สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม เผยแพร่กรอบความเห็นร่วมปฏิรูปประเทศไทยด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ความยาวทั้งสิ้น 47 หน้า โดยเป็นการรวบรวมสภาพปัญหา กรอบความคิดเห็นร่วมของประชาชน รวมถึงงานวิชาการ ก่อนนำมา “ร่อนตะแกรง” จนได้เป็น“พิมพ์เขียว” ฉบับสมบูรณ์

เฉพาะประเด็น “สาธารณสุข” แบ่งออกเป็น 2 เรื่องหลัก ได้แก่ 1.ระบบสาธารณสุข 2.ระบบการคลังสาธารณสุขและหลักประกันสุขภาพ

ในตอนที่ (2) นี้ จะพุ่งเป้าไปยัง “ระบบการคลังสาธารณสุขและหลักประกันสุขภาพ” ซึ่งแยกย่อยออกเป็น 3 หัวข้อ ได้แก่ 1.ขยายความครอบคลุมหลักประกันสุขภาพ 2.ควบคุมค่าใช้จ่ายด้านยา สวัสดิการด้านการรักษาพยาบาล 3.ปรับกลไกการจ่ายเงินเพื่อควบคุมต้นทุน

สำหรับข้อเสนอที่น่าสนใจ อาทิ เร่งทบทวนและปรับปรุงกฎหมาย เพื่อรับผิดชอบความเสียหายจากการให้บริการด้านสุขภาพแก่ประชาชน พร้อมกันนี้ยังต้องคุมเข้ม “สวัสดิการข้าราชการ” โดยเฉพาะการใช้ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ และที่ท้าทายที่สุดคือกำหนดให้ “ข้าราชการรายใหม่” ใช้สิทธิ “บัตรทอง” แต่รัฐจ่ายชดเชยเข้าบัญชีการออมเพื่อสุขภาพ นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอให้มีหน่วยงานกลางในการจัดการ (National Claim Center) การเปิดช่อง “ร่วมจ่าย” ด้วย

เริ่มต้นที่ “การขยายความครอบคลุมหลักประกันสุขภาพ” ให้มีการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ นโยบายการปฏิรูประบบสุขภาพและนโยบายการส่งเสริมสุขภาพ ประชาชนต้องได้รับความคุ้มครองในฐานะผู้บริโภคด้านสุขภาพอย่างเสมอกัน โดยประชาชนจะปลอดภัยจากการใช้บริการด้านสุขภาพ และการใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพ

หากประสบปัญหา จะมีระบบการดูแลที่ดีและรับผิดชอบความเสียหาย สร้างหลักประกันด้านความปลอดภัยในสิ่งแวดล้อม และการทำงานเพื่อลดผลกระทบจากขยะ สารพิษ มลภาวะทางอากาศและน้ำ และความเสี่ยงในการประกอบอาชีพ โดยการเร่งทบทวน และปรับปรุงกลไก นโยบาย กฎหมาย และการจัดการที่มีประสิทธิภาพ ส่งเสริมให้วางวิสัยทัศน์เรื่องการมี บ้าน สถานที่ทำงาน และเมืองน่าอยู่น่าทำงาน ปลอดภัย (Healthy Home, Healthy Workplace and Healthy City)

หัวข้อต่อมาคือ “ควบคุมค่าใช้จ่ายด้านยา สวัสดิการด้านการรักษาพยาบาล” ให้ใช้สวัสดิการรักษาพยาบาลของโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Coverage: UC) และไม่มีบัญชีออมเพื่อสุขภาพ (Medical Saving Accounts : MSAs)  หรือกรณีใช้บริการจากบริษัทประกันสุขภาพของเอกชน ต้องไม่มีบัญชีออมเพื่อสุขภาพ

นอกจากนี้ ให้ข้าราชการใหม่ได้รับสวัสดิการแตกต่างจากข้าราชการเก่า โดยข้าราชการเก่าได้รับสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลเหมือนเดิม โดยมีการควบคุมการใช้ยานอกบัญชียาหลักให้เข้มขึ้น และมีประกันโรคเรื้อรังเพิ่มเติมสำหรับกรณีเจ็บป่วยเรื้อรัง ดังนั้นในระยะยาวค่าใช้จ่ายเพื่อการรักษาพยาบาลน่าจะค่อยๆ ลดลงเมื่อมีการจัดการโรคเรื้อรังดีขึ้น และจำนวนผู้มีสิทธิไม่เพิ่มขึ้น

ส่วนข้าราชการเข้าใหม่ให้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเหมือนประชาชนทั่วไป แต่รัฐชดเชยด้วยการจ่ายเงินเข้าบัญชีออมเพื่อสุขภาพให้แก่ข้าราชการใหม่ โดยจำนวนที่รัฐสมทบเงินเข้าบัญชีออมเพื่อสุขภาพ แต่ค่าบริหารจัดการที่ข้าราชการใหม่จะต้องจ่ายจะสูงกว่าคือเท่ากับร้อยละสาม เนื่องจากจำนวนข้าราชการใหม่มีน้อย ทำให้ไม่เกิดการประหยัดจากจำนวนที่มีน้อยดังกล่าว

