นสพ.มติชน : คงต้องยอมรับว่าการเข้ามาทำงานของบรรดารัฐมนตรีในรัฐบาลบิ๊กตู่ในระยะเวลาอันจำกัด เพื่อบริหารประเทศ โดยมีเป้าหมายเพื่อปฏิรูปประเทศ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
เพราะนอกจากปัญหาต่างๆ เป็นปัญหาหมักหมม ฝังรากลึกมานาน การจะเข้าไปสะสางจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากเหล่าข้าราชการ มิฉะนั้นย่อมไม่มีทางแก้ปัญหาได้สำเร็จ ไม่ว่าจะเข้ามาทำงานในช่วงเวลาสั้นๆ เพื่อวางรากฐานให้รัฐบาลชุดต่อไปเข้ามาปฏิบัติก็ตาม
กระทรวงสาธารณสุขก็เป็นอีกกระทรวงที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นหน่วยงานรับผิดชอบดูแลสุขภาพของประชาชน และประกอบไปด้วยบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ ทั้งแพทย์ พยาบาล ผู้เชี่ยวชาญ พนักงานจำนวนมาก
แต่ก็เป็นกระทรวงที่มักจะมีประเด็นความเห็นแตกต่างกันให้เห็นมาตลอด และน่าจะเป็นที่มาที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เลือกบุคลากรทางการแพทย์เข้ามาทำหน้าที่รัฐมนตรี
แม้ปัญหาการควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดลของ นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน ที่มีผู้คัดค้านอย่างหนักในตอนต้นของการรับตำแหน่ง จะคลี่คลายไปด้วยดี เมื่อยอมลาออกจากตำแหน่งอธิการ แต่กลับมีปัญหาอื่นตามมา และดูเหมือนว่าจะไม่ใช่เล็กๆ เสียด้วย
การทำงานในกระทรวงสาธารณสุขของ นพ.รัชตะ ในระยะเวลาประมาณ 1 เดือนที่ผ่านมา มีทีมที่ปรึกษาและทีมวิชาการเข้ามาช่วยงานมากมาย โดยเฉพาะกลุ่มแพทย์ชนบท ทำให้ฝ่ายที่มีความเห็นไม่ตรงกันเริ่มวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของระดับนโยบาย เพราะเกรงว่าอาจจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อการปฏิรูประบบสุขภาพ
อย่างเช่น กรณีที่ผ่านมารัฐบาลนี้ประกาศนโยบายชัดเจนว่า จะเน้นการจัดการในระดับเขตสุขภาพเป็นกลุ่มจังหวัดหรือกลุ่มโรงพยาบาลที่มีขนาดประชากรเหมาะสมในการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ
แต่นโยบายของกระทรวงสาธารณสุขในวันนี้ ดูเหมือนจะเน้นการส่งต่อและการเพิ่มโรงพยาบาลองค์กรมหาชนในกำกับรัฐ โดยไม่พูดถึงเขตสุขภาพตามนโยบายที่รัฐบาลประกาศ
ในแผนของกระทรวงกำหนดว่า หากจะเป็นองค์กรในกำกับของรัฐ ก็จะออกนอกระบบกันทั้งเขตสุขภาพ เพื่อให้สามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่เหลื่อมล้ำ เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล เน้นการจัดการในระดับเขตแทนการกระจุกตัวในส่วนกลาง แต่มีการประเมินกันว่าเรื่องนี้อาจส่งผลต่อการจัดบริการด้านสาธารณสุขให้กับประชาชนอย่างทั่วถึง
นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขเริ่มมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงการแต่งตั้งโยกย้าย โดยถูกมองว่ามีการแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายผู้บริหารระดับสูงประเภทข้ามหัว จากรองอธิบดีเป็นรองปลัด ร้อนถึงรัฐบาลต้องส่งสัญญาณมา ถึงยอมให้เป็นผู้ตรวจราชการก่อน และจนถึงวันนี้การแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุขแทบจะเหลือเพียงกระทรวงเดียวที่ยังไม่เรียบร้อย ยังไม่สามารถเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้
ปัญหาที่สำคัญอีกเรื่องก็คือ การขับเคลื่อนจากระดับนโยบายสู่การปฏิบัติ โดยปกติรัฐมนตรีและทีมงานจะเป็นผู้ให้นโยบายและให้ข้าราชการประจำนำไปปฏิบัติ ทั้งส่วนกลางและในส่วนภูมิภาค
แต่ 1 เดือนที่ผ่านมา มีเสียงร่ำลือกันไปทั่วกระทรวงว่า มีการสั่งงานจากที่ปรึกษาข้ามแม้กระทั่งรัฐมนตรีผ่านไปถึงผู้ปฏิบัติ สร้างความสับสนให้กับผู้ปฏิบัติอย่างยิ่งว่าควรจะเชื่อใครดี
ถือว่าเป็นเรื่องน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง ในสภาวะที่รัฐบาลต้องการความร่วมมือจากทุกฝ่าย เดินหน้าปฏิรูปด้านต่างๆ ให้เป็นไปตามโรดแมป แต่การทำงานร่วมกับผู้ปฏิบัติ เปรียบเสมือนฟันเฟืองต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายให้เป็นไปตามเป้าหมาย กลับไม่ สามารถจูนให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันได้
กระทรวงสาธารณสุขคงต้องรีบสะสางปัญหานี้โดยเร็ว ก่อนจะกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว เป็นชนวนก่อให้เกิดความวุ่นวาย ทำลายเป้าหมายการทำงานแก้ปัญหาใหญ่ของประเทศ และความน่าเชื่อถือของรัฐบาลนี้ลงอย่างน่าเสียดาย
ที่มา : นสพ.มติชน ฉบับวันที่ 20 ต.ค. 2557 (กรอบบ่าย) จากคอลัมน์เดินหน้าชน
- 20 views