สปสช.เขต 10 อุบลราชธานี ถือเป็นเขตสุขภาพในรูปแบบของสำนักงานหลักประกันสุขภาพ(สปสช.)อีกเขตหนึ่งที่สามารถดึงท้องถิ่นเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาสุขภาพของท้องถิ่นได้ตรงความต้องการ โดยยึดหลักประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง ในฐานะผู้อำนวยการ สปสช. เขต10 อุบลราชธานี ซึ่งดูแลพื้นที่ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธร อำนาจเจริญ และ มุกดาหาร นพ.เรืองศิลป์ เถื่อนนาดี กล่าวว่า การที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ได้มีการจัดพื้นที่แขตบริการสุขภาพเป็นเขตเดียวกันนั้น ตนมองว่าเป็นเรื่องที่ดี ทำให้คนทำงานมีความสะดวกยิ่งขึ้น เนื่องจากว่าที่ผ่านมา เมื่อมีการแบ่งเขตที่ไม่เหมือนกันทำให้ผู้ตรวจราชการมีการทำงานที่ไม่สะดวก แต่เมื่อจัดระเบียบใหม่ทำให้มีการทำงานไปในทิศทางเดียวกัน
นพ.เรืองศิลป์ เถื่อนนาดี
นพ.เรืองศิลป์ กล่าวว่า สำหรับการจัดเขตสุขภาพนั้น สปสช.ทำมานานแล้ว เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นจะส่งให้มีการบริหารงานด้านการเงินการบริการจะพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของงบประมาณที่ส่วนหนึ่งได้รับมาจากส่วนกลาง ส่วนงบที่จัดสรรมาถึงเขตนั้น ในเขต 10 จะมีการแบ่งงบที่ได้ตามปัญหาของแต่ละพื้นที่ และมีกองทุนต่างๆเพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนมากถึง 83%
สำหรับการบริหารในพื้นที่เขตบริการสุขภาพนั้นควรมีการแบ่งการทำงานให้ชัดเจน คือ กระทรวงสาธารณสุข ควรดูเรื่องของ คน และงาน ส่วน สปสช.ควรดูเรื่องการบริหารการจัดการ
"อย่างไรก็ตาม ตนเห็นว่า ไม่ควรยุบกองทุนย่อยในเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะกองทุนโรคไต กลุ่มโรคเรื้อรัง หรือโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง ทั้งนี้กองทุนต่างๆ เหล่านี้นอกจากจะได้งบมาจาก สปสช.แล้ว ยังได้องค์กรท้องถิ่นเข้ามาสนับสนุนงบประมาณให้อีกด้วย ทำให้กองทุนต่างๆ ได้ช่วยเหลือประชาชนไม่ให้ล้มละลายจากการรักษาได้" นพ.เรืองศิลป์ กล่าว
ที่ผ่านมา การทำงานของ สปสช.กับท้องถิ่นนั้น คือเรามีกลไกในทำงานร่วมกัน คือในระดับพื้นที่เขต คณะกรรมการมาจากทุกภาคส่วน ซึ่งมีทั้งมาจาก สปสช. ภาคท้องถิ่น ภาคประชาชน และเอ็นจีโอ เข้ามาเป็นบอร์ดในการทำงาน ส่วนอนุกรรมการ จะมาจากท้องถิ่นและประชาชน ในระดับตำบล จะมีกองทุนตำบลโดยมี อสม.เข้ามาดูแล ให้สอดคล้องกับความต้องการหรือปัญหาของประชาชนในแต่พื้นที่ที่มีความต่างกัน เป็นต้น ขณะเดียวกันองค์กรปกครองท้องถิ่นในเขต 10 เองได้ให้ความสำคัญกับการสร้างเสริมสุขภาพกับประชาชนในพื้นที่ ทำให้การทำงานของ สปสช.กับท้องถิ่นดำเนินงานไปได้อย่างต่อเนื่อง และได้รับความร่วมมือจากท้องถิ่นเป็นอย่างดี โดยมีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือ เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน
นพ.เรืองศิลป์ กล่าวว่า อุปสรรคการทำงานที่ผ่านมาพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจในสิทธิประโยชน์ของตนเอง ไม่รู้ว่ากองทุนแต่ละกองทุนมีประโยชน์อย่างไรกับชาวบ้าน ซึ่งจากความไม่รู้ของชาวบ้านเราจึงพบว่า เรามีการประชาสัมพันธ์น้อย การให้ความรู้ยังไม่ตรงจุด
สำหรับแนวทางในการทำงานของ นพ.เรืองศิลป์ คือ ทุกคนคือครูในการทำงานของตน ที่ให้ความรู้ในแบบต่างๆ อาจกล่าวได้ว่า คนทุกคน คือครูของกันและกัน ขณะเดียวการมีเครือข่ายภาคีต่างๆ คือเพื่อนที่ดีในการทำงาน. แต่ท้ายสุดคือการทำงานที่จะประสบความสำเร็จได้จะต้องยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก
- 134 views