เว็บไซต์สวิสอินโฟ : ถึงแม้ว่าระบบประกันสุขภาพของประเทศสวิตเซอร์แลนด์จะได้รับการจัดอันดับว่าเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพสูงเป็นอันดับต้นๆของโลก แต่ระบบดังกล่าวก็ยังคงมีจุดอ่อนอยู่ ด้วยเหตุนี้จึงมีการตั้งคำถามที่ว่า ประเทศนี้ควรหันมาใช้ระบบประกันสุขภาพแบบกองทุนเดียวหรือไม่ ทั้งนี้การนำรูปแบบประกันสุขภาพที่ใช้อยู่ไปเปรียบเทียบกับระบบประกันสุขภาพในประเทศต่างๆ อาจทำให้เห็นมุมมองแตกต่างที่น่าสนใจ
ขอบคุณภาพจากเวบไซต์ www.internationalcitizens.com
“ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ใช้ระบบประกันสุขภาพภาคบังคับประชาชนทุกคนที่อาศัยอยู่ในประเทศนี้จะต้องจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพให้กับบริษัทประกันเอกชนที่ตนเลือกเอง แต่ที่ผ่านมาชาวสวิตฯต้องจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพที่แพงกว่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ”
ระบบประกันสุขภาพของประเทศสวิตเซอร์แลนด์เป็นระบบที่มีความเสมอภาคโดยมีประชาชนเป็นผู้ชี้นำตลาด แม้จะบังคับให้ประชาชนทุกคนต้องมีประกันสุขภาพ แต่ประชาชนผู้เอาประกันก็มีเสรีภาพในการเลือกทำประกันสุขภาพกับบริษัทเอกชนที่มีให้เลือกมากกว่า 60 บริษัท รูปแบบการดำเนินงานในลักษณะนี้สามารถเป็นต้นแบบให้แก่ประเทศอื่นๆ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งไม่นานมานี้ได้มีการปฏิรูประบบประกันสุขภาพครั้งใหญ่ภายใต้กฎหมายที่สร้างความขัดแย้งภายในประเทศอย่าง Affordable Care Act ซึ่งเป็นกฏหมายประกันสุขภาพที่รู้จักกันในชื่อ “โอบามาแคร์” (Obamacare)
แม้จะเป็นประเทศต้นแบบของระบบประกันสุขภาพดังกล่าว แต่ล่าสุด ประเทศสวิตเซอร์แลนด์กำลังพิจารณาที่จะปฏิรูปไปเป็นระบบประกันสุขภาพแบบกองทุนเดียวซึ่งดำเนินงานโดยรัฐ และกำลังจะจัดให้มีการลงประชามติเพื่อรับรองข้อเสนอดังกล่าวในวันที่ 28 กันยายน 2557 ที่จะถึงนี้
: “โอบามาแคร์”
ภายใต้กฎหมายโอบามาแคร์ รัฐบาลจะจัดสรรงบประมาณอุดหนุนเพื่อให้ประชาชนทุกคนมีประกันสุขภาพ โดยจะดำเนินงานผ่านทางตลาดประกันสุขภาพออนไลน์ และการขยายตัวของ เมดิเคด (medicaid) ซึ่งเป็นระบบประกันสุขภาพสำหรับผู้ที่มีฐานะยากจนที่ครอบคลุมคนที่มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ใน 26 รัฐและกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.
เป้าประสงค์ของโอบามาแคร์คือการขยายประกันสุขภาพให้ครอบคลุมประชากรชาวอเมริกันประมาณ 15% ที่เข้าไม่ถึงบริการด้านสุขภาพ ซึ่งจากผลการศึกษาโดยมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ระบุว่าตั้งแต่เริ่มดำเนินงานจนกระทั่งถึงเดือนตุลาคม 2556 ที่ผ่านมา ผู้ใหญ่ชาวอเมริกันจำนวนกว่า 10.3 ล้านคน เข้าถึงบริการด้านสุขภาพมากขึ้น ในขณะเดียวกัน สวิตเซอร์แลนด์ได้ออกมาอวดอ้างว่าระบบสุขภาพของตนรุดหน้าจนเกือบจะเป็นระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าแล้ว
และนอกจากจะเปรียบเทียบระบบข้อมูลสุขภาพกับสหรัฐอเมริกาแล้ว จากรายงานผลการศึกษาของกองทุนคอมมอนเวลธ์ มูลนิธิเอกชนที่ส่งเสริมให้มีการพัฒนาระบบสาธารณสุขในสหรัฐ ซึ่งเผยแพร่เมื่อเดือนมิถุนายน 2556 ที่ผ่านมา ระบุว่า ประเทศสวิตเซอร์แลนด์มีผลดำเนินงานด้านระบบประกันสุขภาพที่ดีกว่าประเทศพัฒนาแล้วอีก 9 ประเทศที่เข้าร่วมการสำรวจ
ในปัจจุบัน ระบบประกันสุขภาพของสวิตเซอร์แลนด์ ถูกจัดให้เป็นระบบสุขภาพที่ดีที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากระบบสุขภาพแห่งชาติของสหราชอาณาจักร ซึ่งพิจารณาจากความทันต่อเวลาในการรับรู้ปัญหาสุขภาพเป็นข้อแรก ตามมาด้วยความสะดวกในการเข้าถึงบริการตรวจรักษา ความเท่าเทียมของการบริการและการดูแลโดยยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง
.... คำถามคือ ในเมื่อระบบสุขภาพของสวิตเซอร์แลนด์ดีอยู่แล้ว ทำไมจึงต้องปฏิรูปอีก ?
ผลการศึกษาของกองทุนคอมมอนเวลธ์ ไม่ได้ระบุจุดอ่อนของระบบสุขภาพของสวิตเซอร์แลนด์ ที่ผ่านมาประเทศนี้พยายามหากลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพมากำหนดเกณฑ์ในการป้องกันและควบคุมการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง กล่าวคือ มีการจัดทำแนวทางในการดูแลสุขภาพให้แก่คนไข้ทั้งที่มีผลตรวจร่างกายปกติ และคนไข้ที่ผลตรวจร่างกายระบุว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดโรค ส่วนในด้านเวชศาสตร์ป้องกัน คนไข้ต่างได้รับการเตือนและคำแนะนำในการลดน้ำหนักรวมถึงแนวทางในการออกกำลังกายจากแพทย์ผู้ตรวจรักษา คนไข้บางคนก็ใช้ระบบสารสนเทศด้านสุขภาพเพื่อรับสัญญาณแจ้งเตือนจากคอมพิวเตอร์ เกี่ยวกับปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นจากปริมาณและอาการอันไม่พึงประสงค์จากยา
: ระบบประกันสุขภาพราคาถูก
ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ไม่สามารถที่ควบคุมค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขและประสิทธิภาพของการบริการด้านสุขภาพได้ ซึ่งค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพโดยรวมของประเทศนี้สูงถึง 68 พันล้านฟรังก์ (ประมาณ 75.7 พันล้านดอลล่าห์สหรัฐ) และมากกว่า 1 ใน 3 ของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพทั้งหมดถูกจ่ายไปเป็นค่าประกันสุขภาพประเภทพื้นฐาน(ภาคบังคับ) ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของชาวสวิตฯ คิดเป็นร้อยละ11 ของจีดีพี ตามหลังประเทศสหรัฐอเมริกา (ร้อยละ 17) เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมันนี และแคนาดา
นอกจากนี้ สวิตเซอร์แลนด์ยังมีตัวชี้วัดที่ต่ำในบางด้าน อาทิ ความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับความคุ้มครอง เช่น กรณีที่บริษัทประกันปฎิเสธการจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้แก่คนไข้ผู้ถือกรมธรรม์หรือจ่ายน้อยกว่าที่คนไข้คาดหวัง และกรณีที่คนไข้เจ็บป่วยร้ายแรง จนกรมธรรม์ไม่ครอบคลุมค่ารักษาพยาบาลทั้งหมด
