โฆษกกระทรวงสาธารณสุข เผยอาการคืบหน้าผู้เข้าเกณฑ์สอบสวนโรครายแรก วันนี้ไม่มีไข้ อาการคงที่ ผลตรวจเลือดชันสูตรอีโบลาครั้งที่ 2 ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์ฯ เป็นลบ และตรวจพบติดเชื้อมาลาเรีย แพทย์ให้การรักษา และย้ายออกจากห้องแยกโรค ดูแลเหมือนผู้ป่วยทั่วไป
วันนี้ (5 กันยายน 2557)ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค นายแพทย์ศุภมิตร ชุณห์สุทธิวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค แถลงความคืบหน้าอาการผู้เข้าเกณฑ์สอบสวนโรครายแรกว่า จากการติดตามอาการวันนี้ ไม่มีไข้ อาการทั่วไปคงที่ ผลการตรวจหาการติดเชื้อไวรัสอีโบลาครั้งที่ 2 ได้ผลลบ ตรงกันทั้งที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และที่คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สรุปว่ารายนี้ไม่ได้ติดเชื้อไวรัสอีโบลา โดยผลการตรวจเลือดเพิ่มเติม พบว่าติดเชื้อมาลาเรีย แพทย์วินิจฉัยลักษณะอาการป่วยเข้าได้กับโรคมาลาเรีย จึงให้การรักษาตามที่วินิจฉัย และได้ย้ายออกจากห้องแยกโรค ให้การดูแลแบบผู้ป่วยทั่วไป ส่วนจะกลับบ้านเมื่อใด ขึ้นอยู่กับแพทย์ผู้รักษา ซึ่งจะพิจารณาอาการของผู้ป่วย และผลการรักษาเป็นสำคัญ สำหรับผู้สัมผัสทั้ง 16 ราย สามารถยุติการติดตามได้
ทางด้านนายแพทย์ศุภมิตร ชุณห์สุทธิวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกรายงานสถานการณ์การระบาดของโรคอีโบลาในทวีปอาฟริกาด้านตะวันตก ล่าสุด มีผู้ป่วยยืนยัน 3,685 ราย เสียชีวิต 1,841 ราย ระบาดมากใน 3 ประเทศคือกินี ป่วย 771 รายเสียชีวิต 494 ราย ประเทศไลบีเรีย ป่วย 1,698 ราย เสียชีวิต 871 ราย และเซียร่าลีโอน ป่วย 1,216 ราย เสียชีวิต 476 ราย ส่วนอีก 2 ประเทศการระบาดยังอยู่ในวงจำกัด ได้แก่ไนจีเรีย พบป่วย 21 ราย เสียชีวิต 7 และเซเนกัล พบผู้ป่วยรายแรก เป็นชาวกินี ที่เดินทางเข้ามาในประเทศนี้ ขณะนี้กำลังได้รับการรักษาและยังมีชีวิตอยู่
ผลการตรวจคัดกรองผู้ที่เดินทางจากต่างประเทศที่ด่านควบคุมโรคระหว่างประเทศของไทย เมื่อวานมีผู้เดินทางจากประเทศที่มีการระบาด (ซึ่งออกจากประเทศมาไม่ถึง 21 วัน) จำนวน 4 คน ตั้งแต่ 8 มิถุนายน 2557 จนถึงวันที่ 4 กันยายน 2557 มีผู้เดินทางมาจากประเทศที่มีการระบาดของโรคอีโบลา รวม 1,082 คน ได้แก่ กินี 445 คน ไลบีเรีย 63 คน เซียร์ร่าลีโอน 41 คน ไนจีเรีย 529 คน และประเทศอื่นๆ 4 คน ทุกคนมีอาการปกติ
นายแพทย์ศุภมิตรกล่าวต่อว่า การที่พบผู้เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค แสดงประสิทธิภาพของระบบการเฝ้าระวังโรคของประเทศไทย หากระบบทำงานได้ดี ควรจะตรวจพบผู้เข้าเกณฑ์การสอบสวนโรค หรือผู้ป่วยสงสัยอีโบลาตามนิยามที่กำหนดไว้ ได้เป็นระยะ การตรวจพบผู้เข้าเกณฑ์สอบสวนโรครายแรกนี้ และการดูแลวินิจฉัยจนได้ข้อสรุปชัดเจน เป็นผลของความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ตามขั้นตอนการทำงานที่ได้เตรียมความพร้อมไว้ อย่างไรก็ ตามการเฝ้าระวังและป้องกันโรคอีโบลาของประเทศในระยะต่อไป จะได้ผลดีเพียงใด ขึ้นอยู่ความร่วมมือของหน่วยงาน ประชาชน และชุมชนท้องถิ่นทั่วประเทศเป็นสำคัญ หากประชาชนพบผู้เดินทางมาจากประเทศที่มีการระบาด และมีอาการป่วย หรือมีเหตุสงสัย ควรแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่อยู่ใกล้เคียง ให้ไปตรวจสอบ หรือแจ้งที่สายด่วนกรมควบคุมโรคหมายเลข 1422 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง
- 4 views