เปิดนโยบายสำคัญของหมอรัชตะ-หมอสมศักดิ์ จากทั้งหมด 10 นโยบาย มีเรื่องเด่น “ทศวรรษพัฒนาปฐมภูมิ พัฒนาเครือข่ายส่งต่อทั้งรัฐ-เอกชน ลดเหลื่อมล้ำกองทุนสุขภาพ เจ็บป่วยฉุกเฉินใช้ได้จริง ดูแลผู้สูงอายุระยะยาวเห็นผลใน 1 ปี กลุ่มคนไร้สถานะมีสิทธิประกันสุขภาพ เพิ่มจำนวนรพ.ที่ออกนอกระบบให้มากขึ้น เร่งจัดตั้งโรงงานผลิตวัคซีน เพิ่มวัคซีนใหม่เข้าสู่ระบบหลักประกันสุขภาพ หาจุดสมดุลจะเป็นเมดิคัลฮับต้องไม่กระทบประชาชนในระบบประกันสุขภาพภาครัฐ และออกกฎหมายจัดตั้งสถาบันวิจัยสุขภาพ”
13 ก.ย.57 หลังจากเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) อย่างเป็นทางการในวันนี้ของ รมว.สธ. ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน และรมช.สธ. นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ก็ได้มีการมอบนโยบายการดำเนินงาน 10 ข้อ เพื่อขับเคลื่อนระบบสาธารณสุข ซึ่งจาก 10 ข้อ นั้น สามารถสรุปเป็นนโยบายที่น่าสนใจ ดังนี้
· เดินหน้าทศวรรษแห่งการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ
· พัฒนาระบบเครือข่ายการส่งต่อระหว่างสถานบริการสุขภาพ ทั้งในภาครัฐแลเอกชนที่มีประสิทธิภาพ
· ทุกกองทุนสุขภาพมีความกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียว
· ให้บริการการแพทย์ฉุกเฉินตามนโยบาย “ใช้บริการได้ทุกที่ ฟรีทุกสิทธิ์” มีความเป็นจริงในทางปฏิบัติ
· ระบบสร้างเสริมสุขภาวะสำหรับผู้สูงอายุและผู้อยู่ในภาวะพึ่งพิง รวมทั้งผู้ป่วยในระยะสุดท้ายของชีวิต ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมภายใน 1 ปี
· การเข้าถึงบริการสำหรับคนพิการ ประชากรที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ์ ประชากรต่างด้าว/แรงงานต่างด้าว ประชาชนตามพื้นที่พิเศษ เช่น ชายแดนห่างไกล 5 จังหวัดภาคใต้ และการสร้างเสริมสุขภาพแรงงานนอกระบบ
· การให้มีรพ.องค์การมหาชนในกำกับของรัฐเพิ่มมากขึ้น
· จัดตั้งโรงงานผลิตวัคซีน ชีววัตถุและวัตถุดิบในการผลิตยา รวมทั้งเครื่องมือแพทย์ ทั้งในภาครัฐและเอกชน เพื่อความมั่นคงด้านสุขภาพ โดยเฉพาะวัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีนพื้นฐาน ชีววัตถุที่ใช้ในผู้ป่วยไตวายเรื้อรังและโรคเรื้อรังอื่นๆ ทั้งนี้โดยได้รับการสนับสนุนจากระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอย่างเหมาะสม
· การนำวัคซีนและเทคโนโลยีใหม่เข้าสู่ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เช่น วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก การทดสอบดีเอ็นเอในการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก วัคซีนโรตาไวรัสป้องกันท้องร่วงในเด็ก วัคซีนผสม 5 หรือ 6 ชนิด (pentavelent and hexavalent)
· พัฒนาระบบความสมดุลในการใช้ทรัพยากรด้านสุขภาพเพื่อมิให้นโยบายในการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางด้านสุขภาพของภูมิภาค ส่งผลกระทบด้านลบต่อการบริการสุขภาพแก่คนไทยในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
· กฎหมายจัดตั้งสถาบันวิจัยสุขภาพ
มีรายละเอียดดังนี้
นโยบายการดำเนินงาน ของ รมว.สธ. ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน และรมช.สธ. นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์
หลักการสำคัญของนโยบาย
1.มุ่งเน้นประโยชน์ที่จะเกิดกับประชาชนอย่างเป็นรูปธรรมและมีความเสมอภาค
2.มุ่งเน้นดำเนินการให้เสร็จใน 1 ปี และมีผลต่อเนื่องในระยะยาวอย่างต่อเนื่อง
3.มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนอย่างกว้างขวางบนพื้นฐานข้อมูลเชิงประจักษ์
4.มุ่นเน้นการพัฒนาบุคลากรสุขภาพ ให้สามารถทำงานได้อย่างมีความสุขและภาคภูมิใจ
ความครอบคลุมของนโยบาย
นโยบายนี้เป็นนโยบายการดำเนินงาน ภายในบทบาทของรมต.สธ.ในฐานะ
1.เจ้ากระทรวงสธ.
