เภสัชกร รพ.มหาราช เสนอผลการศึกษาการพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยอาการปวดเรื้อรัง ของคลินิกระงับปวด พบได้ผลดี จัดการอาการเจ็บปวดดีขึ้น เล็งขยายเครือขายคลินิกทั่วจังหวัด
ในงานประชุมวิชาการประจำปี 2557 ของกระทรวงสาธารณสุข ภญ.อภิญญา จำรูญทิพวรรณ เภสัชกรปฏิบัติการประจำโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา จ.นครราชสีมาและคณะ ได้เสนอผลการศึกษาการพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยที่มีอาการปวดเรื้อรัง ของคลินิกระงับปวด โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา เพื่อหาปัญหาที่เกี่ยวกับการใช้ยา (Drug related problems ; DRPs) เพื่อประเมินประสิทธิภาพการระงับปวด และความพึงพอใจของผู้ป่วยหลังการพัฒนาระบบ
ภญ.อภิญญากล่าวว่า โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ได้เปิดคลินิกระงับปวด(PAIN CLINIC) ตั้งแต่ พ.ศ.2555 เพื่อให้การดูแลผู้ป่วยที่มีอาการปวดเรื้อรัง ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่เข้ารับการปรึกษามายังคลินิกระงับปวดเป็นผู้ป่วยโรคมะเร็งในระยะลุกลาม ซึ่งเป็นโรคที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของประชาชนไทยมากอันดับ 1 ปีละประมาณ 60,000 คน จากการติดตามปัญหาการใช้ยาของผู้ป่วยก่อนการพัฒนาระบบในคลินิกระงับปวด พบว่าผู้ป่วยเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากใช้ยาแก้ปวดกลุ่ม Opioidsเช่นยามอร์ฟีน (Morphine) ยาเพทิดีน (Pethidine) เฟนตานิล (Fentanyl) สูงถึงร้อยละ 52 อาทิ ท้องผูก ง่วงซึม เป็นต้น ซึ่งเป็นอาการไม่พึงประสงค์ที่สามารถป้องกันและแก้ไขได้ตั้งแต่เริ่มการให้ยา และผู้ป่วยอีกร้อยละ 26 กลัวติดยา และไม่ร่วมมือในการใช้ยาหรือมีการใช้ยาที่ไม่ถูกต้อง จึงได้มีการพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยให้มีประสิทธิภาพ โดยเภสัชกรซึ่งมีบทบาทในการดูแลปัญหาด้านยาจึงได้ร่วมกับทีมสหสาขาวิชาชีพ เพื่อติดตามและป้องกันปัญหาการใช้ยาของผู้ป่วย รวมทั้งประเมินประสิทธิภาพในการจัดการระงับความปวดและความพึงพอใจของผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลความปวดอย่างมีประสิทธิภาพทันท่วงทีและมีความปลอดภัยจากการใช้ยา
ภญ.อภิญญากล่าวต่อว่า ในการพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วย เริ่มจากการประชุมสหวิชาชีพ เพื่อพัฒนาความรู้บุคลากรที่ให้บริการ ได้แก่ แพทย์ เภสัชกร พยาบาลประจำหอผู้ป่วย จัดทำข้อมูลการใช้ยาแก้ปวด กลุ่ม Opioidsเพื่อสร้างความเข้าใจการใช้ยาให้แก่ผู้ป่วยที่เข้ามาใช้บริการคลินิกระงับปวด โดยแพทย์และเภสัชกร จะวางแผนติดตามประเมินระดับอาการความปวด ขนาดยา อาการข้างเคียงจากการใช้ยา โดยจะติดตาม อย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาที่เข้ามารักษาตัวในโรงพยาบาลจนกว่าจะสามารถออกจากโรงพยาบาลเมื่อพบปัญหาด้านยาจะมีการจดบันทึกและแจ้งแพทย์ที่ให้การรักษา เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหา อาทิปรับขนาดยา หยุดยา หรือให้ยาป้องกันการเกิดอาการข้างเคียงจากยาเพิ่มเติม และหลังจากออกจากโรงพยาบาลแล้ว จะนัดผู้ป่วยติดตามผลการรักษาเป็นระยะๆ 2 สัปดาห์ถึง 1 เดือน เพื่อประเมินและปรับการใช้ยา
จากการประเมินผลหลังจากได้พัฒนาระบบแล้ว โดยทำการศึกษาวิจัยในกลุ่มผู้ป่วยที่มารับบริการที่คลินิก ตั้งแต่กรกฎาคม 2556 ถึงกุมภาพันธ์ 2557 จำนวน 322 ราย โดยเป็นผู้ป่วยมะเร็งร้อยละ 80 และไม่ใช่ผู้ป่วยมะเร็งร้อยละ 20 พบผู้ป่วยมีอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาแก้ปวดที่มีส่วนผสมของสารเสพติดลดลง เหลือเพียงร้อยละ 6 ไม่ให้ความร่วมมือในการใช้ยาร้อยละ 0.3 ในด้านประสิทธิภาพในการจัดการความปวด พบว่ามีผู้ป่วยจำนวน 273 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 85 ที่มีคะแนนความปวดลดลงมากกว่าร้อยละ 33จากค่าตั้งต้น ซึ่งถือว่าเป็นคะแนนความปวดที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางคลินิก นอกจากนี้ผู้ป่วยและญาติมีความพึงพอใจระดับมากต่อการให้บริการของคลินิกระงับความปวดมากกว่าร้อยละ 80
ภญ.อภิญญากล่าวอีกว่า ผลการพัฒนาระบบบริการคลินิกระงับปวดครั้งนี้ พบว่าช่วยให้ประสิทธิภาพในการจัดการความปวดดีขึ้น และพญ.จตุพร ถ่อนสันเทียะ หัวหน้าทีมคลินิกระงับปวดมีแนวคิดที่จะพัฒนาเครือข่ายคลินิกความปวดให้ครอบคลุมจังหวัดนครราชสีมาต่อไปให้ผู้ป่วยมะเร็งที่ไม่สามารถไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาซึ่งเป็นโรงพยาบาลแม่ข่ายสามารถใช้บริการคลายทุกข์ได้ที่โรงพยาบาลชุมชนใกล้บ้านซึ่งเป็นโรงพยาบาลลูกข่ายต่อไป
- 209 views