นสพ.มติชน -บอร์ดยาสูบแจงยังไม่เคาะข้อเสนอรื้อขั้นตอนอุดหนุน สสส.-ไทยพีบีเอส ระบุหลายหน่วยงานยื่นขอใช้เงิน ห่วงไม่โปร่งใส 'สพศท.'เห็นด้วย ชี้ระบบบริหารมีจุดอ่อนหละหลวม 'หมอประกิต'ยันผลงาน สสส.ต้นแบบองค์การอนามัยโลก
'ยาสูบ'ชี้หลายหน่วยจ้องขอเงิน
นายอำนวย ปรีมนวงศ์ ผู้ตรวจราชการ กระทรวงการคลัง ในฐานะกรรมการอำนวยการโรงงานยาสูบ กล่าวถึงกรณี น.ส.ดาวน้อย สุทธินิภาพันธ์ รักษาการผู้อำนวยการโรงงานยาสูบ จะเสนอคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เปลี่ยนวิธีการจ่ายเงินอุดหนุนให้กับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย หรือสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส จากการจ่ายตรงมาเป็นการจัดสรรผ่านระบบงบประมาณเพื่อความโปร่งใสในการใช้จ่ายเงินว่า เรื่องนี้ยังไม่นำเข้าหารือในที่ประชุมคณะกรรมการฯ หลังจากมีข่าวได้สอบถามไปยัง น.ส.ดาวน้อยแล้ว ทราบว่านอกจาก สสส.และไทยพีบีเอสที่โรงงานยาสูบต้องจ่ายเงินอุดหนุนให้ปีละ 1,600 ล้านบาทแล้ว ยังมีกองทุนจากกระทรวงศึกษาธิการและกองทุนจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่ขอเข้ามาว่าจะออกเป็นกฎหมายเพื่อให้โรงงานยาสูบจ่ายเงินให้ในลักษณะเดียวกับ สสส.และไทยพีบีเอสด้วย คิดเป็นเงินที่โรงงานยาสูบต้องจ่ายทั้ง 4 หน่วยงานปีละประมาณ 3,000-4,000 ล้านบาท
ห่วงปัญหาใช้เงินไม่โปร่งใส
นายอำนวยกล่าวว่า โรงงานยาสูบเห็นว่าขณะนี้เริ่มมีหลายหน่วยงานต้องการใช้เงินจากยาสูบ และเริ่มขอกันมามากขึ้น จึงต้องการให้กระทรวงการคลังช่วยดูแลการจ่ายเงิน แทนการหักเป็นเปอร์เซ็นต์จากภาษีสรรพสามิตเหมือนที่ทำอยู่ทุกวันนี้ เพราะโรงงานยาสูบเกิดความแคลงใจในด้านความโปร่งใสของการใช้เงิน เพื่อให้มีระบบการตรวจสอบมากขึ้น และอยากให้เข้าระบบการของบประมาณแบบหน่วยงานราชการ หรือกระทรวงการคลังจะหาแนวทางการจัดสรรเงินให้กองทุนดังกล่าวเองก็ได้
"ข้อเสนอดังกล่าว แค่การเปลี่ยนวิธีจ่ายเงินอุดหนุน ไม่ได้งดการจ่ายให้ทั้ง 2 หน่วยงานอย่างที่ทาง สสส.หรือนักวิชาการสาธารณสุขกังวล เพราะยาสูบยังเห็นด้วยกับ สสส.ในการรณรงค์ลดสูบบุหรี่ ส่วนรายได้ของยาสูบยังคงส่งเข้ารัฐปีละ 6-7 พันล้านบาท จ่ายภาษีปีละ 7-8 หมื่นล้านบาทเหมือนเดิม กระทรวงการคลังสามารถนำเงินดังกล่าวไปจัดสรรให้หน่วยงานที่ขอมาได้" นายอำนวยกล่าว และว่า อย่างไรก็ตาม ยังบอกไม่ได้ว่าจะนำเรื่องนี้หารือในที่ประชุมบอร์ดหรือไม่ และส่วนตัวไม่อยากให้เกิดการตอบโต้กันไปมาระหว่างโรงงานยาสูบกับ สสส. เพียงแต่ น.ส.ดาวน้อยหวังดีในเรื่องความโปร่งใสในการใช้งบประมาณ