2.กำกับดูแลองค์กรของรัฐที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพอีก 9 องค์กร รวมทั้งสภาวิชาชีพด้านสุขภาพทุกสภาวิชาชีพ
การดำเนินการตามนโยบายจึงต้องการความร่วมมือ ร่วมแรงร่วมใจ อย่างสมานฉันท์ในลักษณะกัลยาณมิตรของกระทรวงสธ.และองค์กรทั้งหมด
นโยบาย
1.ให้ความสำคัญสูงสุดต่อการพัฒนางานสาธารณสุขตามแนวพระราชดำริ และโครงการเฉลิมพระเกียรติ เพื่อเทิดพระเกียรติพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์
2.พัฒนาระบบบริการสุขภาพให้ทุกคนบนแผ่นดินไทยสามารถเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง โดยใช้ทรัพยากรสุขภาพอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นระบบที่ยั่งยืน
4.สร้างเสริมความเข้มแข็งของกลไกนโยบายสาธารณสะเพื่อสุขภาพที่ทำงานข้ามภาคส่วน
5.พัฒนาประสิทธิภาพการบริหารจัดการบุคลากรสุขภาพ
6.พัฒนาความมั่นคงของระบบยา วัคซีน เวชภัณฑ์ และเทคโนโลยีทางการแพทย์
7.จัดการโรคติดต่อและภัยคุกคามด้านสุขภาพ
8.สนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพโลก (Global health)
9.สนับสนุนการวิจัยสุขภาพอย่างครบวงจร
10.พัฒนาและส่งเสริมระบบธรรมาภิบาลในกระทรวงสาธารณสุขและองค์กรด้านสุขภาพของรัฐ
ทั้งนี้ จากนโยบายทั้ง 10 ข้อ มีนโยบายที่น่าสนใจ ดังนี้ ข้อ 2.พัฒนาระบบบริการสุขภาพให้ทุกคนบนแผ่นดินไทยสามารถเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง โดยใช้ทรัพยากรสุขภาพอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นระบบที่ยั่งยืน
2.1 พัฒนาและดำเนินการทศวรรษแห่งการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ โดยเน้นการพัฒนาขีดความสามารถในการดูแลสุขภาพด้วยตนเอง โดยการสนับสนุนของระบบบริการสารสนเทศด้านสุขภาพ และการมีบุคลากรและแพทย์ด้านเวชศาสตร์ครอบครัวให้ครอบคลุมทั่วถึงทั้งในเขตเมือง กทม. และชนบท
2.2 พัฒนาระบบบริการในแต่ละเขตพื้นที่ โดยเน้นความเข้มแข็งของระบบบริการระดับปฐมภูมิ ระบบเครือข่ายการส่งต่อระหว่างสถานบริการสุขภาพ ทั้งในภาครัฐแลเอกชนที่มีประสิทธิภาพ การพัฒนาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบบริการทุกระดับ ทั้งนี้โดยมีระบบอภิบาลอย่างมีส่วนร่วมและโปร่งใส เพื่อให้เกิดการกระจายและการใช้ทรัพยากรอย่างเสมอภาคและมีประสิทธิภาพสูงสุด
2.3 พัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพให้ทุกกองทุนมีความกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียว (harmonization) ในเรื่องสิทธิประโยชน์ การเข้าถึงบริการการสนับสนุนทางการเงิน และระบบข้อมูล
2.4 เร่งดำเนินการให้บริการการแพทย์ฉุกเฉินตามนโยบาย “ใช้บริการได้ทุกที่ ฟรีทุกสิทธิ์” มีความเป็นจริงในทางปฏิบัติ
2.5 เร่งรัดการดำเนินการระบบสร้างเสริมสุขภาวะสำหรับผู้สูงอายุและผู้อยู่ในภาวะพึ่งพิง รวมทั้งผู้ป่วยในระยะสุดท้ายของชีวิต ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมภายใน 1 ปี และมีผลต่อเนื่องอย่างยั่งยืน โดยเน้นการดูแลโดยชุมชนและครอบครัว ด้วยการสนับสนุนและความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างสถานบริการสุขภาพและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
2.6 เร่งรัดพัฒนาระบบการเข้าถึงบริการสุขภาพ และพัฒนาหน่วยบริการสุขภาพสำหรับประชากรที่มีความต้องการบริการรูปแบบพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าถึงบริการสำหรับคนพิการ ประชากรที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ์ ประชากรต่างด้าว/แรงงานต่างด้าว ประชาชนตามพื้นที่พิเศษ เช่น ชายแดนห่างไกล 5 จังหวัดภาคใต้ และการสร้างเสริมสุขภาพแรงงานนอกระบบ
