โพสต์ทูเดย์ -พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้ทาบทามให้ นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ เข้ารับตำแหน่งรมช.สาธารณสุข โดยต้องการให้เข้ามาช่วยวางรากฐานระบบสุขภาพในระยะยาว ซึ่งเจ้าตัวใช้เวลาคิดไม่นานนักก็ตอบตกลง

นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์

"ผมทำงานวิชาการให้กับกระทรวงมาตั้งแต่สมัยอยู่สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ทุกครั้งที่เราศึกษาก็ต้องตั้งคำถามกับตัวเองว่า ข้อเสนออะไรบ้างที่ปฏิบัติได้และควรเอาไปปฏิบัติ ผมเชื่ออย่างหนึ่งคือการทำเรื่องระบบต้องชักชวนทุกคนที่เกี่ยวข้องให้เห็นพ้องกัน ไม่ใช่สั่งอย่างเดียวแล้วจะได้ผล

"ผมเองก็ได้ฝึกฝนวิชานี้มาพอสมควร พอเป็นวงนอกก็ต้องชวนคนที่มีอำนาจให้เห็นคล้อยกับเรา ตอนนี้เรามีอำนาจเองก็ต้องชวนให้คนอื่นมาเห็นคล้อยกับเราก็ไม่ยาก แต่จะจริงหรือเปล่าก็ไม่รู้นะ (หัวเราะ)" คุณหมอสมศักดิ์ เล่าที่มา

คุณหมอสมศักดิ์ มองว่า การเป็นรัฐมนตรีซึ่งถูกเรียกว่าเป็น "นักการเมือง" แม้จะไม่ได้ผ่านการเลือกตั้ง แต่ก็ถือว่ามีข้อดีตรงที่ไม่ต้องห่วงเรื่องคะแนนเสียงในเที่ยวหน้า อีกทั้งอาจจะชวนผู้คนมาทำเรื่องดีๆ ง่ายขึ้น เพราะไม่มีเรื่องคะแนนเสียง

ในฐานะที่ในเป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่ร่วมทำนโยบายและแผนมานานกว่า 30 ปี คุณหมอสมศักดิ์จึงตีโจทย์ภารกิจกระทรวงสาธารณสุขออกเป็นข้อๆ ดังนี้

1.ต้องชี้ทิศเป็น ทำงานเชิงนโยบายภาพใหญ่ได้ 2.คนในกระทรวงต้องไม่เยอะขนาดนี้ และ 3.อาจต้องปรับบทบาทการให้บริการโดยตรงเป็นการกระจายอำนาจให้คนอื่นร่วมกันทำ แต่โจทย์ที่น่าจะยากที่สุดอยู่ที่ข้อ 4 นั่นคือประเทศไทยควรมีระบบประกันสุขภาพสำหรับรองรับคนไทยอย่างไร

นพ.สมศักดิ์ ตั้งเป้าว่า จะปรับปรุงระบบสุขภาพของประเทศที่ลักลั่น ทั้งหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ โดยการสร้างกติกาให้เกิดความเป็นธรรม ให้คำมั่นด้วยว่า นโยบายด้านสาธารณสุขในรัฐบาลชุดนี้จะประสาน 3 กองทุนสุขภาพให้มีความ "เป็นหนึ่งเดียว"ซึ่งจุดเริ่มต้นง่ายที่สุดก็คือ การประสาน 3 กองทุน ให้มีความเป็นเอกภาพ สร้างกติกากลางเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มประสิทธิภาพ

ขณะที่โรคร้ายแรงจะขยายให้รวมการบริหารจัดการ 3 กองทุน ให้มากกว่าที่เป็นอยู่ แม้ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากรูปแบบการบริหารแต่ละกองทุนมีความแตกต่างกัน

รัฐมนตรีสมศักดิ์ บอกอีกว่า ในระยะเวลา 1 ปีนับจากนี้นโยบายเร่งด่วนที่จะเห็นผลชัดเจนคือ จะต้องมีระบบดูแลสุขภาพแบบปฐมภูมิที่เข้มแข็งจริงจังโดยจะสร้าง "ทีมสุขภาพประจำครอบครัว"ให้ทุกครอบครัวสามารถปรึกษาเรื่องสุขภาพได้ทันทีและมีการดูแลอย่างใกล้ชิด

"ที่ผ่านมาอาจจะมีทีมเหล่านี้อยู่ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (รพ.สต.) แต่ชาวบ้านไม่เคยรู้ว่าทีมนี้คือใคร หรือแบ่งพื้นที่กันอย่างไร แต่หลังจากนี้จะมีทีมเจ้าหน้าที่เข้าไปดูแลโดยตรง

"ในทีมนี้อาจจะมีหมอ เจ้าหน้าที่โรงพยาบาล และใน รพ.สต.รวมอยู่ด้วย หลังจากนี้ชาวบ้านจะมีที่พึ่งมากขึ้น เช่น เวลาเจ็บป่วยนอกจากไปหาหมอแล้วยังสามารถโทรศัพท์ปรึกษาทีมนี้ได้”

"หากต้องเดินทางไปหาหมอ หรือถ้าต้องส่งต่อ ทีมนี้ก็จะช่วยบริหารจัดการ มีใบส่งตัวให้ รวมถึงติดต่อหมอให้ ไม่ต้องไปหาหมอเอง ส่วนการป้องกันส่งเสริมสุขภาพ ทีมนี้ก็ช่วยทำ รวมถึงยังสามารถดูแลผู้สูงอายุอย่างเป็นระบบมากขึ้น รองรับสังคมผู้สูงอายุได้ด้วย" นพ.สมศักดิ์ ระบุ

