เดอะ การ์เดียน : แพทย์ทั่วไปสั่งจ่ายยาต้านเชื้อแบคทีเรียให้แก่คนไข้แม้กระทั่งในรายที่ไม่มีความจำเป็นเพราะคนไข้ร้องขอ และบางครั้งก็จ่ายยาเพื่อหวังให้ครอบคลุมกรณีที่การวินิจฉัยโรคมีความไม่แน่นอน ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่า เกือบครึ่งของแพทย์ทั่วไปในประเทศอังกฤษ จ่ายยายาปฏิชีวนะให้แก่คนไข้ที่เข้ารับการรักษา แม้จะตระหนักดีว่ายาปฏิชีวนะนั้นไม่ได้ช่วยบรรเทาอาการป่วยของคนไข้เลย
และกว่าร้อยละ 90 ของแพทย์ที่ตอบแบบสอบถาม กล่าวว่า พวกเขารู้สึกกดดันเวลาถูกคนไข้ขอร้องให้ช่วยสั่งจ่ายยาปฏิชีวนะ
ผลการสำรวจพบ แพทย์อังกฤษสั่งจ่ายยาปฎิชีวนะเกินความจำเป็นเพราะถูกคนไข้ร้องขอ / ภาพประกอบโดย : เฮเลน เซสชั่น/อลามี
ทีมสำรวจ เดอะลองติจูด ไพรซ์ ได้รวบรวมคำตอบจากแพทย์ทั่วไปในสหราชอาณาจักรจำนวนกว่า 1,004 คน และพบว่า ร้อยละ 28 สั่งจ่ายยาปฏิชีวนะ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์แม้จะไม่แน่ใจว่ามีความจำเป็นทางการแพทย์หรือไม่ ในขณะที่ร้อยละ 45 สั่งจ่ายยายาปฏิชีวนะทั้งๆ ที่รู้ว่ายานี้ไม่ได้ช่วยบรรเทาอาการเจ็บป่วยของคนไข้เลย
ผลการสำรวจดังกล่าวได้รับการเผยแพร่ หลังจากทีมผู้เชี่ยวชาญจากกระทรวงสาธารณสุขของอังกฤษและยูนิเวอร์ซิตี้ คอลเลจ ลอนดอน พบว่า ไม่กี่ปีที่ผ่านมา จำนวนของผู้ป่วยที่ได้รับยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาอาการเจ็บป่วยเล็กๆน้อยๆ ในอังกฤษได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ซึ่งจากผลการศึกษาที่ได้รับการตีพิมพ์ใน “เจอร์นัล ออฟ แอนตีไมโครเบียล คีโมเทอราปี” วารสารทางการแพทย์ด้านโรคติดเชื้อของอังกฤษ ระบุว่า ในปี 1999 คนไข้ร้อยละ 36 ได้รับยาปฏิชีวนะเพื่อบรรเทาไข้และรักษาอาการไอ แต่ต่อมาในปี 2011 สถิติคนไข้ที่ได้รับยาปฏิชีวนะเพื่อบรรเทาไข้และอาการไอได้เพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 51
และเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา นายเดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีของอังกฤษ ได้ออกแถลงการณ์ซึ่งระบุว่า การดื้อยาปฏิชีวนะของแบคทีเรียเป็นภัยคุกคามที่ต้องเฝ้าระวัง พร้อมกันนี้ยังได้ให้คำมั่นว่า สหราชอาณาจักรจะเป็นผู้นำในการต่อสู้กับแบคทีเรียดื้อยาก่อนที่มันจะทำให้ทั่วโลกต้องเข้าสู่ยุคมืดของการสาธารณสุข
