อย.แจงกรณีการฉีด “เฟรซเซลล์ สารสกัดจากรกแกะ” จากการตรวจสอบฐานข้อมูล พบยังไม่มีการขึ้น ทะเบียนตำรับยา เฟรซเซลล์ หรือผลิตภัณฑ์ที่สกัดมาจากรกแกะกับ อย. แต่อย่างใด เตือนประชาชน การฉีดสาร แปลกปลอมเข้าสู่ร่างกาย อาจทำให้เกิดการต่อต้านจากร่างกาย ทำให้เกิดอาการแพ้สูง บางรายรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต พร้อมเตือนมายังผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม และแพทย์ ที่ใช้ยาฉีดที่ไม่ได้ขออนุญาตขึ้นทะเบียน ถือว่ามีความผิด ตามกฎหมาย ควรคำนึงถึงคุณธรรมจริยธรรมในการประกอบการ หากตรวจพบมีโทษทั้งจำและปรับ
นพ.ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ตามที่มีข่าวจาก หน้าหนังสือพิมพ์ว่ามีประชาชนไปฉีดเฟรซเซลล์ หวังรักษาโรคเส้นเลือดสมองตีบ แล้วอาการทรุดนั้น สำนักงาน คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ตรวจสอบเรื่องดังกล่าว ขอชี้แจงว่า ในประเทศไทยยังไม่เคยมีการขึ้นทะเบียน ตำรับยา “เฟรซเซลล์” หรือผลิตภัณฑ์ที่สกัดมาจากรกแกะ เพื่อใช้ในการฉีดแต่อย่างใด ดังนั้น หากประชาชน ต้องการฉีดสารดังกล่าวเพื่อใช้ในการรักษาโรคใด ๆ ก็ตาม ควรใช้ด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษ และอย่าหลงเชื่อ การโฆษณาสรรพคุณยาฉีด ซึ่งอ้างมาจากเซลล์ของสัตว์ เช่น แกะ เนื่องจากร่างกายมนุษย์จะเกิดปฏิกิริยาทาง ภูมิคุ้มกันจากการได้รับสารแปลกปลอม และเกิดการต่อต้านและทำลายสารแปลกปลอมนั้น ทำให้อาการแพ้ต่าง ๆ เกิดขึ้นต่อร่างกาย ความรุนแรงจะแตกต่างเฉพาะบุคคล ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ กรณีบางรายฉีด “เฟรซเซลล์” แล้วไม่เกิดอาการแพ้ อาจเนื่องมาจากยาที่ฉีดไม่มีเซลล์ของรกแกะตามที่โฆษณากล่าวอ้างจริง อาจเป็น เพียงแค่สารที่ผ่านกระบวนการแล้ว และยังอาจก่อให้เกิดอันตรายในระยะยาวได้ เพราะไม่ทราบแน่ชัดว่าสารที่ได้รับ คือสารอะไร ซึ่งอาจจะเป็นสารที่ออกฤทธิ์คล้ายกับโกรทฮอร์โมนก็ได้
นพ.ปฐม กล่าวต่อว่า หากมีการนำ “เฟรซเซลล์” สารสกัด จากรกแกะมาใช้รักษาในประเทศไทย ถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ทั้งข้อหาการใช้ยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้ขึ้น ทะเบียนตำรับยา มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และโฆษณาขายยาโดย ไม่ได้รับอนุญาต มีโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท นอกจากนี้ หากพบผู้ทำการฉีดที่ไม่ใช่แพทย์ ถือมีความผิดตาม พระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะและพระราชบัญญัติสถานพยาบาล โดยหากประกอบกิจการสถานพยาบาล โดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และประกอบโรคศิลปะ โดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนและรับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อย่างไรก็ดี หากเกิดกรณีดังกล่าวขึ้น ก็ต้องพิจารณาข้อเท็จจริงด้วยว่า เข้าข่ายยกเว้นตาม พ.ร.บ.ยาหรือไม่ เช่น หาก เป็นการผลิตตามใบสั่งยาของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมสำหรับคนไข้ของตนเอง ก็ต้องฟ้องไปยังแพทยสภา เพื่อ ดำเนินการสอบสวนต่อไป อีกทั้ง ในอนาคตอาจมีการยกร่างกฎหมายเฉพาะสำหรับการควบคุมเซลล์ หรือเซลล์ ต้นกำเนิด เพื่อมิให้ประชาชนได้รับอันตรายจากการใช้บริการทางการแพทย์ในลักษณะดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ขอให้ ประชาชนระมัดระวังอย่างมากเกี่ยวกับการฉีดสารแปลกปลอมใดๆ เข้าสู่ร่างกาย ควรป้องกันรักษาสุขภาพด้วยการ บริโภคอาหารที่มีประโยชน์ ครบ 5 หมู่ หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ไม่เครียด มีสุขภาพกายและใจที่ดี ทั้งนี้ หากผู้บริโภคพบเห็นการโฆษณายาฉีดรักษาโรคหรือเสริมความงามโอ้อวดสรรพคุณจากสื่อใดๆ ก็ตาม โปรดแจ้ง ร้องเรียนได้ที่ สายด่วน อย. 1556
- 1 view