ตัวแทนกลุ่มเภสัชกร เตรียมหารือ อย. แก้ไขเพิ่มเติม ร่างพ.ร.บ.ยาฉบับใหม่ หลังผ่านกฤษฎีกาแล้วยังมีปัญหา ชี้หากพอใจจะยุติการเคลื่อนไหว แต่หากไม่ลงรอย เตรียมเคลื่อนไปสนช. และล่ารายชื่อทั่วประเทศเพื่อคัดค้าน หวั่นพ.ร.บ.ยาฉบับใหม่ จะทำให้เกิดปัญหายาชุดแพร่ระบาด ปัญหาจากการใช้ยาสเตียรอยด์ ทำให้ประชาชนเกิดความเสี่ยง ไม่ได้รับการคุ้มครองและไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค ยันไม่ได้ทำเพื่อวิชาชีพเภสัชกร แต่ทำเพื่อประชาชน เหตุยาไม่ใช่ขนม จำเป็นคุมเข้ม และดูแลโดยผู้เชี่ยวชาญด้านยา
8 ต.ค.57 สืบเนื่องจากในช่วงเดือนที่ผ่านมา มีกลุ่มเภสัชกรออกมาคัดค้านร่างพ.ร.บ.ยา พ.ศ... เพื่อใช้ทดแทนพ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม เนื่องจากเห็นว่ามีหลายมาตราที่ไม่ถูกต้องตามหลักการสากล อาทิ 1.การอนุญาตให้ทุกวิชาชีพสามารถสั่งจ่ายยาได้นั้นขัดกับหลักการสากลที่ต้องให้ผู้สั่งยา และผู้จ่ายยาเป็นคนละคนกันเพื่อถ่วงดุล 2.เปิดช่องให้ทุกวิชาชีพสามารถทำการผสมยาได้เอง ถือเป็นความเสี่ยงต่อสุขภาพของประชาชนเนื่องจากวิชาชีพอื่นๆ ไม่มีความรู้เรื่องกายภาพและเคมี 3. การเปิดช่องให้มีการเปิดร้านขายยาโดยไม่ต้องขออนุญาต และอีกหลายๆ ประเด็น ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 7 ต.ค. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้หารือร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และมีมติขยายเวลาการยืนยันร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวต่อกฤษฎีกาออกไปอีก 30 วัน เพื่อให้มีการรับฟังความเห็นและแก้ไขประเด็นที่ยังเป็นปัญหาอยู่
ล่าสุด รศ.(พิเศษ) ภก.กิตติ พิทักษ์นิตินันท์ นายกสภาเภสัชกรรม กล่าวว่า เมื่อวานนี้ ได้รับการประสานมาจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ว่าให้รวบรวมความเห็นและรายละเอียดที่ต้องการให้มีการปรับแก้ในร่างพ.ร.บ.ยาฉบับใหม่ พร้อมทั้งส่งตัวแทนเข้ามาร่วมหารือ เบื้องต้นได้ส่งรายละเอียดที่ต้องการแก้ไข และเพิ่มเติมในร่างพ.ร.บ.ยาฉบับใหม่ คือ 1. ขอให้นิยามประเภทของยาให้ชัดเจน 2. การจ่ายยาต้องดำเนินการโดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม และผู้ประกอบวิชาชีพด้านเภสัชกรรมแผนไทย ส่วนวิชาชีพอื่นๆ หากจำเป็นต้องจ่ายยาขอให้ไปเขียนไว้ในหมวดยกเว้นมาตรา 24 แทน
3. กรณีการผสมยาถือเป็นการผลิตยาใหม่ต้องมีการควบคุมเข้มข้นโดยจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ การผสมยาเพื่อผู้ป่วยให้วิชาชีพอื่น เช่นแพทย์สามารถทำได้ในระหว่างการทำหัตถการให้ผู้ป่วย และเป็นกรณีเร่งด่วน แต่ไม่ควรอนุญาตให้วิชาชีพอื่นๆ ผสมยาเพื่อเตรียมจ่ายให้กับผู้ป่วย ส่วนกรณีการผลิตยาในระบบอุตสาหกรรมควรกำหนดให้ผู้ที่มีความรู้ทางด้านยาเป็นผู้ควบคุมการผลิต ซึ่งพ.ร.บ.ยาเดิมก็ระบุเอาไว้ชัดเจนว่าเป็นความรับผิดชอบของเภสัชกรควบคุม 4. การเปิดร้านขายยาต้องมีการควบคุมดูแล และขออนุญาตอย่างเข้มงวด 5. ขอให้คงข้อความเรื่องการห้ามโฆษณายาอันตรายตาม พ.ร.บ.ยา 2510 6. ขอให้เพิ่มเติมข้อห้ามการขายยาชุด ยาแบ่งขาย ซึ่งถือว่าเป็นอันตรายกับผู้บริโภคมากเพราะนอกจากยาแต่ละประเภทมีลักษณะการเก็บรักษาที่แตกต่างกันแล้ว ขณะนี้ยาชุดถือว่าเป็นปัญหาของประเทศไทยมาเพราะพบการผสมสเตียรอยด์เข้าไปด้วย
“แม้จะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบอกว่าจะออกหลักเกณฑ์ตามมา แต่ส่วนตัวผมแล้วเห็นว่าควรเขียนให้ชัดเจนเอาไว้ก่อน หากปล่อยให้โฆษณาได้คนทั่วไปได้เห็นโฆษณาทุกวันแล้วอาจจะคิดได้ว่าไม่มีอันตราย” นายกสภาเภสัชกรรม กล่าว
ด้าน ภญ.โพยม วงศ์ภูวรักษ์ อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า ในวันที่ 9 ต.ค.นี้ ตนพร้อมด้วยแกนนำเภสัชกรภาคใต้ประมาณ 4 คน จะเดินทางไปหารือร่วมกับเลขาธิการ อย. ว่าจะมีการปรับแก้อย่างไร ทั้งนี้หากหารือและหาทางออกในประเด็นที่เป็นผลกระทบเรื่องการใช้ยาของประชาชนได้ก็จะยอมรับได้ แต่หากแก้ไขไม่ได้ทางเครือข่ายเภสัชกรก็จะเคลื่อนไหวเพื่อให้มีการแก้ไขต่อไป ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมรายชื่อผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.ยาฉบับใหม่นี้ทั้งในส่วนของประชาชน และเภสัชกรทั่วประเทศ จากนั้นจะเคลื่อนไปยังสนช.ต่อ โดยรูปแบบของการขับเคลื่อนอาจจะต้องหารือกันอีกครั้งหนึ่ง
ทั้งนี้ข้อเรียกร้องที่ต้องการการแก้ไขหลักๆ คือเรื่องของผู้ที่สามารถจ่ายยาได้นั้นควรเป็นผู้ที่มีความรู้เรื่องยา ส่วนการจะให้วิชาชีพอื่นๆ จ่ายได้อย่างไรนั้นให้ไปกำหนดในกฎหมายลูกแทน ต้องกำหนดให้ชัดเจนไม่อย่างนั้นจะเกิดปัญหา เพราะทุกคนสามารถจ่ายยาได้ แม้แต่แพทย์แผนไทยก็สามารถจ่ายยาแผนปัจจุบันได้ อย่างนี้ไม่ถูก เช่นเดียวกับการผสมยาซึ่งตามพ.ร.บ.เก่าที่เคยใช้มานั้นไม่อนุญาตให้นำยาที่วางขายตามท้องตลาดมาผสมใหม่เด็ดขาด เพราะว่ายาที่ผลิตออกมาจากโรงงานกว่าจะได้ยาออกมาต้องผ่านการศึกษาวิจัยมาอย่างดีว่าส่วนผสมต้องมีอะไรบ้าง แม้แต่ภาชนะที่ใช้บรรจุก็ต้องศึกษาว่าจะใช้ชนิดใด เพราะมีผลต่อคุณสมบัติของยาทั้งสิ้น แต่พ.ร.บ.ฉบับใหม่กลับอนุญาตให้ผสมยาที่ขึ้นทะเบียนแล้ว โดยทุกวิชาชีพสามารถใส่ยาอะไรก็ได้ที่มีในท้องตลาด ซึ่งเราไม่รู้เลยว่าเขาใส่ยาอะไรเข้าไปบ้าง
“เรากังวลว่าถ้าเขียนแบบนี้จึงเป็นเรื่องที่น่ากลัว และยังเป็นเรื่องที่ผิดหลักการสากล เพราะการผลิตยาสากลต้องมีความปลอดภัย โรงงานผลิตต้องควบคุมการปนเปื้อน ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานการผลิตยาที่ดี แต่พอออกมาสู่ท้องตลาดกฎหมายกลับอนุญาตให้ผสมยาอย่างไรก็ได้ เราไม่รู้ว่าเขาใส่อะไรเข้าไป เราไม่มีทางรู้เลย ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ และเรื่องการโฆษณายาก็เช่นกัน พ.ร.บ.เดิมจะกำหนดชัดว่ายาอันตรายที่ต้องควบคุมพิเศษห้ามโฆษณา แต่ตัวใหม่นี้ไม่ได้กำหนดห้ามเอาไว้ อาจจะทำให้เข้าใจได้ว่ายาทุกชนิดสามารถทำโฆษณาได้ ตรงนี้หลุดหรือเขียนไว้ตรงไหนเรายังหาไม่เจอ กังวลว่าต่อไปจะทำให้ยาชุดแพร่ระบาด ดังนั้นขอให้พบทวน” ภญ.โพยม กล่าว และว่า ยืนยันว่าที่ทำไปทั้งหมด ไม่ได้ทำเพื่อเภสัชกร แต่ทำเพื่อความปลอดภัยของประชาชน เพราะเภสัชกรรู้เรื่องยาดี รู้ว่าจะเกิดผลกระทบอย่างไร เรื่องยาไม่ใช่ขนม ดังนั้นจึงต้องมีการควบคุมอย่างเข้มงวด.
- 11 views