สช.จับมือกรมคุ้มครองสิทธิฯ กระตุ้นสังคมให้เห็นความสำคัญของการแสดงเจตนาที่จะตายอย่างสงบ เป็นทางเลือกให้แพทย์ตัดสินใจสำหรับแนวทางการรักษาสำหรับผู้ป่วยระยะสุดท้าย เพื่อรองรับสังคมผู้สูงวัย-การขยายตัวของโรคร้ายแรงและเรื้อรัง พร้อมกระตุ้นวงการแพทย์เพื่อสร้างระบบดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย
นพ.อุกฤษฏ์ มิลินทางกูร ที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เปิดเผยในงานสัมมนาเรื่อง “พินัยกรรมชีวิต สิทธิการตาย (Living Will) “ วานนี้ (15 ก.ย.) ว่า ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ประกอบกับสถานการณ์ด้านสุขภาพของประเทศ ที่มีอัตราการตายของผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งสูงเป็นอันดับแรก และมีอัตราการตายด้วยโรคเรื้อรังเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นการดูแลแบบประคับประคองสำหรับผู้ป่วยระยะท้าย จึงมีความจำเป็นที่ต้องได้รับการพัฒนาให้เกิดเป็นระบบบริการที่ชัดเจน โดยเฉพาะในสถานพยาบาลของรัฐ
ขณะเดียวกันในการดูแลต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 12 ของพรบ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ที่ระบุให้ “บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะขอรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้”
ทั้งเพื่อให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายสามารถแสดงเจตนาไว้ล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษรที่จะ “ปฏิเสธการบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต” เพื่อให้ตนเองตายโดยสงบ ตายตามธรรมชาติ ซึ่งไม่ใช่การทำการุณยฆาต (Mercy Killing) หรือการเร่งการตาย
อย่างไรก็ตามยอมรับว่าเรื่องการทำหนังสือแสดงเจตนา และการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายยังเป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทย แต่ก็ได้รับความสนใจมากขึ้นตามลำดับ อีกทั้งระดับนโยบายด้านสาธารณสุขมีการระบุเรื่องนี้ไว้แล้ว
ดังนั้นจำเป็นต้องสร้างความตระหนักให้มากขึ้นและสร้างระบบรองรับให้ชัดเจน นอกจากนี้ยังต้องมีการทำงานเป็นทีมภายใต้การปรึกษาหารืออย่างต่อเนื่องระหว่างแพทย์ พยาบาล ครอบครัว และตัวผู้ป่วยเอง
พญ.สิรินทร ฉันศิริกาญจน อาจารย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ สาขาวิชาเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ผู้รับผิดชอบพัฒนา “ศูนย์เรียนรู้เพื่อพัฒนาสุขภาวะผู้สูงอายุแบบครบวงจรและบริบาลผู้ป่วยระยะท้าย” กล่าวว่าความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในการรักษาพยาบาลมีวัตถุประสงค์แรก เพื่อรักษาชีวิตให้ผู้ป่วยได้มีศักยภาพในการดำรงชีวิตต่อไป แต่ในระยะหลังถูกนำไปใช้เป็นเครื่องพันธนาการผู้ป่วย เพื่อยื้อการตาย ทั้งที่ผู้ป่วยจำนวนมากไม่สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้เหมือนเดิม ดังนั้น Living Will จึงมีความสำคัญมากขึ้น
อย่างไรก็ตามต้องทำให้ทุกภาคส่วนในสังคมรู้จัก Living Will และนำไปใช้เป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยได้รับการยอมรับจากแพทย์และครอบครัวของผู้ป่วยที่จะปฏิบัติตามเจตจำนงดังกล่าวของผู้ป่วยที่เขียนไว้ล่วงหน้า
“สิ่งที่แพทย์กังวลในการรักษาแบบประคับประคองที่ผ่านมา คือ การถูกหลอกให้เป็นเครื่องมือของผู้หาประโยชน์จากคนป่วย เช่น กรณีมรดก เป็นต้น ซึ่งแพทย์พบเป็นจำนวนมาก “