สพศท.หนุนเปลี่ยนวิธีอุดหนุน
พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป (สพศท.) กล่าวว่า เห็นด้วยกับโรงงานยาสูบที่เสนอเรื่องนี้ เนื่องจากเป็นเรื่องควรทำตั้งแต่ต้น เพราะ สสส.ก่อตั้งมากว่า 10 ปี มีกฎหมายเฉพาะของตัวเองในการบริหารจัดการอย่างเป็นอิสระ แต่กลับมีจุดอ่อน หละหลวมในระบบ ไม่มีใครทราบว่ารายงานการใช้เงินของ สสส.เป็นอย่างไร แต่ สสส.ยืนยันเสมอว่าสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มีการตรวจสอบตลอด แต่สาธารณชนก็อยากรู้ว่านอกจากการใช้เงินแล้ว ผลลัพธ์จากการใช้เงินมหาศาลคุ้มค่ามากน้อยแค่ไหน
หมอประกิตแจงไม่ใช้งบปกติ
นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ที่ปรึกษาเครือข่าย สสส.นานาชาติ กล่าวถึงกรณีดังกล่าว ว่า ข้อเสนอของ น.ส.ดาวน้อย คงเป็นเพราะไม่ทราบความจริงว่า หลังจาก สสส.ดำเนินการมา 13 ปี ขณะนี้ สสส.ได้เป็นองค์กรต้นแบบที่องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกนำไปปฏิบัติ เนื่องจากประเทศต่างๆ ประสบปัญหาเช่นเดียวกับไทยเคยประสบมาก่อนการจัดตั้ง สสส. และเหตุผลที่ สสส.ไม่สามารถรับการจัดสรรเงินอุดหนุนตามขั้นตอนงบประมาณปกติ เพราะฝ่ายการเมืองมักจะให้ความสำคัญในการจัดสรรงบสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพต่ำมาก ส่วนเรื่องความโปร่งใสและความคุ้มค่าในการใช้งบประมาณ ก็เป็นเรื่องที่ฝ่ายต่างๆ สามารถตรวจสอบได้
นพ.ประกิตกล่าวว่า ผลจากการชี้แนะขององค์การอนามัยโลก ประเทศไทยได้กลายเป็นต้นแบบของประเทศมองโกเลีย เวียดนาม ลาว ตองกา และมาเลเซีย ในการจัดตั้งองค์กรและแหล่งงบประมาณที่ยั่งยืน เพื่อสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพในขณะที่อีกหลายประเทศอยู่ระหว่างการผลักดันกฎหมาย และเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา สำนักงานองค์การอนามัยโลกภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้จัดประชุมปฏิบัติการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ รวมถึงการจัดตั้งกองทุนแบบ สสส.ให้แก่ผู้แทนประเทศเนปาล บังกลาเทศ มัลดีฟ ภูฏาน และพม่า ที่กรุงเทพฯ และในวันที่ 25-26 กันยายนนี้ เครือข่ายรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ภูมิภาคอาเซียน ซึ่งสนับสนุนทุนโดยมูลนิธิบิลและเมลินดา เกตส์ ก็จะมาจัดการประชุมปฏิบัติการเกี่ยวกับระบบงบประมาณที่ยั่งยืนด้วย
อดีตปธ.ตรวจสอบการันตีสสส.
