจศัลยกรรมกระดูกและข้อ ห้องจ่ายยา การเงิน ห้องบัตร ชั้นที่ 2 เป็นหอผู้ป่วยหนัก ศูนย์เครื่องมือพิเศษอายุรกรรม ห้องตรวจศัลยกรรม หน่วยไตเทียม ชั้นที่3 เป็นกลุ่มงานพยาธิวิทยาคลินิก กายวิภาค งานธนาคารเลือด ศูนย์ปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ ชั้นที่ 4 เป็นหอผู้ป่วยสูติ-นรีเวชกรรม งานห้องคลอด ชั้นที่ 5 งานห้องผ่าตัด งานบริการวิสัญญี และชั้น 6 เป็นกลุ่มงานบริการทันตกรรม และห้องประชุม
ทางด้าน พญ.วนิดา สาดตระกูลวัฒนา ผู้อำนวยการรพ.สิงห์บุรี กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2557 มีผู้ป่วยอุบัติเหตุและฉุกเฉินมารับบริการจำนวน 44,648 ราย เฉลี่ยวันละ122 ราย เพิ่มจากปี 2556 ที่มีเฉลี่ยวันละ 111 ราย ในการเพิ่มประสิทธิภาพงานบริการผู้ป่วยอุบัติเหตุและฉุกเฉิน ขณะนี้รพ.ได้เพิ่มสายด่วน 1669 จำนวน 3 คู่สาย เพื่อให้ประชาชนโทรแจ้งขอความช่วยเหลือจากโทรศัพท์ทุกระบบ และบริการให้คำปรึกษาด้านการดูแลการเจ็บป่วยในระยะฉุกเฉินเบื้องต้นได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้เป็นรพ.ที่ประชาชนอุ่นใจ
ทั้งนี้จัดระบบทางด่วน เพื่อบริการตรวจวินิจฉัยรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินที่พบบ่อย 5 โรค ได้แก่ 1.โรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ซึ่งมักพบในกลุ่มผู้ที่เป็นโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง 2.โรคหลอดเลือดสมอง 3.ผู้ป่วยบาดเจ็บที่ศีรษะ 4. การตั้งครรภ์นอกมดลูก และ5.การติดเชื้อเฉียบพลันในกระแสโลหิต โดยจัดเครื่องตรวจคลื่นหัวใจ เครื่องอัลตร้าซาวน์ เครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ เครื่องติดตามการทำงานหัวใจระหว่างส่งต่อ ประจำที่ห้องฉุกเฉิน ทำให้แพทย์สามารถวินิจฉัยอาการผู้ป่วยและสั่งการรักษาได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งได้จัดทำบัตรฉุกเฉินและแผนที่บ้านของผู้ป่วยโรคเรื้อรัง โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคความดันโลหิตสูง เมื่อป่วยฉุกเฉินจะสามารถตรวจสอบสถานที่อยู่และส่งรถพยาบาลไปรับผู้ป่วยถึงบ้านได้ทันทีภายใน10นาทีเพื่อลดการเสียชีวิตของผู้ป่วย
- 565 views