สำหรับวงการแพทย์ ยอมรับว่ายังมีประเด็นเรื่องทัศนคติที่ถูกสอนให้รักษาผู้ป่วยจนหาย เป็นความภูมิใจของแพทย์มาโดยตลอด แต่การทำตามเจตนาของผู้ป่วยในการขอตายอย่างสงบ อาจทำให้แพทย์มองว่าแพ้ ดังนั้นต้องเปลี่ยนทัศนคติใหม่ ว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องแพ้หรือชนะ แต่เป็นเรื่องทางเลือกของชีวิตของคนไข้เอง
ส่วนครอบครัวเองอาจยังขัดแย้งกัน จากความเห็นที่แตกต่าง แม้ผู้ป่วยจะแสดงเจตนาไว้แล้วก็ตาม แต่หากตัดสินใจโดยเอาผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางก็จะทำให้เห็นพ้องกันทั้งหมด ว่าควรทำอย่างไร
พ.ญ.สิรินทร ระบุว่า เรื่อง Living Will เป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทย จึงเป็นเรื่องปกติที่ยังมีมุมมองแตกต่างกัน แต่หากทุกคนกลับมาคิดถึงประโยชน์สูงสุดของผู้ป่วยก็จะหาข้อสรุปได้ โดยเฉพาะในจุดที่ต้องมีการตัดสินใจทำตามเจตนาของผู้ป่วย
โดยทางการแพทย์แล้ว ก็มีเกณฑ์เบื้องต้นที่จะใช้ในการตัดสินใจเป็นพื้นฐานในเรื่องสมองตาย ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยบริจาคอวัยวะไว้
พ.ต.อ.ดร.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กล่าวว่าไทยเป็นภาคีสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ที่จะเคารพสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองของบุคคล (ICCPR) ซึ่ง Living Will ก็เป็นหนึ่งในการเคารพสิทธิของพลเมือง ประกอบกับมาตรา12 ใน พรบ.สุขภาพแห่งชาติ ก็ระบุไว้ชัดเจน แต่ยังเป็นเรื่องใหม่ของสังคมไทย ดังนั้นจะต้องเร่งเผยแพร่ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ของทุกฝ่าย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ว่ามีทางเลือก และทางออกในการทำพินัยกรรมชีวิตไว้ล่วงหน้า เพื่อขอจากไปอย่างสงบในระยะสุดท้าย ไม่ให้ทรมาน และเป็นภาระต่อลูกหลาน
คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ กล่าวว่า ในหลายกรณีของการรักษาผู้ป่วยระยะสุดท้ายพบว่าการที่คนไข้ไม่ได้แสดงเจตจำนงไว้ ทำให้แพทย์ไม่สามารถตัดสินใจเกี่ยวกับการรักษาของผู้ป่วยได้ แม้ว่าการรักษานั้น จะสร้างความทรมาน และเป็นไปเพื่อยื้อการตายก็ตาม ดังนั้นการแสดงเจตนาไว้จะช่วยได้เมื่อถึงเวลานั้น ซึ่งเป็นช่วงที่ผู้ป่วยไม่สามารถรับรู้หรือตัดสินใจอะไรได้แล้ว
ในกรณีของตนเองได้เขียนไว้อย่างละเอียดว่าจะไม่รับการรักษาในกรณีใดบ้าง และให้ลูกรวมถึงแพทย์เป็นพยานในทำหนังสือเจตนาดังกล่าวไว้ หากแพทย์ไม่ทำตาม ลูกของตนเองมีสิทธิฟ้องแพทย์ได้ อย่างไรก็ตามเจตนาดังกล่าวสามารถเขียนเงื่อนไข เพื่อปฏิเสธการรักษาที่แตกต่างกันได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่ความต้องการของแต่ละบุคคล
แต่สังคมไทยต้องก้าวข้ามคำว่า “กตัญญู และบาป” ให้ได้ โดยเฉพาะลูกหลาน โดยให้คิดใหม่ว่า แท้จริงแล้วการยื้อความตายนั้น ทำเพื่ออะไรและเพื่อผู้ป่วยหรือไม่ สุดท้ายยื้อเพื่อไม่ให้ตนเองถูกต่อว่าไม่ดูแลพ่อแม่หรือไม่
อย่างไรก็ตามการแสดงเจตจำนงการตายอย่างสงบ จะมาพร้อมกับระบบการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ซึ่งประเทศไทยยังทำได้ไม่ดีพอ เพราะนอกจากขาดบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวกับเวชศาสตร์ครอบครัว เพื่อดูแลแบบองค์รวมแล้ว ยังขาดศูนย์ดูแลป่วยในระยะสุดท้าย ซึ่งในหลายประเทศมีจำนวนมาก ดังนั้นตนเองจึงได้บริจาคที่ดิน 100 ไร่ที่หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดลพัฒนา “ศูนย์เรียนรู้เพื่อพัฒนาสุขภาวะผู้สูงอายุแบบครบวงจรและบริบาลผู้ป่วยระยะท้าย” ให้เป็นต้นแบบของประเทศไทย
- 95 views