กรุงเทพธุรกิจ -สหรัฐ เตือนเชื้อไวรัส"อีโบลา" กำลังเป็นภัยคุกคามโลกครั้งใหญ่ที่สุด นับตั้งแต่การระบาดของโรคเอดส์  ขณะที่อังกฤษและอีกหลายประเทศ ประกาศยกระดับการคัดกรองผู้เดินทางเข้าประเทศ ที่เดินทางจากแอฟริกาตะวันตก

นายโธมัส ฟรีดเด้น ผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (ซีดีซี) ของสหรัฐ กล่าวในการประชุมร่วมกันระหว่างกองทุนการการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ธนาคารโลก และสหประชาชาติ (ยูเอ็น)ที่กรุงวอชิงตัน สหรัฐ วานนี้ (10 ต.ค.) ว่า จำเป็นต้องเร่งยับยั้งการระบาดของอีโบลา เพื่อไม่ให้เกิดการระบาดครั้งใหญ่ของโลก เหมือนโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (เอดส์) อีกครั้ง โดยตลอดระยะเวลา 30 ปี ที่เขาทำงานด้านสาธารณสุข พบการระบาดร้ายแรงลักษณะนี้ ครั้งเดียว คือ โรคเอดส์ และเตือนว่าจะต้องต่อสู้กับการระบาดของไวรัสอีโบลาอีกยาวนาน

นายจิม ยอง คิม ประธานธนาคารโลก เรียกร้องให้นานาชาติเร่งจัดสรรเงินช่วยเหลือประเทศในแอฟริกาตะวันตก เพื่อยับยั้งการระบาดของอีโบลา ที่คร่าชีวิตประชาชนไปแล้วกว่า 3,860 คน

ก่อนหน้านี้ รายงานของธนาคารโลกเตือนว่า อีโบลาอาจส่งผลกระทบต่อทางเศรษฐกิจถึง 32,600 ล้านดอลลาร์ หากยังระบาดทั่วภูมิภาคแอฟริกาตะวันตกจนถึงปีหน้า

นอกจากนี้  ประธานาธิบดีจากสามชาติ ที่มีการระบาดหนักได้แก่ กินี เซียร์ราลีโอน และไลบีเรีย ต่างเรียกร้องขอความช่วยเหลือ ทั้งทางการเงิน ยา อุปกรณ์การแพทย์ บุคลากรการแพทย์ และเตียงคนไข้ จากประเทศต่างๆ

อังกฤษยกระดับคัดกรองผู้โดยสาร

ทางด้านอังกฤษ ได้ประกาศยกระดับการคัดกรองผู้โดยสารขาเข้าจากบรรดาชาติแอฟริกาตะวันตก ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสอีโบลา  โดยเฉพาะไลบีเรีย เซียร์ราลีโอนและกินี ภายในท่าอากาศยานฮีทโธรว์และแกตวิค เช่นเดียวกับ สถานีรถไฟยูโรสตาร์  รวมถึงตรวจสุขภาพของนักเดินทางด้วย

การเคลื่อนไหวของอังกฤษ สอดคล้องกับหลายๆ ประเทศ ที่เพิ่มความตื่นตัวในการรับมือกับความเสี่ยงที่เชื้อไวรัสอีโบลาจะเข้าสู่ประเทศมากขึ้น โดยสหรัฐเพิ่มการคัดกรองผู้โดยสารที่สนามบินหลัก 5 แห่ง หลังมีชาวไลบีเรีย ที่ได้รับการตรวจวินิจฉัยในสหรัฐว่าติดเชื้ออีโบลา เสียชีวิตแล้ว ส่วนผู้ช่วยนายอำเภอที่ไปตรวจบ้านของเขาและมีอาการป่วย ผลตรวจยืนยันแล้วไม่พบเชื้ออีโบลา

ส่วนคณะกรรมาธิการยุโรปประกาศแผนการจัดตั้งระบบในการอพยพบุคลากรชาวต่างชาติที่ออกจากประเทศ ที่เป็นแหล่งระบาด ที่จะทำให้สามารถส่งผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาลในยุโรปได้ภายใน 48 ชั่วโมง โดยมีอุปกรณ์ป้องกันเชื้อพร้อมสรรพ และคณะกรรมาธิการฯจะประชุมวันที่ 17 ต.ค.นี้

เพื่อเพิ่มมาตรการเฝ้าระวังผู้โดยสารจากประเทศที่มีการระบาด เช่นเดียวกับรัสเซีย ที่เปิดตัวเครื่องบินรุ่นใหม่ ออกแบบมาสำหรับลำเลียงผู้ป่วยอีโบลา และเสนอให้ความช่วยเหลือยุโรปในการอพยพผู้ติดเชื้ออีโบลา

