จากที่มีการพบขวดทดลองที่มีลักษณะแห้งและแช่แข็งบรรจุเชื้อไข้ทรพิษจำนวน 6 ขวด เก็บอยู่ในกล่องในห้องเก็บของที่มีการควบคุมอุณหภูมิไว้ที่ 5 C. ของสถาบันเพื่อสุขภาพแห่งชาติอเมริกา (National Institutes of Health: NIH) ในสังกัดองค์การอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA) ในเบเธสดา รัฐแมรีแลนด์ เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2557 ที่ผ่านมา สร้างความตระหนกแก่ประชาชนที่ทราบข่าว เนื่องจากความกลัวว่าจะมีการนำเชื้อไข้ทรพิษเป็นอาวุธชีวภาพ ทำให้มีการกำหนดมาตรฐานการเก็บรักษาเชื้อไวรัสไข้ทรพิษหรือฝีดาษ ว่าจะต้องถูกเก็บรักษาไว้ใน BSL-4 หรือแล็บความปลอดภัยด้านชีวภาพระดับ 4 แต่ห้องเก็บของที่พบกล่องบรรจุขวดเชื้อไวรัสฝีดาษไม่เข้ามาตรฐานความปลอดภัยขั้นสูง ทำให้มีการสอบสวนที่มาที่ไปของขวดตัวอย่างที่พบและนำเข้าสู่ระบบการทำลายเชื้อ เพื่อให้เกิดความแน่ใจว่าจะไม่มีการนำไปใช้ในทางที่ผิด อันเนื่องมาจากความรุนแรงของโรคที่เคยปรากฏในอดีตที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ไข้ทรพิษหรือฝีดาษเป็นโรคติดต่อร้ายแรง มีลักษณะเฉพาะคือมีผื่นขึ้นตามตัว ไข้สูง ปวดศีรษะ ชัก และอาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อน มีอัตราการเสียชีวิต 30% เกิดจากเชื้อไวรัส แบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ ไข้ทรพิษชนิดร้ายแรง เกิดจากเชื้อ “วาริโอลา เมเจอร์” (Variola major or classical smallpox) และไข้ทรพิษชนิดอ่อน ซึ่งมีความรุนแรงน้อยกว่าชนิดแรก เกิดจากเชื้อ “วาริโอลา ไมเนอร์” (Variola minor or alastrim)
การระบาดของฝีดาษในยุโรป (ขอบคุณภาพจากวิกิพีเดีย)
มีหลักฐานที่ทำให้เชื่อว่าฝีดาษเกิดขึ้นมานานกว่า 10,000 ปีก่อนคริสตกาล จากการตรวจพบ มัมมี่ของฟาโรห์ รามเสส ที่ 5 แห่งอียิปต์โบราณ สวรรคตด้วยโรคฝีดาษ เมื่อ 1,145 ปี ก่อนคริสตกาล ฝีดาษเป็นโรคประจำถิ่นของบางประเทศในเอเชีย คือ บังกลาเทศ อินเดีย และประเทศเอธิโอเปียในทวีปอาฟริกา ทั้งยังพบได้ทั่วยุโรป รวมถึงในจีน และเป็นสาเหตุหลักของการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตของประชากรในหลายประเทศ คาดว่าเชื้อแพร่เข้าสู่ประเทศจีนในช่วงศตวรรษที่ 1 และแพร่กระจายจากจีนเข้าสู่ญี่ปุ่นในศตวรรษที่ 6 ทำให้เกิดการระบาดครั้งใหญ่ในญี่ปุ่นในปี ค.ศ. 735-737 ส่งผลให้ประชากร 1 ใน 3 ของประเทศในขณะนั้นเสียชีวิต เช่นเดียวกันกับทางทวีปยุโรป ที่เชื้อได้แพร่กระจายเข้าสู่ประเทศต่างๆ ในยุโรป ตั้งแต่ศตวรรษที่ 2 จนถึงศตวรรษที่ 16 มีการระบาดครั้งใหญ่ทั่วโลก ในช่วงกลางศตวรรษที่ 18 โดยในยุโรปแต่ละปีจะมีผู้เสียชีวิตประมาณ 400,000 ราย เด็กแรกเกิดในสวีเดนราว 10% เสียชีวิตทุกปี จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1796 ( พ.ศ. 2339) เอ็ดวาร์ด เจนเนอร์ (Edward Jenner) แพทย์ชาวอังกฤษได้คิดค้นวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษขึ้นและทำการทดลองใช้เพื่อป้องกันการติดเชื้อโรคฝีดาษ ในระยะแรกยังไม่ได้เป็นที่ยอมรับในวงการแพทย์ จนกระทั่ง พ.ศ. 2343 รัฐสภาอังกฤษถึงได้รับรองผลงานวัคซีนของเจนเนอร์ พร้อมทั้งมอบเงิน 10,000 ปอนด์ เพื่อให้ผลิตวัคซีน และค้นคว้าเรื่องวัคซีน ทำให้มีการใช้วัคชีนเป็นที่แพร่หลาย ส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยในยุโรปและอเมริกาเหนือลดลง
ในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 เกิดการระบาดของโรคฝีดาษจากไวรัสทั้ง 2 ชนิดพร้อมกัน ในหลายพื้นที่ทั้งในยุโรปและอาฟริกา ทำให้มีผู้เสียชีวิตราว 300-500 ล้านคน โดยข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกระบุว่า ในปี 1967 มีผู้เสียชีวิตจากฝีดาษถึง 15 ล้านคน ที่สหรัฐอเมริกา มีการระบาดของฝีดาษที่รัฐเท็กซัส ในปี ค.ศ. 1949 ซึ่งต่อมาในปี ค.ศ. 1975 โรคฝีดาษได้ถูกกวาดล้างไปจากสหรัฐอเมริกา เช่นเดียวกันกับประเทศอังกฤษ ที่มีการระบาดระหว่างปี ค.ศ. 1923-1934 มีจำนวนผู้ป่วย 15,000 คน
การติดเชื้อฝีดาษของชาวอเมริกันอินเดียนจากชาวยุโรป (ขอบคุณภาพจากวิกิพีเดีย)
จากการรณรงค์ฉีดวัคซีนกวาดล้างโรคฝีดาษ ตลอดศตวรรษที่ 19-20 โดยการประสานงานขององค์การอนามัยโลก เริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ. 1967-1975 (พ.ศ. 2510-2518) ทำให้ผู้ป่วยฝีดาษทั่วโลกลดลงอย่างมาก ตามรายงานขององค์การอนามัยโลกแจ้งว่ามีผู้ป่วยเป็นโรคฝีดาษรายสุดท้าย เกิดขึ้นที่ ประเทศโซมาเลีย เมื่อวันที่ 26 ต.ค. พ.ศ.2520 ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศว่า ฝีดาษถูกกวาดล้าง (eradicate) หมดไปจากโลกในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2523 และได้มีการแจ้งในการประชุมสมัชชาองค์การอนามัยโลก ว่ามีผู้ปวยเสียชีวิตด้วยฝีดาษ 1 คน เป็นเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวของกับเชื้อโรคฝีดาษในห้องปฏิบัติการของมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม ประเทศอังกฤษ ในปีพ.ศ. 2521 แม้ว่าโรคจะถูกกวาดล้างไปแล้ว แต่เชื้อไวรัสฝีดาษยังถูกเก็บไว้ในหองปฏิบัติการและอยูในความดูแลอย่างเข้มงวดที่ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคแห่งชาติ (CDC) เมืองแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย ประเทศสหรัฐอเมริกาและที่ State Research Centre of Virology and Biotechnology เมืองโคลทโซโวแควนโนโวซีบีสค สหพันธ์สาธารณรัฐ รัสเซีย ซึ่งหนวยงานทั้ง 2 แห่งในประเทศนี้ได้รับอนุญาตจาก WHA ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2542 ให้เป็นที่เก็บไวรัส Variola ที่มีชีวิตเพื่อนํามาใช้ในการศึกษาวิจัยในกรณีที่อาจมีโรคฝีดาษอุบัติใหมขึ้นมา
การระบาดในไทย
การเกิดโรคฝีดาษในไทย ปรากฏมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ดังปรากฎในพระราชพงศาวดารสมัยกรุงศรีอยุธยาว่า มีพระมหากษัตริย์ไทยสวรรคตด้วยฝีดาษ 2 พระองค์ ได้แก่ สมเด็จพระบรมราชาที่ 4 หน่อพุทธางกูร พระมหากษัตริย์ ลำดับที่ 11 ของกรุงศรีอยุธยา ทรงพระประชวรด้วยโรคไข้ทรพิษ และเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 2076 และสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้ประชวรที่เมืองหาง (เมืองห้างหลวง ในรัฐฉาน) เป็นฝีละลอกขึ้นที่พระพักตร์ กลายเป็นพิษ และสวรรคต เมื่อ 25 เมษายน 2148 ซึ่งตรงกับช่วงศตวรรษที่ 16 มีการระบาดครั้งใหญ่ทั่วโลก และยังมีการระบาดในพ.ศ. 2292 สมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ที่ทำให้มีคนตายมาก
การปลูกฝีครั้งแรก (ขอบคุณภาพจากวิกิพีเดีย)
ในสมัยรัตนโกสินทร์ มีการระบาดของฝีดาษเช่นกัน จากบันทึกของหมอบรัดเลย์ ที่ระบุว่าในสมัยรัชกาลที่ 3 มีการระบาดของฝีดาษอย่างหนัก ทำให้หมอบรัดเลย์ริเริ่มการปลูกฝีบำบัดโรคฝีดาษเป็นครั้งแรกในไทยในวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2379 โดยใช้เชื้อหนองฝีโคที่นำเข้ามาจากอเมริกา และได้เขียนตำราชื่อ “ตำราปลูกฝีให้กันโรคธระพิศม์ไม่ให้ขึ้นได้” ปรากฏมาจนถึงทุกวันนี้
ในระยะ พ.ศ. 2460 – 2504 ยังมีการระบาดของฝีดาษเกิดขึ้นทุกปี โดยเฉพาะในปี พ.ศ. 2488 – 2489 ช่วงการเกิดสงครามมีการระบาดของฝีดาษครั้งใหญสุดเริ่มต้นจากเชลยพม่าที่ทหารญี่ปุ่นจับมาสร้างทางรถไฟสายมรณะข้ามแม่นํ้าแควป่วยเป็นไข้ทรพิษและแพร่ไปยังกลุ่มกรรมกรไทยจากภาคต่างๆที่มารับจ้างทํางานในแถบนั้น เมื่อแยกย้ายกันกลับบ้าน ได้นําโรคกลับไปแพร่ระบาดใหญ่ทั่วประเทศ มีผู้ป่วยมากถึง 62,837 คน และเสียชีวิต 15,621 คน
การระบาดเกิดขึ้นอีกครั้งในปี พ.ศ. 2502 ทำให้มีผู้ป่วย 1,548 คน ตาย 272 คน และการระบาดครั้งสุดท้ายมีการบันทึกไว้ว่าเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2504 ที่อําเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย มีผู้ป่วย 34 ราย ตาย 5 ราย โดยรับเชื้อมาจากรัฐเชียงตุงของพม่า ทำให้กระทรวงสาธารณสุขเริ่มโครงการกวาดล้างไข้ทรพิษหรือฝีดาษในประเทศไทย รณรงค์ปลูกฝีป้องกันโรค จนปีพ.ศ. 2523 องค์การอนามัยโลกได้ประกาศว่าฝีดาษได้ถูกกวาดล้างแล้วจึงหยุดการปลูกฝีป้องกันโรค และนับแต่นั้นมาไม่เคยปรากฏว่ามีฝีดาษเกิดขึ้นในประเทศไทย
เอกสารอ้างอิง
กรุงศรีอยุธยาและความเป็นไปของกรุงศรีอยุธยาตอนปลายก่อนจะเสียกรุง. [Online], สืบค้นเมื่อ 23 สิงหาคม 2557, จาก http://3king.lib.kmutt.ac.th/KingTarksinCD/chapter2/page19.html
โรคโบราณของไทย. [Online], สืบค้นเมื่อ 23 สิงหาคม 2557, จาก http://www.reurnthai.com/index.php?topic=3127.15
พระมหากษัตริย์ไทยสมัยอยุทธยา. [Online], สืบค้นเมื่อ 24 สิงหาคม 2557,จาก http://student.nu.ac.th/naruto_nu.com/king4.htm
โรคไข้ทรพิษ : ฝีดาษ. [Online], สืบค้นเมื่อ 24 สิงหาคม 2557,จาก http://beid.ddc.moph.go.th/media/ BEID_Media_6283.pdf
เอ็ดเวิร์ด เจนเนอร์ (Edward Jenner). [Online], สืบค้นเมื่อ 23 สิงหาคม 2557,จาก http://allknowledges.tripod.com/scientist.html
- 8765 views