ประชาคมสธ.เชื่อ “นพ.รัชตะ” เลือกตำแหน่งเดียวทุกอย่างจบ เชื่อทีมที่ปรึกษาจะทำงานเป็นกลางเพื่อทุกวิชาชีพ ยึดหลักธรรมาภิบาล เดินหน้าปฏิรูประบบสุขภาพด้วยเขตสุขภาพ และหากจะเปลี่ยนเกณฑ์พีฟอร์พีก็ต้องเป็นธรรมกับทุกวิชาชีพ ถ้าโน้มเอียงไปเข้าข้างข้างหนึ่ง ประชาคมพร้อมจะส่งสัญญาณให้สาธารณชนรับรู้ทันที
18 ก.ย. 57 พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปแห่งประเทศไทย (สพศท.) ในฐานะตัวแทนประชาคมสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีปัญหาการควบ 2 ตำแหน่งของ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) จะมีผลต่อการเดินหน้าปฏิรูปกระทรวงสาธารณสุขหรือไม่ ว่า จริงๆ แล้วไม่น่ามีผลกระทบ แต่อีกไม่นานเรื่องนี้ก็จะชัดเจนขึ้น เนื่องจากสภามหาวิทยาลัยมหิดลขีดเส้นให้นพ.รัชตะ ตัดสินใจเลือกตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งภายในวันที่ 8 ตุลาคมนี้ ระหว่างรัฐมนตรีว่าการ สธ. หรือ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเมื่อเลือกแล้วทุกอย่างก็จบ ส่วนงานที่สธ.ก็ไม่น่ามีปัญหา ระหว่างนี้ก็สามารถเดินหน้าปฏิรูปกระทรวงฯได้แต่หากไม่สบายใจก็สามารถมอบหมายให้นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการ สธ. ทำงานก่อน
พญ.ประชุมพร กล่าวว่า ส่วนกรณีทีมที่ปรึกษา ที่มี นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการ สธ. และ นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการ สธ. ซึ่งเคยทำงานที่สธ.มานาน และล้วนเป็นรองปลัด สธ.มาก่อน จึงเชื่อว่าจะเดินหน้าร่วมกันทำงานปฏิรูประบบสุขภาพจะราบรื่น มีธรรมาภิบาล หรือแม้แต่ นพ.สุเทพ เพชรมาก เลขานุการรัฐมนตรีว่าการ สธ. ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 5 นครราชสีมา และอดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท หรือ นพ.สมชายโชติ ปิยวัชร์เวลา รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี เลขานุการชมรมแพทย์ชนบท ซึ่งมารับตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการ สธ. แต่ตนก็ยังเชื่อว่าจะทำงานเพื่อส่วนร่วม คิดถึงประโยชน์ของโรงพยาบาลทุกระดับ โดยเฉพาะหากมีการปรับเปลี่ยนนโยบายหรือหลักเกณฑ์เรื่องพีฟอร์พี หรือค่าตอบแทนตามผลปฏิบัติงาน (P4P: Pay for Performance) ก็ต้องมีความเป็นธรรมกับทุกวิชาชีพ ทุกระดับ เพราะหากทำงานโดยโน้มเอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง ประชาคมสาธารณสุขก็จะจับตาและจะส่งสัญญาณให้สาธารณชนรับรู้ทันที
พญ.อุทุมพร กำภู ณ อยุธยา ประธานประชาคมสาธารณสุข กล่าวว่า ไม่ว่าใครจะมาเป็นทีมที่ปรึกษาก็พร้อมจะทำงานกับทุกฝ่าย ขอเพียงมีการเดินหน้าปฏิรูประบบสุขภาพ โดยเฉพาะเขตบริการสุขภาพให้ดียิ่งขึ้น และต้องสร้างความสามัคคีได้จริง มีหลักธรรมาภิบาล ไม่ใช่สร้างความขัดแย้งยิ่งขึ้น
นพ.สุทัศน์ ศรีวิไล ประธานชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป กล่าวว่า ในเรื่องการปฏิรูปสธ. ขณะนี้ประชาคมสาธารณสุขก็ช่วยทำงานอีกทางหนึ่ง โดยอยู่ระหว่างตั้งทีมดูความโปร่งใสของหลักเกณฑ์การทำงานเพื่อให้เกิดธรรมาภิบาลในวิชาชีพต่างๆ เช่น แพทย์ พยาบาล ซึ่งจะเป็นการทำงานควบคู่กับสธ.ให้ภายในกระทรวงมีความโปร่งใสจริงๆ ดังนั้น ไม่ว่าใครจะมาทำงานเป็นทีมที่ปรึกษา หรือจะมาเป็นผู้บริหารย่อมทำงานด้วยกันได้หมด
ด้าน นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ กรรมการชมรมแพทยชนบท กล่าวว่า ไม่อยากก้าวล่วงการตัดสินใจของ นพ.รัชตะ เพราะเป็นเรื่องที่ นพ.รัชตะ เท่านั้นที่จะสามารถตอบได้ว่าจะตัดสินใจได้ แต่งานในส่วนของทั้งสธ. และ มหาวิทยาลัยมหิดล ถือเป็นงานบริหาร หากแบ่งเวลาได้ก็น่าจะสามารถทำงานได้ ไม่น่ามีปัญหาอะไร แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือกระแสที่เกิดขึ้นอาจทำให้ลำบากในการตัดสินใจ และไม่ว่าจะตัดสินใจอย่างไร นพ.รัชตะ ก็ต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการตัดสินใจนั้น
นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่สภามหาวิทยาลัยมหิดลมีมติให้ นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธารณสุข พิจารณาเลือกว่าจะดำรงตำแหน่ง รมว.สาธารณสุข หรือ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เพียงตำแหน่งเดียวว่า ตนเชื่อว่า นพ.รัชตะจะพิจารณาตัดสินใจเลือกได้ด้วยตัวเอง ซึ่งตนเห็นว่า ทั้ง 2 ตำแหน่งนี้มีความสำคัญและมีภารกิจมากเท่ากัน ขอย้ำว่า อยู่ที่ตัวนพ.รัชตะพิจารณาเอง ตนคงไม่ไปก้าวล่วงการตัดสินใจ แต่ถ้าถามตน ส่วนตัวก็รู้สึกหนักใจแทนเหมือนกัน
- 5 views