ล่าสุด ในปีนี้คาดว่า เดอะลองติจูด ไพรซ์ โครงการสำรวจที่ได้รับเงินอุดหนุนถึง 10 ล้านปอนด์ จะสามารถเผยแพร่ผลการศึกษาพร้อมทั้งเดินหน้าคิดค้นชุดทดสอบการติดเชื้อแบคทีเรียที่มีประสิทธิภาพและต้นทุนต่ำ ซึ่งแพทย์ทั่วไปสามารถนำมาใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจว่าจะสั่งจ่ายยาปฏิชีวนะหรือไม่
กว่าร้อยละ 70 ของแพทย์ทั่วไปที่ร่วมตอบแบบสอบถามในโครงการนี้ ระบุว่าที่ผ่านมาสั่งจ่ายยาปฏิชีวนะไปเพราะไม่แน่ใจว่าคนไข้ติดเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรีย และกว่าร้อยละ 24 ชี้แจงสาเหตุว่าเป็นเพราะขาดแคลนเครื่องมือในการวินิจฉัยที่ง่ายต่อการใช้งาน
แพทย์หญิงโรสแมรี่ ลีโอนาร์ด กล่าวว่า เธอเข้าใจดีถึงความกดดันที่แพทย์ทั่วไปต้องเผชิญเมื่อต้องสั่งจ่ายยาปฏิชีวนะทั้งๆ ที่ไม่มีความจำเป็น
“ยิ่งจ่ายยาปฏิชีวนะไปมากเท่าไหร่ จำนวนคนไข้ที่ดื้อต่อยาปฏิชีวนะก็จะเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น ภาวะเชื้อแบคทีเรียดื้อต่อยาปฏิชีวนะคือปัญหาเฉพาะหน้าที่จะต้องได้รับการแก้ไขและป้องกัน เพื่อจะได้มียาปฏิชีวนะที่ใช้ได้ผลในอนาคต”
“บทบาทของแพทย์ในการตรวจวินิจฉัยคือปัจจัยสำคัญที่จะแก้ไขปัญหานี้ได้ ไม่ใช่เพียงแค่วินิจฉัยได้ว่าคนไข้ติดเชื้อโรคอะไร แต่แพทย์ต้องร่วมมือกันเพื่อรวบรวมสถิติที่มีนัยยะสำคัญและช่วยกันเฝ้าระวังพร้อมกันทั่วโลก” แพทย์หญิงลีโอนาร์ด กล่าว
ทามาร์ กอช หัวหน้าทีมสำรวจเดอะลองติจูด ไพรซ์ กล่าวว่า เครื่องมือในการวินิจฉัยที่แม่นยำจะช่วยให้ทั่วโลกสามารถลดการใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็นลงได้
“ใน 5 ปีข้างหน้า เดอะลองติจูด ไพรซ์ ตั้งเป้าไว้ว่า เราจะคิดค้นชุดตรวจที่มีประสิทธิภาพ ราคาถูก และสามารถนำไปใช้ที่ไหนก็ได้ทั่วโลก เพราะเราตระหนักดีว่าการสกัดกั้นการใช้ยาปฏิชีวนะที่เกินความจำเป็นและการใช้ที่ผิดวิธี เป็นเพียงส่วนหนึ่งของจิ๊กซอว์ที่จะชะลอการดื้อยาปฏิชีวนะของเชื้อแบคทีเรียลง แต่อย่างไรก็ตาม เราเชื่อว่านี่คือก้าวย่างที่สำคัญ เพราะหลายปีมาแล้วที่พวกเรารอคอยการแก้ปัญหาด้วยวิธีต่างๆ รวมทั้งรอยาปฏิชีวนะตัวใหม่ออกวางตลาด”
ทั้งนี้ เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา พอพพูลัส ที่ปรึกษาด้านการวิจัยและกลยุทธ์ ได้รายผลการศึกษาที่ลงไปสอบถามจากคนไข้จำนวนกว่า 1,074 คน โดยระบุว่า พบคนไข้เพียงร้อยละ 6 เท่านั้นที่ตอบว่าเคยขอร้องให้แพทย์ทั่วไปสั่งจ่ายยาปฏิชีวนะให้ ตัวเลขดังกล่าวขัดแย้งกับผลการสำรวจที่ได้จากการสอบถามแพทย์ทั่วไปซึ่งตอบว่ามีคนไข้จำนวนมากกดดันแพทย์ให้จ่ายยาปฏิชีวนะให้
- 4 views