“หมอสมศักดิ์” รมช.สธ.ป้ายแดง แสดงวิสัยทัศน์ปฏิรูประบบสุขภาพ ชี้ความขัดแย้งระบบสาธารณสุขไม่ใช่เรื่องใหม่ แม้ไม่มั่นใจ แต่ตั้งใจแก้ไขปัญหา ระบุความเห็นต่างคือจุดแข็งของระบบสุขภาพไทย เผยเหตุตัดสินใจรับตำแหน่งเพราะเป็นโอกาสทำประโยชน์ให้ประเทศได้ แม้เคยแสดงจุดยืนไม่เอารัฐประหาร ด้าน “กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ” ฝาก รมช.สธ. คนใหม่เดินหน้าปฏิรูประบบสุขภาพยุค 2 ลดความเหลื่อมล้ำ

 

5 ก.ย.57 ที่สมาคมนักข่าวและนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย – เมื่อเวลา 10:00 น. สมาคมนักข่าวและนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้จัดราชดำเนินเสวนาเรื่อง “ทิศทางปฏิรูประบบสุขภาพ ยุครัฐบาลประยุทธ์” นับเป็นเวทีแรกที่ นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้แสดงวิสัยทัศน์ต่อทิศทางการปฏิรูประบบสุขภาพซึ่งสะท้อนถึงการบริหารสาธารณสุขภายหลังเข้ารับตำแหน่ง

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า เวทีพูดคุยวันนี้คงไม่แตะนโยบาย แต่มาเพื่อพูดคุยในฐานะคนที่อยู่ในแวดวงสุขภาพมากว่า 20 ปีเกี่ยวกับระบบสุขภาพที่พึ่งประสงค์ และในฐานะที่เป็นรัฐมนตรีจะพยายามใช้จุดแข็งของตนเอง คือความสามารถในการสังเคราะห์จากสิ่งที่รับฟังเพื่อให้ได้สิ่งที่ถูกต้องที่สุดและไปสู่การตัดสินใจ อยากชวนทุกคนมาช่วยกัน แม้ว่าที่สุดผลการตัดสินใจจะออกมาอย่างไร คงไม่ถูกใจทุกคน แต่หากหลังจากนั้นผู้มีส่วนร่วมทุกคนมาติดตามต่อถือเป็นเรื่องที่ดี และเพียงแต่ต้องมีกลไกดำเนินการเพื่อให้เดินไปข้างหน้าได้  

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นขณะนี้ เกิดจากความหวังดี แต่เป็นความหวังดีที่เห็นต่างกัน เพราะมีสิ่งที่เรียกว่าความเชื่อและมุมมองต่างกัน ซึ่งบางเรื่องที่เป็นข้อเท็จจริงที่มีข้อมูล การศึกษาไม่ใช่เรื่องยาก แต่หากเป็นความเชื่อคงเป็นเรื่องลำบาก ก็ได้แต่หวังว่าทุกคนจะไม่ดื้อ เพราะสิ่งที่ยากสำหรับสังคมไทย คือคนดีๆที่ดื้อไม่มาช่วยกัน ซึ่งคนดีๆ น่าจะมาช่วยกัน อย่างไรก็ตามยอมรับการแก้ปัญหาความขัดแย้งในระบบสาธารณสุขเป็นสิ่งที่ยาก แต่หากเปิดใจกว้างและมาหาข้อสรุปร่วมกันก็จะเดินหน้าได้