การประกันสุขภาพแบบพื้นฐานในสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อต้องเข้ารับการรักษาในแผนกผู้ป่วยนอก บริษัทประกันจะให้ความคุ้มครองค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการรักษาพยาบาลโดยแพทย์ที่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ ส่วนการเข้ารับการรักษาในแผนกผู้ป่วยใน จะคุ้มครองค่าใช้จ่ายในการรักษารวมทั้งการพํานักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลในแผนกผู้ป่วยทั่วไปซึ่งต้องเป็นโรงพยาบาลของรัฐที่อยู่ในเขตที่ผู้ป่วยอาศัยอยู่ และโรงพยาบาลดังกล่าวต้องมีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อสถานพยาบาลของบริษัทประกันด้วย นอกจากนี้เมื่อไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจรักษา จะต้องเสียค่าใช้จ่ายอีกในบางส่วน
ในแต่ละปีชาวสวิตฯจะต้องเสียค่าใช้จ่ายด้านประกันสุขภาพประมาณ 300 - 2,500 ฟรังค์ คือ ผู้ทําประกันจะต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลขั้นต้นต่อปี จํานวน 300 ฟรังค์ และจ่ายอีก 10 % ของใบเสร็จค่ารักษาพยาบาลในส่วนที่เกินจากค่ารักษาพยาบาลขั้นต้น แต่ทั้งนี้ไม่เกิน 700 ฟรังค์ต่อปีสําหรับผู้ใหญ่ (ส่วนที่เหลือทางบริษัทประกันเป็นผู้รับผิดชอบ) นั่นหมายความว่าภายใน 1 ปี นอกจากต้องจ่ายเบี้ยประกันรายเดือนแล้ว ยังต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเอง เป็นจํานวนเงิน (สูงสุด) ไม่เกิน 1,000 ฟรังค์ต่อปี
ด้วยเหตุนี้ การมีส่วนร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาลในสวิตเซอร์แลนด์จึงมีอัตราที่สูงมาก เมื่อเทียบแล้วพบว่าต้องจ่ายมากกว่าในสหรัฐอเมริกาถึงร้อยละ 60 และสูงกว่าค่าเฉลี่ยที่กำหนดโดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือโออีซีดี ถึงเกือบ 3 เท่าตัว นอกจากนี้ยังมีผลการศึกษาที่ระบุด้วยว่า ระบบดังกล่าวใช้เวลามากเกินไปในการจัดการงานด้านเอกสาร การจัดการข้อพิพาทที่เกี่ยวข้องกับค่ารักษาพยาบาล กรรมธรรม์ การเคลมประกัน และการที่คนไข้ร้องขอยาหรือการรักษาที่เกินเงื่อนไขตามกรรมธรรม์
: กำจัดหนี้
ล่าสุด การรณรงค์เพื่อขอเสียงสนับสนุนให้ปฏิรูปไปสู่ระบบประกันสุขภาพแบบกองทุนเดียว ได้มุ่งประเด็นไปที่ภาระค่าใช้จ่ายที่หนักอึ้งและสิทธิประโยชน์ของผู้เอาประกันที่จะเปลี่ยนแปลงไป
ในขณะที่ผู้คัดค้านแนวคิดนี้ กล่าวว่า การปฏิรูปอาจทำให้ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพอาจสูงขึ้นถึง 2.2 พันล้านฟรังค์ ซึ่งทางด้านกลุ่มผู้สนับสนุนก็แย้งว่าระบบนี้จะประหยัดงบบริหารจัดการด้านสาธารณสุขลงได้ถึง 350 ล้านฟรังค์ และในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าก็อาจจะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพโดยรวมลงได้มากกกว่าร้อยละ 10
กลุ่มผู้คัดค้านได้ออกมาเตือนโดยหยิบยกเอากรณีศึกษาของการใช้ระบบสุขภาพแบบกองทุนเดียวของกลุ่มประเทศในยุโรป เช่น ฝรั่งเศสและออสเตรีย มากล่าวอ้าง โดยระบุว่าประเทศเหล่านี้กำลังประสบปัญหาหนักเพราะต้องแบกรับหนี้จากการดำเนินงานมากกว่าพันล้านฟรังค์ และต้องแก้ไขวิกฤตด้านงบประมาณด้วยการขึ้นภาษีหรือปรับลดบริการทางการแพทย์ลด
: กรณีศึกษาระบบประกันสุขภาพแบบกองทุนเดียวในประเทศอื่นๆ
