กรมสุขภาพจิต เผย ทุก 2 ชั่วโมง คนไทยฆ่าตัวตายสำเร็จ 1 คน ชายฆ่าตัวตายมากกว่าหญิง ภาคเหนือยังคงมีการฆ่าตัวตายมากสุด จ.ลำพูน กลับขึ้นมาเป็นอันดับสูงสุดของประเทศอีกครั้ง จ.ปัตตานี ฆ่าตัวตายต่ำสุด 4 จังหวัด “ร้อยแก่นสารสินธุ์” (ร้อยเอ็ด ขอนแก่น มหาสารคาม และกาฬสินธุ์) พบ มีแนวโน้มฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แนะความรู้สึกผูกพัน การสานสัมพันธ์ของสังคม ปัจจัยสำคัญป้องกันการฆ่าตัวตาย

เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 57 นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวว่า วันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก กำหนดจัดขึ้นทุกวันที่ 10 ก.ย.ของทุกปี ตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมาโดยปีนี้รณรงค์ภายใต้แนวคิด"Suicide Prevention : One World Connected" (ทั่วโลกประสานใจ ป้องกันการฆ่าตัวตาย)ซึ่งองค์การอนามัยโลก ได้ประมาณการไว้ว่า ในแต่ละปีจะมีผู้เสียชีวิตด้วยการฆ่าตัวตายมากกว่า 8 แสนรายเฉลี่ย1คน ในทุกๆ40วินาที ซึ่งเป็นจำนวนที่มากกว่าการเสียชีวิตด้วยการฆาตกรรมและสงครามรวมกัน อีกทั้งคาดการณ์ว่า ในปี ค.ศ.2020 (พ.ศ.2563)จะมีคนเสียชีวิต ด้วยปัญหาดังกล่าว1.53ล้านคนโดยได้กำหนดเป้าหมายร่วมกันใน194ประเทศสมาชิก แก้ไขปัญหาและลดอัตราการฆ่าตัวตายลง ให้ได้ถึงร้อยละ10

อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า ในปี 2556 มีคนไทยเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายมากกว่า3,900รายต่อปีคิดเป็นอัตรา6.08ต่อประชากรแสนคน หรือเฉลี่ยเดือนละ328คน ประมาณวันละ10-12คน หรือทุกๆ2ชั่วโมง มีคนไทยฆ่าตัวตายสำเร็จ1คน ผู้ชายฆ่าตัวตายมากกว่าผู้หญิง คิดเป็นอัตรา9.70และ 2.58 ต่อประชากรแสนคน ตามลำดับภาคเหนือ มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงกว่าภาคอื่นๆ(9.99ต่อประชากรแสนคน) จ.ลำพูน กลับมามีอัตราการฆ่าตัวตายของประเทศอีกครั้ง (14.81ต่อประชากรแสนคน) ขณะที่ จ.ปัตตานี มีการฆ่าตัวตายต่ำสุด (1.18ต่อแสนประชากร)วัยผู้ใหญ่ (40-44ปี) ฆ่าตัวตายมากที่สุด การแขวนคอ เป็นวิธีการทำร้ายตนเองที่ถูกเลือกใช้มากถึงร้อยละ66.92 สาเหตุของการฆ่าตัวตาย เกิดจากปัญหาการสื่อสาร ความสัมพันธ์ในครอบครัว ปัญหาเศรษฐกิจ และการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง ในกลุ่มจังหวัดเครือข่าย "ร้อยแก่นสารสินธุ์" ได้แก่ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด และกาฬสินธุ์ พบว่า ในช่วง3ปีที่ผ่านมา อัตราการฆ่าตัวตายของพื้นที่ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปี พ.ศ. 2554อยู่ที่3.9ต่อประชากรแสนคน เพิ่มสูงขึ้นเป็น4.71ต่อประชากรแสนคน ในปี พ.ศ.2556

"ปัญหาการฆ่าตัวตายเป็นเรื่องที่ค่อนข้างซับซ้อน เกิดจากปัจจัยทางด้านจิตวิทยา สังคม ชีววิทยาแต่ก็พบว่ามีเหตุปัจจัยร่วมที่สามารถใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานป้องกันได้ ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ ความรู้สึกผูกพัน หรือการสานสัมพันธ์ของสังคม (Connectedness) มีการศึกษาพบว่า "สังคมที่แปลกแยกมาก" จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย ตรงกันข้าม "ความผูกพันสานสัมพันธ์อย่างแน่นแฟ้น" จะช่วยป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตายได้ ความรู้สึกผูกพันหรือการสานสัมพันธ์ของสังคมเป็นความรู้สึกถึงความใกล้ชิดกับคนอื่น เป็นที่รัก ได้รับความห่วงใย เป็นส่วนหนึ่งของคนอื่น เช่น พ่อแม่ เพื่อนฝูง ครู อาจารย์ คนในชุมชนและสังคม ไม่เพียงแต่ความใกล้ชิดทางร่างกาย หรือการสัมผัสภายนอกเท่านั้น แต่ยังรวมถึง ความรู้สึกผูกพัน อบอุ่นใจว่ายังมีใครอยู่เคียงข้าง แม้ในความเป็นจริงอาจไม่ได้อยู่ร่วมกันหรืออยู่ใกล้กันก็ตาม นอกจากนี้ ยังมีความสัมพันธ์กับภาวะสุขภาพและภาวะทางอารมณ์ที่จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน ทำให้เครียดน้อย ป้องกันโรคเรื้อรัง อีกทั้งยังเกิดเครือข่ายสังคมสุขภาพ ที่ผู้คนสามารถเข้าถึงบริการ ตลอดจน รู้เท่าทันปัญหาสุขภาพของตนเองและครอบครัวได้"อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว

ด้านนพ.ประภาส อุครานันท์ ผอ.รพ.จิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์กล่าวเพิ่มเติมว่า9ใน10จังหวัดแรกที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จต่อแสนประชากรสูงที่สุดอยู่ในเขตภาคเหนือ วัยผู้ใหญ่ อายุระหว่าง40-44ปี ฆ่าตัวตายมากที่สุด(ร้อยละ12.56 )รองลงมา คือ อายุ30-34ปี(ร้อยละ12.36)อายุเฉลี่ยอยู่ที่44ปี อายุต่ำสุด คือ10ปี(จำนวน3ราย ใน จ.นครปฐม สุรินทร์ สุราษฎร์ธานี)อายุสูงสุด อยู่ที่105ปี(จ.แม่ฮ่องสอน)การแขวนคอ เป็นวิธีการทำร้ายตนเอง ที่ถูกเลือกใช้มากที่สุด รองลงมา คือ ใช้ยากำจัดสิ่งรบกวน วัชพืช/ฆ่าแมลง และใช้ปืน ตามลำดับ เดือนเมษายน เป็นเดือนที่ลงมือทำร้ายตนเองสูงสุด

 ส่วนสาเหตุของการฆ่าตัวตายจากการเก็บข้อมูลการพยายามทำร้ายตนเอง พบว่า สาเหตุเกิดจากปัญหาการสื่อสาร ความสัมพันธ์ในครอบครัว ปัญหาเศรษฐกิจ การเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง และพยายามทำร้ายตนเอง ทั้งนี้ ร้อยละ 52.2ก่อนมีการทำร้ายตนเอง จะมีชีวิตโดยส่วนใหญ่เป็นปกติดี แต่เมื่อมีเหตุการณ์สะเทือนใจเข้ามาบีบคั้น จึงตัดสินใจลงมือกระทำในทันที ขณะที่ ร้อยละ47.8จะมีปัญหาชีวิตสะสมมานานและมากจนถึงขีดสุด จนไม่สามารถกลับมาฟื้นคืนพลังความเข้มแข็งทางใจได้ นอกจากนี้ พบว่า ในช่วง1เดือน ก่อนการทำร้ายตนเอง จะถูกคนใกล้ชิด ซุบซิบ ว่าร้ายให้อับอาย ทำให้เสี่ยงต่อการทำร้ายตนเองถึง2.8เท่าของผู้ที่ไม่มีปัญหานี้ และหากมีการดื่มสุราในช่วง30วันที่ผ่านมาจะทำให้เสี่ยงต่อการทำร้ายตนเองเพิ่มขึ้น 2.4เท่า

ผอ.รพ.จิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์กล่าวอีกว่า สำหรับจังหวัดที่อยู่เขตความรับผิดชอบของโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ แม้ภาพรวมเขตบริการสุขภาพที่ 7 มีอัตราการฆ่าตัวตายไม่เกิน 6.5 ต่อประชากรแสนคน เมื่อจัดลำดับตามรายเขตบริการ จะอยู่ที่ลำดับที่ 8 -10 ของเขตบริการสุขภาพ แต่ด้วยความห่วงใย ต่อปัญหา หน่วยบริการสาธารณสุขยังคงมีการติดตามเฝ้าระวังรายงานสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง พบว่า ปี พ.ศ. 2556 อัตราการฆ่าตัวตาย อยู่ที่ 4.71 ประชากรแสนคน อยู่ลำดับที่ 10 ของเขตบริการ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ยแต่ละปี มีคนฆ่าตัวตาย มากกว่า200คน ผู้ชายฆ่าตัวตายมากกว่าผู้หญิง ส่วนใหญ่อายุระหว่าง35 – 39ปี จ.กาฬสินธุ์ มีการฆ่าตัวตายมากที่สุด รองลงมา คือ มหาสารคาม ขอนแก่น และร้อยเอ็ด ตามลำดับ โดยไปเสียชีวิตมากที่สุด ที่กรุงเทพฯ และชลบุรี เมื่อเปรียบเทียบรายจังหวัด พบว่า กาฬสินธุ์ เป็นจังหวัดที่มีอัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มสูงขึ้นถึง6.61ต่อประชากรแสนคน สูงกว่าอัตราการฆ่าตัวตายของประเทศ ที่มีอัตราเฉลี่ยอยู่ที่6.08ต่อประชากรแสนคน เช่นเดียวกับอีก 9 จังหวัด ที่มีลักษณะปัญหาที่คล้ายคลึงกัน ได้แก่ แพร่ กำแพงเพชร ชัยนาท ประจวบคีรีขันธ์ ศรีสะเกษ พังงา และสุราษฎร์ธานี

ทั้งนี้ กรมสุขภาพจิต โดย รพ.จิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ ได้ร่วมกับสำนักเขตบริการสุขภาพที่7จัดกิจกรรมรณรงค์ในวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก ภายใต้ชื่อ "แค่ยิ้ม 2…ฆ่าตัวตายเป็นทางออกของชีวิตหรือไม่?" ในวันที่5-6 ก.ย. 2557 ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัล พลาซา ขอนแก่น