“หลังตัดสินใจรับตำแหน่ง มีหลายคนแสดงความเป็นห่วง และปีนี้อายุ 61 ปีแล้ว แต่ด้วยเชื่อมั่นว่าจะทำเรื่องดีๆ แม้ว่าเรื่องดีๆ ไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ง่าย ส่วนที่จะเข้ามาแก้ไขความขัดแย้งในระบบสาธารณสุขนั้น ต้องบอกว่าไม่มีความมั่นใจ แต่มีความพยายามและความตั้งใจที่จะแก้ปัญหานี้” รมช.สาธารณสุข กล่าว และว่า ในฐานะที่เคยเป็นหนึ่งในเครือข่าย 2 เอา 2 ไม่เอา ที่แสดงจุดยืนไม่เอารัฐประหาร แต่ที่รับตำแหน่งนี้เพราะมองว่าเป็นโอกาสที่จะทำประโยชน์ได้ เพราะระบบสุขภาพมีเรื่องมากมายที่ต้องทำต่อ และเราต้องเข้าใจและเท่ากันการเมืองหากอยากมีระบบสุขภาพที่ดี    

นพ.สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ความขัดแย้งศึกสายเลือดเป็นเรื่องธรรมดา และครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่คนในแวดวงสาธารณสุขเห็นไม่ตรงกัน ซึ่งในการปฏิรูปนั้น ความเห็นต่างนับเป็นเรื่องปกติ และที่ผ่านมาระบบสาธารณสุขมีการปฏิรูปเกิดขึ้น 4 ช่วง คือ

1.สมัยที่ นพ.เสม พริ้งพวงแก้ว เป็น รมว.สาธารณสุข ที่มีการรวมกรมในการบริหารเพื่อให้เกิดประสิทธภาพ 2.การจัดทำระบบสาธารณสุขมูลฐาน ในสมัยที่ นพ.อมร นนทสุต เป็นปลัดกระทรวงสาธารณสุข 3.ช่วงการจัดตั้งสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข โดยมีข้อเสนอจัดตั้ง 4 หน่วยงานสุขภาพ และ 4.การการเดินหน้าจัดตั้งโรงพยาบาลบ้านแพ้ว สิ่งนี้นับเป็นจุดแข็งของสังคมไทย ส่วนเรื่องระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ต้องยอมรับว่าประเทศไทยเดินมาไกลมาก ซึ่งเราพบแนวทางที่จะก้าวไปอย่างยั่งยืน เพียงแต่แนวทางในการบริหารงบประมาณอาจต้องคุยกันเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและความเป็นธรรมมากขึ้น 

นายนิมิตร์ เทียนอุดม แกนนำกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า ขณะนี้ความเหลื่อมล้ำในระบบสุขภาพยังมีอยู่มาก หากยุคแรกของการปฏิรูประบบสุขภาพ คือการจัดตั้งระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ยุคที่ 2 ในสมัย คสช. คือการลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งขณะนี้รัฐธรรมนูญเองเป็นตัวปัญหา ต้องกำหนดให้ประชาชนทุกคนได้รับการดูแล ไม่มีคำจำกัดความว่ายากไร้ ทำให้ระบบสุขภาพอยู่บนหลักการที่ต้องเป็นของคนทุกคน ไม่ใช่แค่คนจนเท่านั้น ทำให้เกิดความรู้สึกว่าเป็นสิทธิที่ไม่ใช่ความใจดีของรัฐ ซึ่งครั้งนี้นับว่าเป็นโอกาสที่มาถึงแล้วที่ทุกคนต้องช่วยกัน เรียกว่าต้องเป็นการสลายวิธีคิดที่ไม่เป็นธรรม

“การปฏิรูปครั้งที่ 2 โอกาสมาแล้ว ภาคประชาชนเคยเสนอวิธีคิดนี้ให้รัฐบาลทุกยุค แต่รัฐบาลที่มาจากพรรคการเมืองจะคำนึงถึงฐานเสียงเป็นหลัก ทำให้ไม่มีใครกล้าปฏิรูปสุขภาพในยุคที่ 2 นี้ ครั้งนี้จึงอาจเป็นโอกาส และหวังว่า รมช.สธ.ที่มาจะเห็นเรื่องนี้และขับเคลื่อนเดินหน้า”

นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ระบบสุขภาพปัจจุบันแตกต่างกับในอดีต โดยอยู่บนสถานการณ์ 4 วิกฤต 5 ปฏิรูป และ 3 คิดใหม่ โดย 4 วิฤตระบบสุขภาพขณะนี้ คือ 1.วิกฤตโรคใหม่ สถานการณ์การเจ็บป่วยที่เปลี่ยนไป 2.วิกฤตระบบบริการ โดยระบบบริการของกระทรวงอยู่ภายใต้การรวมศูนย์ ต้องดูแลบุคลากร 200,000 คน มีหน่วยบริการกว่า 10,600 แห่ง ขณะที่ระบบหลักประกันสุขภาพช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงมากขึ้น ความต้องการมากขึ้น ทำให้ปรับเปลี่ยนได้ยาก 3.ศึกสายเลือด คือ หมอเมือง และหมอชนบท จากมุมมองไม่เหมือนกัน ปัญหาความเหลื่อมล้ำวิชาชีพ แพทย์ พยาบาล ลูกจ้าง และวิกฤตินี้ระส่ำระสาย รวมถึงวิกฤติบุคลากรแพทย์ ผู้ป่วย 4.วิกฤตการนำในระบบสุขภาพ ซึ่งปัจจุบันไม่ได้มีแต่การอภิบาลโดยรัฐ และกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น แต่มีการอภิบาลโดยเอกชน และอภิบาลแบบหุ้นส่วนร่วมด้วย

นพ.อำพล กล่าวว่า ส่วน 5.ทิศทางปฏิรูปสุขภาพ ซึ่งไปตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ มีทิศทางดำเนินการ 5 ประการ 1.ปฏิรูประบบระบบสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค 2.ปฏิรูประบบบริการ 3.ปฏิรูปการผลิตและพัฒนาบุคลากร 4.ปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพและการเงินการคลัง 5.ปฏิรูประบบอภิบาลนโยบาย ส่วน 3 คิดใหม่ คือ 1.ยอมรับระบบสุขภาพแบบพหุรัฐ 2.ยอมรับระบบสุขภาพแบบรัฐ เอกชนและเครือข่าย และ 3.การจัดระบบสุขภาพแบบหุ้นส่วน องค์ประกอบเหล่านี้จะนำไปสู่การสร้างระบบสุขภาพที่ยั่งยืน

ขณะที่ นพ.สัมฤทธิ์ ศรีธำรงสวัสดิ์ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแพ่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการและได้รับการคุ้มครอง แต่มาพร้อมกับการแยกบทบาทผู้จัดบริการและผู้ให้บริการสุขภาพ ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและ สปสช. ที่มาจากระบบโครงสร้างอำนาจที่ไม่ลงตัว ทั้งนี้มองว่าที่ผ่านมา สธ.ยังปรับตัวได้ไม่ดี โดยเฉพาะการทำงานที่เป็นพหุรัฐ ดึงหลายภาคส่วนเข้ามีส่วนร่วม แต่ยังคงใช้ตัวเองเป็นตัวตั้ง และกลายเป็นรากเหง้าปัญหา ทั้งนี้หากกระทรวงสาธารณสุขยังไม่สามารถปรับตัว มองว่าจะทำให้ความขัดแย้งจะยังคงดำเนินต่อไป แต่หากทะลุไปได้ปัญหาขัดแย้งจะคลี่คลายมากขึ้น

“เขตสุขภาพที่ สธ.ดำเนินการอยู่นี้ ส่วนตัวชื่นชมเพราะนโยบายกระจายอำนาจไปสู่หน่วยปฏิบัติด้านล่างจะมีผลเชิงบวกมากกว่าลบ ไม่ว่าจะรูปแบบใด เพราะจะทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการมากขึ้น เช่นเดียวกับการแยกบทบาทระหว่างการซื้อและให้บริการ ยังมีผลบวกมากว่าผลเสีย เพราะจะทำให้มีกลไกการคุ้มครองสิทธิประชาชนมากขึ้น” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว