ในฐานะที่เป็นหมออนามัยนักพัฒนา แม้ว่าจะทำงานในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่เป็นเพียงหน่วยบริการรักษาพยาบาลแห่งเล็กๆ ในจังหวัดปทุมธานี แต่กลับยังคงแนวคิดและความมุ่งมั่นในการพัฒนาศักยภาพหน่วยบริการอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำไปสู่การดูแลประชาชนในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และการเสนอให้ “รพ.สต.หลักหก ออกนอกระบบ” เป็นอีกแนวคิดหนึ่งที่น่าสนใจ
นายนิติพัฒน์ วงศ์ศิริธร
นายนิติพัฒน์ วงศ์ศิริธร ผู้อำนวยการ รพ.สต.หลักหก กล่าวว่า โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลนับเป็นหน่วยบริการรักษาพยาบาลที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด กระจายอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ช่วยให้ประชาชนที่เจ็บป่วยด้วยโรคไม่ซับซ้อนสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ง่าย สะดวกและรวดเร็ว ทั้งยังมีหน้าที่ในการส่งเสริมและป้องกันโรค ซึ่งที่ผ่านมา รพ.สต.หลักหก ได้ดำเนินการตามบทบาทนี้ แต่จากสถานที่ตั้งของ รพ.สต.หลักหก ที่อยู่ใกล้กับเขตเมือง โดยตั้งอยู่ที่อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี ส่งผลให้มีจำนวนประชากรที่ต้องดูแลและเข้ารับบริการจำนวนมาก จำเป็นที่ รพ.สต.หลักหก ต้องเพิ่มศักยภาพในการบริการประชาชนมากขึ้น
นายนิติพัฒน์ กล่าวว่า แต่การขยายศักยภาพการบริการของ รพ.สต.หลักหกที่ผ่านมากลับประสบปัญหาด้วยข้อจำกัด กฎระเบียบและกรอบอัตรากำลังบุคลากรต่างๆ ทำให้ไม่สามารถเดินหน้าได้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน คือ ข้อจำกัดกำลังคน อย่างพยาบาลวิชาชีพมีการกำหนดให้มีเพียง รพ.สต.ละ 2 คน และการที่ รพ.สต.หลักหกจะขออัตราพยาบาลวิชาชีพเพิ่มเติม นับเป็นเรื่องที่ยาก เพราะส่วนกลางคงต้องเกลี่ยตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพไปยัง รพ.สต.ที่ยังไม่มีพยาบาลวิชาชีพหรือมีเพียง 1 คนก่อน ขณะที่การว่าจ้างเองก็ไม่สามารถทำได้เพราะติดในเรื่องงบประมาณ ด้วยเหตุนี้จึงมีแนวคิดที่จะเสนอให้ รพ.สต.หลักหกออกนอกระบบ เพื่อให้สามารถบริหารจัดการเองได้ โดยให้เป็น รพ.สต.ในโครงการนำร่องออกนอกระบบแห่งที่ 2 ต่อจาก รพ.สต.ลาดสวาย ที่ จ.ปทุมธานีเช่นกัน
“ไม่ใช่ รพ.สต.ทุกแห่งจะออกนอกระบบได้ ขึ้นอยู่กับบริบทแต่ละพื้นที่ แต่ที่ รพ.สต.หลักหกสามารถทำได้นั้น เพราะเราเป็น รพ.สต.ในเขตเมือง มีผู้มีสิทธิ์ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ขึ้นทะเบียนยังหน่วยบริการมากพอ โดยมีจำนวนถึง 1.2 หมื่นคน นับเป็นงบรายหัวที่มากพอที่จะบริหาร หากได้รับงบประมาณจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โอนตรงมายังหน่วยบริการ นอกจากนี้ด้วยที่ตั้ง รพ.สต.ยังอยู่ใกล้มหาวิทยาลัยรังสิต ทำให้มีประชากรแฝงที่เข้ารับบริการรักษาพยาบาลอีก 3-4 หมื่นคน ทำให้ รพ.สต.สามารถบริหารนอกระบบได้” ผอ.รพ.สต.