สั่งปิดโรงแรมกรุงสโกเปีย

ด้านรัฐบาลมาเซโดเนีย  ได้สั่งปิดโรงแรมแห่งหนึ่งในกรุงสโกเปีย หลังจากชายชาวอังกฤษ มีอาการป่วยคล้ายเป็นโรคอีโบลา เสียชีวิตเมื่อวันพฤหัสบดี (9 ต.ค.) พร้อมทั้งกักตัวชาวอังกฤษอีกหนึ่งคน และพนักงานโรงแรมไว้

เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขของมาเซโดเนีย  กล่าวว่าผู้เสียชีวิตเดินทางจากอังกฤษถึงกรุงสโกเปีย ตั้งแต่วันที่ 2 ต.ค. ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลเมื่อเวลา 20.00 น.ของวันพฤหัสบดี ก่อนจะเสียชีวิตในไม่กี่ชั่วโมงต่อมา ก่อนหน้านั้น เขามีอาการป่วยเป็นไข้ อาเจียน และมีเลือดออกภายในร่างกาย และอาการทรุดลงอย่างรวดเร็ว ขณะนี้ เจ้าหน้าที่ได้ส่งตัวอย่างเลือดของชาวอังกฤษรายนี้ไปตรวจที่เยอรมนีแล้ว เพื่อตรวจว่าเขาเสียชีวิตจากเชื้อไวรัสอีโบลาหรือไม่

ขณะที่ไลบีเรีย ที่มีผู้เสียชีวิตจากการระบาดมากที่สุด ประกาศเลื่อนการเลือกตั้งวุฒิสมาชิกที่กำหนดจัดขึ้นในสัปดาห์หน้าแล้ว เพราะไม่สามารถจัดการเลือกตั้งที่เสรีและเปิดกว้างได้ เนื่องจากยังต้องมีการกักโรคเพื่อยับยั้งการระบาด

พยาบาลสเปนอาการทรุดหนัก

เจ้าหน้าที่ระดับสูงในกรุงมาดริด เปิดเผยว่าเทเรซ่า โรเมโร พยาบาลชาวสเปน วัย 44 ปี และเป็นคนแรกที่ติดเชื้อไวรัสอีโบลา นอกพื้นที่การระบาดในแอฟริกา กำลังมีอาการน่าวิตกและเสี่ยงที่จะเสียชีวิต หลังจากอาการทรุดลงเมื่อวันพฤหัสบดี (9 ต.ค.)

โรเมโร่ ได้ช่วยดูแลมิชชันนารีสูงวัย 2 คน ที่เสียชีวิตหลังจากเดินทางกลับจากประเทศที่มีการแพร่ระบาดของอีโบลาในแอฟริกาตะวันตก ช่วงระหว่างเดือนส.ค.-ก.ย. ที่ผ่านมา  และเมื่อวันจันทร์ (6 ต.ค.) ผลการทดสอบชี้ว่า เธอติดเชื้อไวรัสมรณะ  การติดเชื้อของเธอ ส่งผลให้เกิดความวิตกอย่างรุนแรงว่า โรคร้ายที่มีการแพร่ระบาดอย่างเลวร้ายที่สุดนี้ อาจแพร่จากแอฟริกาตะวันตก ที่เป็นจุดเริ่มต้นการระบาดเมื่อปลายปีที่แล้ว และทำให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 3,900 คน ส่วนใหญ่อยู่ในเซียร์ราลีโอน, ไลบีเรีย

โรเมโร ได้หยุดงานหลังจากมิชชันนารี คนที่สองเสียชีวิตเมื่อวันที่ 25 ก.ย.ที่ผ่านมา  แต่ทางการระบุว่า เธอไม่ได้เดินทางออกไปนอกกรุงมาดริด และเริ่มรู้สึกว่าป่วยเมื่อวันที่ 29 ก.ย.ที่ผ่านมา  แต่ยังไม่ได้เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล จนกระทั่งอีก 7 วันต่อมา  ซึ่งเป็นช่วงที่ทางการเกรงว่า อาจมีคนที่เสี่ยงติดเชื้อจากเธอ

โรเมโร ได้รับการฉีดแอนตี้บอดี้ ที่สกัดจากเลือดของผู้รอดชีวิตจากอีโบลา ด้านน้องชายของเธอได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งว่า โรเมโร่ คิดว่า เธออาจจะติดเชื้ออีโบลาจากการใช้มือที่สวมถุงมือที่ติดเชื้อไปสัมผัสใบหน้า หลังจากทำความสะอาดห้องให้กับหนึ่งในมิชชันนารีที่ติดเชื้อ

เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ระบุว่า กำลังอยู่ระหว่างการสังเกตอาการคนอีกหลายคน ส่วนใหญ่บุคลากรด้านสาธารณสุข ที่มีการติดต่อใกล้ชิดกับโรเมโร่ โดยคนเหล่านี้อยู่ในระยะเฝ้าระวังเป็นเวลา 21 วัน ซึ่งเป็นระยะเวลาสูงสุดในการฟักตัวของเชื้อไวรัสอีโบลา

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 11 ตุลาคม 2557