คณะกรรมการประกวดมาตรฐานด้านความปลอดภัยทางเภสัชกรรมเตรียมคัดเลือกโรงพยาบาลที่มีผลการประเมินความปลอดภัยด้านยาดีเด่นในระดับประเทศสัปดาห์นี้ พร้อมเตรียมมอบโล่รางวัลทั้งระดับจังหวัด ระดับเขต ระดับภาคและระดับประเทศ 1 พ.ย. 2562 หวังช่วยกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาความปลอดภัยด้านยาในโรงพยาบาลมากขึ้น
ภก.รศ.(พิเศษ) กิตติ พิทักษ์นิตินันท์ ประธานกรรมการตรวจประเมินมาตรฐานความปลอดภัยด้านยาในโรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุข ระดับประเทศ เปิดเผยว่า ในการประชุมวิชาการและนำเสนอผลงานในหัวข้อ "เภสัชกรรมในอนาคต" ณ โรงแรมเซ็นทารา แจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 31 ต.ค. - 1 พ.ย. 2562 นี้ จะมีพิธีมอบโล่รางวัลและเกียรติบัตรแก่โรงพยาบาลที่มีผลการประเมินความปลอดภัยด้านยาดีเด่นทั้งในระดับจังหวัด ระดับเขต ระดับภาค และระดับประเทศ เพื่อเป็นกำลังใจแก่โรงพยาบาลที่ดำเนินงานในเรื่องนี้ได้ดี รวมทั้งกระตุ้นให้โรงพยาบาลตระหนักในเรื่องการสร้างความปลอดภัยด้านยาแก่ผู้ป่วย
ภก.รศ.(พิเศษ) กิตติ กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้รณรงค์เรื่อง Patient Safety ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขก็ได้นำเรื่องนี้มาขับเคลื่อนเมื่อ 5 ปีก่อน ในส่วนของยาก็ได้มีการขับเคลื่อนเรื่อง Drug Safety หรือความปลอดภัยด้านยาแก่ผู้ป่วย โดยมีการจัดทำเกณฑ์มาตรฐานเพื่อประเมินว่าแต่ละโรงพยาบาลมีสมรรถนะที่จะทำให้เกิดความปลอดภัยของผู้ป่วยมากน้อยเพียงใด โดยแบ่งเป็น 5 ระดับ โดยระดับที่ 3 จะเป็นระดับที่ได้มาตรฐาน ส่วนระดับที่ 4 จะทำได้มากกว่ามาตรฐานในหลายประเด็น และระดับที่ 5 จะเป็นตัวอย่างที่ดีเรื่องยา เช่น ไม่เคยพบความคลาดเคลื่อนในการจ่ายยาที่มีความเสี่ยงสูงใน 2 ปีที่ผ่านมา ไม่มีการร้องเรียนด้านยาใน 2 ปี เป็นต้น ส่วนระดับที่ 1 และ 2 อยู่ในกลุ่มที่มีสมรรถนะต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน
ภก.รศ.(พิเศษ) กิตติ กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้มีการส่งเสริมให้โรงพยาบาลดำเนินการปรับปรุงพัฒนาความปลอดภัยด้านยาอย่างต่อเนื่อง และในปีนี้ได้จัดการประกวดมาตรฐานด้านความปลอดภัยทางเภสัชกรรมขึ้นเป็นปีแรก โดยมีเกณฑ์ 13 เกณฑ์ เช่น ระบบจ่ายยาผู้ป่วยนอก ทางเภสัชกรผู้จ่ายยาเข้าถึงข้อมูลการวินิจฉัยผู้ป่วยหรือไม่ พบอุบัติการณ์เกี่ยวกับการจ่ายยาแล้วเกิดปัญหาที่ทำให้นอนโรงพยาบาลนานขึ้นหรือทำให้ผู้ป่วยมีอาการแย่ลงหรือไม่ มีการติดตามอาการไม่พึงประสงค์และป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้หรือไม่ การประเมินการสั่งใช้ยาถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ ฯลฯ ซึ่งการคัดเลือกจะมีคณะกรรมการลงไปประเมินโรงพยาบาลว่าได้ค่าเฉลี่ยเท่าใด จากนั้นก็จะประเมินโรงพยาบาลที่มีความปลอดภัยด้านยาที่เด่นที่สุดในระดับจังหวัด จังหวัดละ 1 แห่ง เมื่อได้ระดับจังหวัดแล้วก็จะนำมาประเมินในระดับเขตอีกเขตละ 1 แห่ง แล้วนำโรงพยาบาลที่ผ่านการประเมินระดับเขตมาประเมินในระดับภาค ภาคละ 1 แห่ง แล้วจึงเข้าสู่การประเมินในระดับประเทศ
ทั้งนี้ คณะกรรมการได้ประเมินโรงพยาบาลที่มีผลการประเมินความปลอดภัยด้านยาดีเด่นในระดับจังหวัด ระดับเขต ระดับภาคเสร็จแล้ว ส่วนระดับประเทศคาดว่าจะประเมินแล้วเสร็จภายในสัปดาห์นี้ และจะมีการมอบโล่รางวัลพร้อมเกียรติบัตรจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในวันที่ 1 พ.ย. 2562 ต่อไป
"วัตถุประสงค์การมอบรางวัลก็เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าโรงพยาบาลตระหนักในเรื่องการสร้างความปลอดภัยด้านยาแก่ผู้ป่วย ซึ่งพอมีเกณฑ์และมีผลประเมินที่ชัดเจน ทุกโรงพยาบาลก็จะรู้ตัวว่าจุดไหนที่ผ่าน จุดไหนไม่ผ่าน ตรงไหนดีไม่ดี จะได้ใช้เป็นเกณฑ์พัฒนาตัวเองต่อไป อีกประการคือสร้างขวัญกำลังใจว่าโรงพยาบาลไหนทำได้ดีเราก็ชื่นชมเขา ซึ่งโรงพยาบาลที่ทำได้ดีก็มีทั้งโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลอำเภอบางแห่ง"ภก.รศ.(พิเศษ) กิตติ กล่าว
ภก.รศ.(พิเศษ) กิตติ กล่าวทิ้งท้ายว่า การจัดประกวดในลักษณะนี้ ถ้าผลประเมินโรงพยาบาลออกมาดี ก็เท่ากับประชาชนมีหลักประกันเรื่องยา สามารถรับบริการแล้วไม่เกิดปัญหาจากการใช้ยา ผู้ป่วยปลอดภัย การรักษาได้ผลดี
ทั้งนี้ผลการประเมินเบื้องต้น ดังนี้
1.ระดับเขต ทั้ง 12 เขต ได้แก่
เขต 1 รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ จ.เชียงราย
เขต2 รพ.ศรีสังวรสุโขทัย จ. สุโขทัย
เขต 3 รพ.ขาณุวรลักษบุรี จ.กำแพงเพชร
เขต 4 รพ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี
เขต 5 รพ.สมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร
เขต 6 รพ.ชลบุรี จ.ชลบุรี
เขต 7 รพ จตุรพักตรพิมาน จ.ร้อยเอ็ด
เขต 8 รพร.ท่าบ่อ จ.หนองคาย
เขต 9 รพ.สุรินทร์ จ.สุรินทร์
เขต 10 รพ วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี
เขต 11 รพ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช
เขต 12 รพ.รามัญ จ.ยะลา
2.ระดับภาค ได้แก่
ภาคเหนือ รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ จังหวัดเชียงราย
ภาคอีสาน รพ.สุรินทร์
ภาคกลาง รพ.ชลบุรี
และ ภาคใต้ รพ.รามัน จังหวัดยะลา
- 125 views