นพ.มรกต กรเกษม อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และอดีตประธานคณะอนุกรรม การตรวจสอบภายใน สสส. กล่าวว่า ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการตรวจสอบภายใน มาตลอดกว่า 10 ปีของการก่อตั้ง สสส. และเพิ่งหมดวาระไปเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ไม่เคยพบการใช้จ่ายงบประมาณที่ผิดระเบียบหรือผิดกฎข้อบังคับ นอกจากนั้นสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ก็เข้ามาตรวจสอบตลอด ไม่เคยพบว่า สตง. รายงานว่าการกระทำผิดข้อบังคับที่เกินเลยไป แม้แต่ในอดีตมีนักการเมืองตั้งข้อสงสัยในเรื่องการใช้จ่ายงบ แต่เมื่อตรวจสอบก็ไม่พบว่ามีการดำเนินงานผิดวัตถุประสงค์ตามที่กล่าวหา
"มักจะมีการตั้งข้อสงสัยว่า สสส. ให้เงินสนับสนุนแต่พวกพ้อง ก็เคยตรวจสอบในประเด็นเหล่านี้ ซึ่งการดำเนินงานด้านสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพเป็นงานที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) หรือผู้ที่อยู่ในแวดวงวิชาการสาธารณสุขดำเนินการอยู่แล้ว ดังนั้นเมื่อ สสส.เกิดขึ้นและทำงานเสริมกันกับ สธ. ก็ต้องอาศัยผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขมาดำเนินการ ก็เป็นคนในวงการที่รู้จักกัน ดังนั้นจะเรียกว่าพวกพ้องก็คงไม่ได้ เพราะเราก็ต้องร่วมงานกับคนที่ไว้ใจได้ว่ามีความรู้และสามารถผลักดันให้การทำงานเกิดผลประโยชน์ที่คุ้มค่า" นพ.มรกตกล่าว
ไทยพีบีเอสยันสอบใช้เงินเข้มข้น
นายสมชัย สุวรรณบรรณ ผู้อำนวยการไทยพีบีเอส ให้สัมภาษณ์ว่า ไม่เข้าใจว่าโรงงานยาสูบคิดเห็นอย่างไรจึงมีข้อเสนอดังกล่าว อาจเป็นเพราะเข้าใจว่าไทยพีบีเอสได้เงินอุดหนุนจำนวนมหาศาลและไม่มีการตรวจสอบ ซึ่งไม่เป็นความจริง ไทยพีบีเอสได้เงินอุดหนุนปีละไม่เกิน 2,000 ล้านบาท มีการตรวจสอบเช่นเดียวกับทุกหน่วยงานที่ได้รับเงินสนับสนุนจากภาครัฐ โดยที่ผ่านมาทุกปีต้องทำรายงานไปแสดงต่อวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร ขณะที่ ปีนี้จะแถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวันที่ 11 กันยายน ซึ่งในรายงานดังกล่าวจะมีผลการตรวจสอบจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ซึ่งเป็นผู้ตรวจสอบบัญชีและงบการเงินขององค์กร นอกจากนั้นผู้บริหารของไทยพีบีเอสทุกคนก็อยู่ภายใต้กฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินเช่นเดียวกับนักการเมือง นอกจากนี้ยังมีการตรวจสอบจากภาคประชาชน ดังนั้นกระบวนการตรวจสอบจึงมีความโปร่งใสและเคร่งครัดมาก
ส่วนกรณีที่จะปรับเปลี่ยนให้กระทรวงการคลังเป็นผู้จัดสรรงบประมาณอุดหนุนให้นั้น นายสมชัยกล่าวว่า ไทยพีบีเอสเป็นสื่อสาธารณะเช่นเดียวกับสื่อสาธารณะทั่วโลกที่มีกฎหมายระบุว่า ไม่ต้องผ่านกระบวนการจัดสรรงบประมาณแผ่นดิน เพราะต้องการให้มีอิสระในการทำงานและบริหารจัดการ ไม่ถูกครอบงำโดยอำนาจรัฐและฝ่ายการเมือง เมื่อต้องทำหน้าที่ในการตรวจสอบ
"เนื่องจากเราต้องตรวจสอบผู้มีอำนาจที่ใช้เงินงบประมาณแผ่นดิน ถ้าเผื่อผู้มีอำนาจที่เราต้องตรวจสอบมาบล็อกงบประมาณแผ่นดิน เราจะไปตรวจสอบท่านได้อย่างไร เราจะทำงานเป็นวิชาชีพสื่อได้อย่างไร ต้องเข้าใจคอนเซ็ปต์นี้" นายสมชัยกล่าว
--มติชน ฉบับวันที่ 12 ก.ย. 2557 (กรอบบ่าย)--
- 12 views