โธมัส เซล์ทเนอร์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานสาธารณสุขแห่งชาติ กล่าวว่า “รูปแบบระบบประกันสุขภาพแบบกองทุนเดียวในประเทศแคนาดาหรือออสเตรเลีย ซึ่งกองทุนคอมมอนเวลธ์ได้จัดอันดับให้เป็นระบบสุขภาพที่ดีเป็นอันดับที่ 10 และ 4 ไม่ใช้ต้นแบบของระบบสุขภาพที่สวิตเซอร์แลนด์ต้องการ ทั้งนี้สวิตเซอร์แลนด์ควรไปศึกษาต้นแบบจากระบบสุขภาพแห่งชาติ(เอ็นเอชเอส)ของสหราชอาณาจักรมากกว่า”
“ปัจจุบันชาวสวิตฯ ต่างก็พอใจในระบบสุขภาพที่ใช้อยู่ ซึ่งจากผลการสำรวจล่าสุดโดย จีเอฟเอส.เบิร์น ระบุว่า ประชาชนร้อยละ 81 % พึงพอใจระบบประกันสุขภาพที่ใช้ในปัจจุบัน แม้จะมีปัญหาในการใช้บริการอยู่บ้าง เช่น ต้องรอนาน และต้องเจอกับเงื่อนไขหรือข้อกำจัดในการบริการ แต่อย่างไรก็ตาม สวิตฯสามารถเรียนรู้เพิ่มเติมจากเอ็นเอชเอสได้ โดยเฉพาะเรื่องประสิทธิภาพและประสิทธิผลของระบบ” มร.เซล์ทเนอร์ ซึ่งดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาองค์การอนามัยโลก, คณะรัฐมนตรีของสวิตฯ และเป็นประธานของบริษัทประกันสุขภาพ เคพีที กล่าว
มร.เซล์ทเนอร์ กล่าวเสริมต่อไปว่า “จากผลการศึกษาของกองทุนคอมมอนเวลธ์ พบว่า ผู้ป่วยในสหราชอาณาจักรได้รับการดูแลที่เพียบพร้อม มีการตรวจเช็คสุขภาพที่เป็นระบบ แล้วยังได้รับข้อมูลในการป้องกันสุขภาพจากแพทย์ผู้รักษา จริงๆแล้วผมเชื่อว่าระบบประกันสุขภาพของเรา สามารถที่จะมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่านี้ได้อย่างแน่นอน แต่คงต้องผ่านการพัฒนาเรื่องการประสานงาน รวมทั้งต้องบูรณาการการบริหารจัดการและการส่งต่อคนไข้ให้ดียิ่งขึ้น"
: ความท้าทายที่ยิ่งใหญ่
จากผลการสำรวจของสมาคมเภสัชกรรม “อินเตอร์ฟาร์มา” ซึ่งเผยแพร่เมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา พบว่าร้อยละ 49 ของผู้มีสิทธิออกเสียง สนับสนุนให้เปลี่ยนระบบประกันสุขภาพไปเป็นระบบสาธารณสุขแบบกองทุนเดียว และในวันที่ 28 กันยายนนี้ หากชาวสวิตเซอร์แลนด์ลงประชามติรับรองข้อเสนอดังกล่าว ผู้บริหารของประเทศนี้จะต้องเจอกับปัญหาหนักเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างหลักที่สำคัญและการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมครั้งใหญ่
จากข้อเขียนขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ โออีซีดี ซึ่งได้ทบทวนระบบสุขภาพของสวิตเซอร์แลนด์เมื่อปี 2011 ระบุว่า “การเปลี่ยนจากระบบที่มีผู้รับประกันหลายราย ไปเป็นระบบที่มีผู้รับประกันหลักรายเดียว นับเป็นความท้าทายครั้งยิ่งใหญ่ แต่จากกรณีศึกษาของประเทศเกาหลีใต้ ทำให้เราเห็นแล้วว่า การควบรวมที่นำไปสู่ระบบสุขภาพแบบกองทุนเดียวสามารถเป็นไปได้จริงด้วยขั้นตอนอันชาญฉลาด"
ถึงแม้ว่า ช่วงเวลาต่อจากนี้ไปประเทศสวิตเซอร์แลนด์ซึ่งคุ้นเคยกับระบบประกันสุขภาพที่มีผู้รับประกันหลายรายมานานกว่า 100 ปี จะต้องเจอกับสถานการณ์ที่ยากลำบาก ไม่ว่าจะเป็นแรงต้านจากการปรับเปลี่ยนระบบซึ่งเคยเป็นจุดแข็งที่ประชาชนส่วนมากพึงพอใจและเคยชิน ยังมีประเด็นที่ภาครัฐจะต้องคิดทบทวนอีกหลายด้าน ซึ่งนอกเหนือจากรายจ่ายจำนวนมหาศาลที่ต้องใช้ลงทุนแล้ว ภาครัฐจะทำอย่างไรกับพนักงานและเจ้าหน้าที่ซึ่งทำงานอยู่ในบริษัทประกันสุขภาพของเอกชนที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบัน…
ผู้เขียน : ไซมอน แบรดลีย์, สวิส อินโฟ (Simon Bradley, www.swissinfo.ch)
- 1361 views