อย. แจง กรณีการฉีด “เฟรซเซลล์ สารสกัดจากรกแกะ” จากการตรวจสอบฐานข้อมูล พบยังไม่มีการขึ้นทะเบียนตำรับยา เฟรซเซลล์ หรือผลิตภัณฑ์ที่สกัดมาจากรกแกะกับ อย. แต่อย่างใด เตือนประชาชน การฉีดสารแปลกปลอม เข้าสู่ร่างกาย อาจทำให้เกิดการต่อต้านจากร่างกาย ทำให้เกิดอาการแพ้สูง บางรายรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต พร้อมเตือนมายังผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม และแพทย์ ที่ใช้ยาฉีดที่ไม่ได้ขออนุญาตขึ้นทะเบียน ถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย ควรคำนึงถึงคุณธรรมจริยธรรมในการประกอบการ หากตรวจพบมีโทษทั้งจำและปรับ
นพ.ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) เปิดเผยว่า ตามที่มีข่าวจากหน้าหนังสือพิมพ์ว่ามีประชาชนไปฉีดเฟรซเซลล์ หวังรักษาโรคเส้นเลือดสมองตีบ แล้วอาการทรุดนั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ตรวจสอบเรื่องดังกล่าว ขอชี้แจงว่า ในประเทศไทยยังไม่เคยมีการขึ้นทะเบียนตำรับยา “เฟรซเซลล์” หรือผลิตภัณฑ์ที่สกัดมาจากรกแกะ เพื่อใช้ในการฉีดแต่อย่างใด ดังนั้น หากประชาชนต้องการฉีดสารดังกล่าวเพื่อใช้ในการรักษาโรคใด ๆ ก็ตาม ควรใช้ด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษ และอย่าหลงเชื่อการโฆษณาสรรพคุณยาฉีด ซึ่งอ้างมาจากเซลล์ของสัตว์ เช่น แกะ เนื่องจากร่างกายมนุษย์จะเกิดปฏิกิริยาทางภูมิคุ้มกันจากการได้รับสารแปลกปลอม และเกิดการต่อต้านและทำลายสารแปลกปลอมนั้น ทำให้อาการแพ้ต่าง ๆ เกิดขึ้นต่อร่างกาย ความรุนแรงจะแตกต่างเฉพาะบุคคล ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ กรณีบางรายฉีด “เฟรซเซลล์” แล้วไม่เกิดอาการแพ้ อาจเนื่องมาจากยาที่ฉีดไม่มีเซลล์ของรกแกะตามที่โฆษณากล่าวอ้างจริง อาจเป็นเพียงแค่สาร ที่ผ่านกระบวนการแล้ว และยังอาจก่อให้เกิดอันตรายในระยะยาวได้ เพราะไม่ทราบแน่ชัดว่าสารที่ได้รับคือสารอะไร ซึ่งอาจจะเป็นสารที่ออกฤทธิ์คล้ายกับโกรทฮอร์โมนก็ได้
นพ.ปฐม กล่าวต่อไปว่า หากมีการนำ “เฟรซเซลล์” สารสกัดจากรกแกะมาใช้รักษาในประเทศไทย ถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ทั้งข้อหาการใช้ยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และโฆษณาขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษปรับไม่เกิน 100,000บาท นอกจากนี้ หากพบผู้ทำการฉีดที่ไม่ใช่แพทย์ ถือมีความผิด ตามพระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะและพระราชบัญญัติสถานพยาบาล โดยหากประกอบกิจการสถานพยาบาล โดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และประกอบโรคศิลปะโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนและรับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อย่างไรก็ดี หากเกิดกรณีดังกล่าวขึ้น ก็ต้องพิจารณาข้อเท็จจริงด้วยว่า เข้าข่ายยกเว้นตาม พ.ร.บ.ยาหรือไม่ เช่น หากเป็นการผลิตตามใบสั่งยาของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมสำหรับคนไข้ของตนเอง ก็ต้องฟ้องไปยังแพทยสภา เพื่อดำเนินการสอบสวนต่อไป อีกทั้ง ในอนาคตอาจมีการยกร่างกฎหมายเฉพาะสำหรับการควบคุมเซลล์ หรือเซลล์ต้นกำเนิด เพื่อมิให้ประชาชนได้รับอันตรายจากการใช้บริการทางการแพทย์ในลักษณะดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนระมัดระวังอย่างมากเกี่ยวกับการฉีดสารแปลกปลอมใด ๆ เข้าสู่ร่างกาย ควรป้องกันรักษาสุขภาพ ด้วยการบริโภคอาหารที่มีประโยชน์ ครบ 5 หมู่ หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ไม่เครียด มีสุขภาพกายและใจที่ดี
ทั้งนี้ หากผู้บริโภคพบเห็นการโฆษณายาฉีดรักษาโรคหรือเสริมความงามโอ้อวดสรรพคุณจากสื่อใด ๆ ก็ตาม โปรดแจ้งร้องเรียนได้ที่ สายด่วน อย. 1556
- 34 views