เครือข่ายเภสัชฯ ยื่นหนังสือพร้อมรายชื่อกว่า 1 หมื่นรายชื่อต่อ “หมอรัชตะ” ทักท้วงร่าง พ.ร.บ. ยาฉบับใหม่ วอนชะลอการนำเข้าสู่การพิจารณา สนช. ชี้ชัดรายละเอียดอันตรายต่อประชาชน ทั้งแบ่งประเภทยาผิดหลักสากล เปิดช่องผสมยามั่ว บรรจุยาเสี่ยงไม่มีคุณภาพ ควรกลั่นกรองก่อน เสนอเข้าสู่การพิจารณาในรัฐบาลใหม่
29 ก.ย.57 เว็บไซต์เดลินิวส์รายงานว่า เครือข่ายวิชาชีพเภสัชกรรม 19 หน่วยงาน คณะเภสัชศาสตร์ 19 มหาวิทยาลัย พร้อมด้วยภาคีเครือข่าย นำโดย รศ.ดร.ภก.วงศ์วิวัฒน์ ทัศนียกุล ประธานศูนย์ประสานงานการศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย (ศ.ศ.ภ.ท.) ได้ทำการรวบรวมรายชื่อเพื่อคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับใหม่ 10,000 รายชื่อ มายื่นต่อ นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธารณสุข (รมว.สธ.)
โดย ภก.วงศ์วิวัฒน์ กล่าวว่า ตามที่ สธ.ได้เสนอร่างพ.ร.บ.ยา พ.ศ....เพื่อใช้ทดแทนพ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510และฉบับแก้ไขเพิ่มเติมนั้น ทางเครือข่ายวิชาชีพเภสัชกรรมมีเห็นว่าร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวมีบางประเด็นไม่เป็นไปตามหลักสากล ไม่สามารถคุ้มครองผู้บริโภคได้และมีผลต่อความไม่ปลอดภัยในการใช้ยาของประชาชน จึงมีความเห็นแย้งในประเด็นดังนี้ 1.การอนุญาตให้ทุกวิชาชีพสามารถสั่งจ่ายยาได้นั้นขัดกับหลักการสากลที่ต้องให้ผู้สั่งยา และผู้จ่ายยาเป็นคนละคนกันเพื่อถ่วงดุล ดังนั้นจึงขอเสนอให้ตามหลักสากลคือยาที่ต้องใช้ใบสั่งยา ยาที่เภสัชกรเป็นผู้สั่งจ่าย และยาที่ประชาชนเลือกใช้ได้เอง 2.เปิดช่องให้ทุกวิชาชีพสามารถทำการผสมยาได้เอง ถือเป็นความเสี่ยงต่อสุขภาพของประชาชนเนื่องจากวิชาชีพอื่นๆ ไม่มีความรู้เรื่องกายภาพ และเคมี เพราะเรียนเพียง 3-4 หน่วยกิตเท่านั้น ในขณะที่เภสัชกรต้องใช้เวลาเรียนนานกว่า 6 ปี เพราะฉะนั้นจึงเสี่ยงทำให้ประชาชนได้รับยาอย่างไม่เหมาะสม
ภก.วงศ์วิวัฒน์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตามขณะนี้ทราบว่าร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวผ่านการพิจารณาในชั้นกฤษฎีกาและส่งเรื่องออกมาแล้ว แต่ยังไม่ทราบว่าตอนนี้ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวไปอยู่ที่ไหนระหว่าง สธ. กับ ครม. ดังนั้นขอให้รัฐบาลชะลอการพิจารณาพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวออกไปก่อน และนำกลับมาทบทวนเพื่อให้สามารถคุ้มครองสุขภาพประชาชนได้อย่างแท้จริงก่อนนำเข้าพิจารณาอีกครั้งหลังจากที่มีมีสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา จะทำให้เกิดการรอบคอบและรัดกุมในการออกกฎหมายมากกว่า เพราะมี 2 สภาร่วมกันพิจารณา
รศ.ภญ.จุไรรัตน์ นันทานิช อุปนายกเภสัชกรรมและคณบดีคณะเภสัชศาสตร์ ม.ศิลปากร กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ. ยาฉบับใหม่ที่มีการแบ่งประเภทยาใหม่ ทำให้ร่างกฎหมายไม่ครอบคลุมการควบคุมการโฆษณายา โดยเฉพาะอย่างยิ่งยาควบคุมพิเศษและยาอันตราย ขณะที่ พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 มีการควบคุมการโฆษณาค่อนข้างครอบคลุม
นพ.รัชตะ กล่าวว่า ยังไม่สามารถบอกอะไรได้ คงต้องรับฟังความเห็นจากฝั่งของเภสัชกรก่อนว่าเป็นอย่างไร จากนั้นจึงนำมาพิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
- 3 views