นโยบายเร่งด่วนอีกข้อที่น่าจะเห็นผลใน 1 ปีข้างหน้า นั่นคือการบริการการแพทย์ฉุกเฉินทั้งระบบเพิ่มเติมจากที่รัฐบาลชุดที่แล้วได้ทำเรื่องเจ็บป่วยฉุกเฉิน3 กองทุน รักษาได้ทุกสิทธิ แต่ยังมีปัญหาอยู่บ้าง

"เช่น โรงพยาบาลไม่รับคนไข้ หรือมีบางส่วนวิจารณ์เรื่องต้นทุน และการขาดทุน โดยกระทรวงจะช่วยจัดระบบส่งต่อตั้งแต่จากหน่วยบริการปฐมภูมิไปยังโรงพยาบาลที่ใหญ่ขึ้นให้มีความชัดเจน ซึ่งทีมสุขภาพประจำครอบครัวก็จะช่วยเสริมระบบฉุกเฉินให้สมบูรณ์ขึ้น"

ขณะเดียวกัน เรื่อง "เขตสุขภาพ" จะช่วยจัดการปัญหาการปรับตัวให้ยืดหยุ่น โดยมีหลายหน่วยย่อยๆ ช่วยดูแลสุขภาพประชาชน ตั้งแต่ระดับฐานรากไปจนถึงระดับใหญ่ รวมถึงจัดการแชร์ทรัพยากรในเขตสุขภาพ และประสานความร่วมมือกับโรงพยาบาลเอกชน

ความเห็นต่างเป็นข้อดี

จากเลขาธิการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ(มสช.) ซึ่งผันตัวมารับตำแหน่งรัฐมนตรี นับว่าเหนือความคาดหมายพอสมควร ไม่เฉพาะการพลิกบทบาทจากนักวิชาการสู่สนามการเมืองเท่านั้น แต่เขายังเป็นหนึ่งในกลุ่ม "2 เอา 2 ไม่เอา" "ไม่เอารัฐประหาร-ไม่เอาสงครามกลางเมือง" ในช่วงการเมืองร้อนแรง

ขณะเดียวกัน ตัวเขาและ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธารณสุข ยังถูกตั้งคำถามว่าเป็น "นอมินี" ของชมรมแพทย์ชนบท หรือแม้กระทั่งองค์กรอิสระสังกัดกระทรวงหมอหรือไม่ ซึ่งนพ.สมศักดิ์ ตอบทันทีว่า ตัวเขาเองมีชื่อห้อยท้ายหลายชื่อ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาที่คนคนหนึ่งจะมีความคิดความเชื่อบางอย่างตรงกับแนวทางของบางกลุ่ม แต่ไม่จำเป็นที่จะต้องอยู่ในกรอบความคิดนั้น หรือทำงานรับใช้กลุ่มเหล่านั้นตลอดไป

"ไม่ใช่ว่าคนนี้เป็นพวกนี้ แล้วจะคิดแบบนี้ทั้งหมด แม้แต่ในกลุ่ม 'แพทย์ชนบท' บางคนก็เคลื่อนไหวเฉพาะประเด็น บางประเด็นที่เห็นไม่ตรงเขาก็ไม่เอา มันเป็นเรื่องเฉพาะของแต่ละคนที่จะมีความคิดอย่างไรมากกว่า ผมเองอยู่ในกระทรวงมานาน มีเพื่อนอยู่ทุกกลุ่ม ก็ยังคุยกันได้ปกติ ไม่มีใครคิดว่าคนโน้นคนนี้เป็นกลุ่มไหน"

คุณหมอสมศักดิ์ ขยายความว่า หลังเข้ารับตำแหน่งมา 1 เดือน ทั้งรัฐมนตรีว่าการและตัวเขาเองได้พบกับคู่ขัดแย้งหลักทั้งสองกลุ่มคือ ทั้งชมรมแพทย์ชนบทและประชาคมสาธารณสุข ซึ่งถือเป็นไม้เบื่อไม้เมากันตลอดปีที่ผ่านมา

"แต่ทั้งสองกลุ่มยังคงมีจุดร่วมกันอยู่คือ ต้องการให้เกิดระบบบริการปฐมภูมิ ระบบส่งต่อ ระบบประกันสุขภาพ รวมถึงระบบการเงินการคลังที่ดีแต่อยู่บนพื้นฐานข้อมูลที่ต่างกัน อย่างไรก็ตามยังอยู่ในจุดที่คุยกันและทำงานร่วมกันได้"

อีกชื่อที่ห้อยท้ายติดตัวหมอสมศักดิ์ นั่นคือการเป็นสมาชิกกลุ่ม 2 เอา 2 ไม่เอา เจ้าตัวอธิบายว่า อาจเป็นข้อดีที่จะทำให้เขาได้รับฟังความเห็นจากคนที่เห็นต่างกับรัฐบาลนี้ รวมถึงชวนทุกฝ่ายเข้ามาร่วมทำงานได้

"ท่านนายกฯ ยังไม่เคยคุยกับผมเรื่องนี้ ผมก็ไม่รู้ว่าท่านคิดอย่างไร แต่วันก่อนผมเจอคุณสมบัติ (สมบัติ บุญงามอนงค์ แกนนำกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง) เราก็ยังคุยกันแบบปกติ คุณสมบัติก็ไม่ได้พูดอะไรเรื่องที่ผมไปเป็นรัฐมนตรี

"นอกจากผมจะอยู่ในกลุ่ม 2 เอา 2 ไม่เอาแล้วตอนที่เขาทำเครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป ผมก็ไปช่วยเครือข่ายนี้ทำงาน ผมว่านี่เป็นข้อดี ที่ผมมีเพื่อนหลายกลุ่มมากกว่า ไม่ใช่ข้อเสีย" นพ.สมศักดิ์ ระบุ

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 29 กันยายน 2557