หัวข้อสุดท้ายคือ “ปรับกลไกการจ่ายเงินเพื่อควบคุมต้นทุน” มีหลักการจัดบริการเพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ โดยมุ่งเน้นควบคุมที่ตัวเงินงบประมาณภาครัฐ (Supply Side) และกำหนดมาตรการกำกับเรื่องวัสดุยา มีความเสี่ยงต่อคุณภาพบริการ และศรัทธาบริการของประชาชนในโรงพยาบาลภาครัฐ

นอกจากนี้ ให้ใช้หลักเกณฑ์เป้าหมาย และบริการสุขภาพที่พึงประสงค์ขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) เป็นตัวกำหนดการจัดระบบสุขภาพภายใต้การสนับสนุนทางการเงินที่เหมาะสม แต่ไม่ใช้การเงินเพื่อนำ หรือจำกัดระบบสุขภาพ การพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารงบประมาณ และการบริการระบบบริการ (Demand

Side) ก่อน ประสิทธิภาพการบริหารงบประมาณโดยกองทุนต่างๆ ประสิทธิภาพการจัดบริหารจัดการระบบโรงพยาบาล

ปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารงบประมาณ โดยกองทุนต่างๆ

พร้อมกันนี้ ให้ลดความซ้ำซ้อน หลากหลาย ให้สอดคล้องกลมกลืนทั้งสิทธิประโยชน์และอัตราชดเชย รวมถึงลดบทบาทผู้จัดการระบบบริการ โดยให้ความสำคัญเรื่องความครอบคลุมพื้นฐานด้านสุขภาพ (Basic Coverage) เป็นลำดับแรก ร่วมกับการใช้กลไกทางการเงินผลักดันรูปแบบบริการเฉพาะที่หลากหลาย รับประกันการรักษาโรคร้ายแรง โดยให้แบ่งจ่ายบริการพื้นฐาน ปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารจัดการระบบโรงพยาบาล เช่น การพัฒนาระบบบริการแบบเครือข่าย (Network for Regional Healthcare Improvement : NRHI) ได้แก่ ก้อนงบประมาณใหญ่ (Optimal Scale) ที่พอเพียงต่อการจัดบริการทั้งเครือข่าย จัดระบบบริการที่สอดคล้องตั้งแต่ขั้นปฐมภูมิ ถึงตติยภูมิขั้นสูง(การบริการสุขภาพตั้งแต่ระดับพื้นฐานจนถึงระดับที่ต้องการการดูแลรักษาที่ซับซ้อน)

ทั้งนี้ อยู่ภายใต้แนวคิดแห่งการเปลี่ยนแปลงทางสภาพแวดล้อมด้านกายภาพ ชีวภาพ สังคม และเศรษฐกิจซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ (Eco Health & Eco Service) สร้างความมั่นคงทางการเงินการคลัง เพื่อสนับสนุนระบบบริการสุขภาพอย่างยั่งยืน (Financial Stability Universal Coverage Renovation) ให้รัฐสามารถรองรับภาระด้านงบประมาณได้อย่างเหมาะสม บูรณการระบบบริการสาธารณสุขและการบริหารจัดการระบบประกันสุขภาพทุกกองทุน ทั้งสิทธิประโยชน์และกลไกการจ่ายเงิน

ที่สำคัญ ให้มีหน่วยงานกลางในการจัดการ (National Claim Center) การเปิดช่องร่วมจ่าย ทั้งภาครัฐร่วมกับท้องถิ่น ชุมชนและบุคคล เป็นเจ้าของระบบบริการสุขภาพแบบสร้างแรงจูงใจในการดูแลสุขภาพเพื่อลดการใช้บริการเกินจำเป็น โดยกองทุนสุขภาพดีและมีบำนาญสะสมคืน การบริหารการจัดสรรงบกองทุนหลักประกันใหม่ โดยการปรับเกลี่ยเงินเดือนระดับประเทศ และการบริหารจัดสรรเงินให้หมดในปีงบประมาณ

การพัฒนาประสิทธิภาพระบบบริหารการเงินการคลัง ตามเกณฑ์การประเมินการบริหารการเงินการคลังสุขภาพ (Financial Administration Index: FAI) ซึ่งครอบคลุมในเรื่องของ การควบคุมภายใน การจัดทำบัญชี การบริหารการเงิน การบริหารประสิทธิภาพด้วยการวิเคราะห์ต้นทุน (Unit Cost Analysis) ระบบบริการใหม่แบบเครือข่ายบริการเบ็ดเสร็จครบวงจร เขตพื้นที่สุขภาพ พัฒนาคุณภาพในแต่ละระดับ และมีระบบรองรับบริการรอยต่อที่มีคุณภาพ ภายใต้การบริหารจัดวางทรัพยากรสุขภาพที่คุ้มค่า มีประสิทธิภาพ เพิ่มคุณภาพ ลดการแย่งทรัพยากร

การบริหารการเงินโดยเครือข่ายพันธะสัญญาเขตพื้นที่เครือข่ายบริการสุขภาพ เพื่อให้มีวงเงินตามหัวประชากรเพียงพอ และมีการจัดสรร หรือปรับเกลี่ยสอดคล้องตามปัญหา ความต้องการ และภาระงานในพื้นที่

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เปิดพิมพ์เขียวปฏิรูปสุขภาพตอนที่ 1 ‘ลดอำนาจสธ.-รพ.ออกนอกระบบ