คณะแพทย์ศิริราชฯ โชว์ศักยภาพคินค้นแอนติบอดีรักษาโรคไข้เลือดออกอีโบลาครั้งแรกในไทยและของโลก เป็นผลสำเร็จระดับห้องทดลอง-ยื่นจดสิทธิบัตรแล้ว พร้อมพัฒนาต่อสู่การทดลองในสัตว์
2 ต.ค.57 นพ.อุดม คชินทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล เปิดเผยว่า ปัจจุบันการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา ในแอฟฟริกาตะวันตกค่อนข้างรุนแรงจนองค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้เป็นภาวะฉุกเฉินทางด้านสาธารณสุขของโลก โดยสถานการณ์ล่าสุดเมื่อวันที่ 26ก.ย. ที่ผ่านมามีผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสอีโบลา 6,574คน เสียชีวิต 3,091คน เสียชีวิตมากที่สุดในประเทศไลบีเรียจำนวน 1,830คน อย่างไรก็ตามโรคนี้ระบาดมาหลายรอบแล้วแต่ครั้งนี้ถือว่ารุนแรงที่สุด แต่ทางคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาลได้ทำการศึกษาเรื่องนี้มานานแล้วจนสามารถผลิตแอนติบอดี้ขนาดเล็กที่สามารถรักษาไข้เลือดออกอีโบลาได้เป็นครั้งแรกของประเทศ และของโลก
"แอนติบอดี้ที่ผลิตได้นั้นแตกต่างจากของประเทศสหรัฐอเมริกาที่ทดลองอยู่ โดยในส่วนของรพ.ศิริราช ผลิตได้นั้นมีขนาดเล็กกว่าถึง 5เท่า โครงสร้างแตกต่างกัน กลไกแตกต่างกัน และเรามีประสิทธิภาพมากกว่าชัดเจน ซึ่งต่อจากนี้จะพัฒนาต่อในลิง และคนต่อไป" ศ.คลินิก นพ.อุดม กล่าวว่า แอนติบอดี้ที่ค้นพบไม่เชิงเป็นยารักษา แต่มีความคล้ายคลึงกับเซรุ่มเพื่อการรักษา เรียกว่าเทอราปีแอนติบอดี้ ต่อจากนี้จะต้องดำเนินการแจ้งต่อองค์การอนามัยโลกเพื่อทราบ และทำการทดลองต่อตามมาตรฐานของรพ.ศิริราช แต่ก็ยินดีให้ความร่วมมือในการพัฒนาต่อยอด
ศ.เกียรติคุณ ดร.วันเพ็ญ ชัยคำพา หัวหน้าทีมผู้ผลิตแอนติบอดี้รักษาโรคไข้เลือดออกอีโบลา กล่าวว่า แอนติบอดี้ คือ โปรตีนที่สร้างจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ด้วยเม็ดเลือดขาวลิมโฟซัยท์บี ใช้เวลาประมาณ 7-10วัน ซึ่งไม่ทันต่อการป้องกันเชื้อโรคร้ายแรง เช่นพิษงู และเชื้อไวรัสอีโบลา ดังนั้นรพ.ศิริราชจึงได้ทดลองสร้างแอนติบอดี้พร้อมใช้เพื่อฉีดเข้าสู่ร่างกายของผู้ป่วย โดยข้อดีของแอนติบอดี้ที่ผลิตได้ครั้งนี้คือมีขนาดเล็กกว่าแอนติบอดี้ปกติถึง 5เท่า ในการทดลองทางห้องปฏิบัติการซ้ำ ๆ พบว่าสามารถแทรกเข้าเนื้อเยื่อได้ดีเข้าถึงเซลล์เพื่อบล็อกไม่ให้ไวรัสที่เข้าสู่เซลล์สามารถแบ่งตัวจนก่อโรครุนแรงได้ ที่สำคัญคือมีความจำเพราะต่อโปรตีนสำคัญต่าง ๆ ของเชื้อไวรัสอีโบลา และปลอดภัย ไม่มีผลข้างเคียงเนื่องจากเป็นแอนติบอดี้ที่ผลิตจากยีนส์ของมนุษย์
"การทดลองครั้งนี้เป็นการผลิตโปรตีนของไวรัสอีโบลาที่ได้จากยีนส์สังเคราะห์ของไวรัส ไม่ได้มีการนำเข้าเชื้อไวรัสอีโบลาเข้ามาในประเทศ เพราะต้องควบคุมระบบความปลอดภัย แต่คาดว่าจะส่งตัวแอนติบอดี้นี้ไปทดลองกับตัวเชื้อไวรัสอีโบลาในต่างประเทศ " ศ.เกียรติคุณ ดร.วันเพ็ญ กล่าวว่า ขณะนี้ได้มีการจดสิทธิบัตรเอาไว้เรียบร้อยแล้ว และคาดว่าประมาณ 3 สัปดาห์จะมีการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการของต่างประเทศ
- 37 views