2.7 พัฒนาประสิทธิภาพและการมีส่วนร่วมในการจัดการและการใช้ทรัพยากรของระบบบริการ โดยเน้นเรื่องการสร้างภาวะผู้นำและระบบความรับผิดชอบของผู้บริหาร การกระจายอำนาจ และการสร้างระบบความยืดหยุ่นในการบริหารสถานพยาบาลของรัฐ รวมทั้งการให้มีรพ.องค์การมหาชนในกำกับของรัฐเพิ่มมากขึ้น
2.8 สนับสนุนการบูรณาการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรเข้าสู่ระบบบริการสุขภาพอย่างครบวงจร โดยการสนับสนุนการเพิ่มการใช้ในสถานพยาบาล การเพิ่มสนับสนุนทางการเงินในระบบหลักประกันสุขภาพ และการเพิ่มรายการยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ
2.9 เร่งรัดการดำเนินการพัฒนาคุณภาพการบริการ ให้ผู้รับบริการได้รับความปลอดภัยมากที่สุด และผู้ให้บริการมีความมั่นใจ รวมทั้งเกิดความเป็นกัลยาณมิตรระหว่างผู้รับบริการและผู้ให้บริการ โดยจัดให้มีทศวรรษแห่งการพัฒนาคุณภาพบริการและความปลอดภัยของผู้ป่วย
ข้อ 6.พัฒนาความมั่นคงของระบบยา วัคซีน เวชภัณฑ์ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ ซึ่งระบุว่า จะส่งเสริมและเร่งรัดการดำเนินการในการจัดตั้งโรงงานผลิตวัคซีน ชีววัตถุและวัตถุดิบในการผลิตยา รวมทั้งเครื่องมือแพทย์ ทั้งในภาครัฐและเอกชน เพื่อความมั่นคงด้านสุขภาพ โดยเฉพาะวัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีนพื้นฐาน ชีววัตถุที่ใช้ในผู้ป่วยไตวายเรื้อรังและโรคเรื้อรังอื่นๆ ทั้งนี้โดยได้รับการสนับสนุนจากระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอย่างเหมาะสม
ข้อ 7.จัดการโรคติดต่อและภัยคุกคามด้านสุขภาพ ประเด็นที่น่าสนใจ คือ พัฒนาระบบและกลไกในการพิจารณาการนำวัคซีนและเทคโนโลยีใหม่เข้าสู่ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เช่น วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก การทดสอบดีเอ็นเอในการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก วัคซีนโรตาไวรัสป้องกันท้องร่วงในเด็ก วัคซีนผสม 5 หรือ 6 ชนิด (pentavelent and hexavalent) เป็นต้น ทั้งนี้ให้เป็นไปตามหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ได้จากการประเมินเทคโนโลยีที่เข้มแข็ง
ข้อ 8.สนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพโลก (Global health) ประเด็นที่น่าสนใจ คือ มีการระบุว่า ในการพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านสุขภาพของภูมิภาคอย่างสมดุลและยั่งยืนนั้น จะต้องพัฒนาระบบความสมดุลในการใช้ทรัพยากรด้านสุขภาพเพื่อมิให้นโยบายในการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางด้านสุขภาพของภูมิภาค ส่งผลกระทบด้านลบต่อการบริการสุขภาพแก่คนไทยในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
ข้อ 9.สนับสนุนการวิจัยสุขภาพอย่างครบวงจร โดยจะผลักดันให้มีกฎหมายจัดตั้งสถาบันวิจัยสุขภาพ เพื่อให้สามารถส่งเสริมสนับสนุนการวิจัยสุขภาพที่จำเป็นได้อย่างมีประสิทธิภาพและครบวงจร ตั้งแต่งานวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพขั้นพื้นฐาน ไปจนถึงการวิจัยระบบสาธารณสุข
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
“รัชตะ-สมศักดิ์” มอบนโยบาย 10 ข้อ เป้าหมาย ‘ปชช.สุขภาพดี-เข้าถึงบริการ’
คำสั่ง ‘หมอรัชตะ’ มอบ ‘หมอสมศักดิ์’ ดูแลหน่วยงานอะไร ?
- 10 views