หลักหก กล่าวและว่า นอกจากปัจจัยด้านประชากรที่มีผลต่องบประมาณแล้ว ในบริบทที่ตั้ง รพ.สต.หลักหกที่เริ่มเป็นเขตเมือง และกำลังจะมีรถไฟฟ้าตัดหน้า รพ.สต. ซึ่งจะทำให้จำนวนประชากรในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น นั่นหมายถึงจำนวนประชากรที่ รพ.สต.หลักหกต้องดูแล ด้วยเหตุนี้จึงเป็นต้องปรับตัวเพื่อให้การบริการครอบคลุมประชากรในพื้นที่เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน นอกจากนี้ยังต้องสร้างความเชื่อมั่นในบริการแข่งกับภาคเอกชน
นายนิติพัฒน์ กล่าวว่า หากออกนอกระบบได้ รพ.สต.หลักหก จะเป็นหน่วยบริการย่อยที่รับรักษาเฉพาะผู้ป่วยนอก มีแพทย์ประจำ เภสัชกร นักกายภาพบำบัด และนักการแพทย์แผนไทย ที่ให้บริการใน รพ.สต. ควบคู่กับการออกเยี่ยมบ้านเพื่อดูแลผู้ป่วยติดเตียง ซึ่งปัจจุบัน รพ.สต.หลักหก มีผู้ป่วยติดเตียงที่อยู่ในการออกเยี่ยมบ้านดูแล 40-50 ราย และหากจำนวนประชากรหนาแน่นขึ้นตามเมืองที่เริ่มขยาย เชื่อว่าจะมีผู้ป่วยที่ รพ.สต.หลักหกต้องดูแลเพิ่มขึ้นเช่นกัน ดังนั้นจำเป็นที่หน่วยบริการต้องปรับตัวเพื่อให้ทันกับสภาวะการณ์ที่เปลี่ยนแปลง ทั้งนี้หลังจากที่ รพ.สต.ออกนอกระบบแล้ว เชื่อว่าจะเห็นผลเปลี่ยนแปลงใน 3-4 ปี โดยการเข้าถึงบริการของประชาชนจะเป็นตัวชี้วัดผลงาน
“ที่ผ่านมาได้เคยนำเสนอแนวคิดนี้ต่อผู้ใหญ่แล้ว ขอเป็น รพ.สต.นำร่องออกนอกระบบแห่งที่ 2 ต่อจาก รพ.สต.ลาดสวาย โดยนำเสนอต่อท่านสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) และผู้อำนวยการโรงพยาบาลปทุมธานี ในฐานะที่เป็นหน่วยบริการแม่ข่าย ซึ่งท่านก็ไม่ได้ปฏิเสธเพราะเห็นว่ามีความพร้อมและอยากให้ลองดู เพียงแต่อยากให้รอความชัดเจนด้านนโยบายก่อน รวมถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขคนใหม่ว่าจะมีทิศทางนโยบายอย่างไร” ผอ.รพ.สต.หลักหก กล่าวและว่า อย่างไรก็ตามในช่วงที่กระทรวงสาธารณสุขมีการเดินหน้าเขตสุขภาพ โดยรวมบริการจัดการระดับเขต ยอมรับว่าอาจทำให้การเสนอให้ รพ.สต.หลักหกออกนอกระบบเป็นเรื่องที่ยาก แต่ก็อยากนำเสนอเพื่อเป็นทางเลือกหนึ่งของหน่วยบริการในสังกัดที่ยึดประโยชน์ผู้ป่วยและประชาชนเป็นที่ตั้ง
ส่วนที่เกรงว่า หากให้ รพ.สต.หลักหกออกนอกระบบแล้ว จะทำให้มี รพ.สต. ในสังกัด สธ.เสนอขอออกนอกระบบตามมาเช่นกันนั้น นายนิติพัฒน์ กล่าวว่า แม้ว่าการที่ รพ.สต.ออกนอกระบบจะทำให้เกิดความคล่องตัวในทางบริหารจัดการ เพราะทางหน่วยบริการสามารถดำเนินการงานและบริหารโครงการต่างๆ ได้เอง โดยไม่ต้องรอการอนุมัติจากส่วนกลาง ไม่ต้องรองบประมาณจากหน่วยบริการต้นสังกัด รวมไปถึงการอนุมัติจัดจ้างบุคลากรที่ติดกรอบหลักเกณฑ์สำนักงานข้าราชการพลเรือน แต่การออกนอกระบบนี้ยังทำให้มีภาระในการทำงานเพิ่มขึ้น เพราะหน่วยบริการต้องดำเนินการเองทั้งหมดเหมือนกับโรงพยาบาล เพียงแต่รับดูแลเฉพาะผู้ป่วยนอก ไม่มีผู้ป่วยใน ทั้งการจัดระบบผู้ป่วยนอก การจัดระบบตามจ่าย การทำงานเชิงรุกออกเยี่ยมบ้านที่ต้องให้ทั่วถึง การดำเนินงานส่งเสริมและป้องกันโรค เป็นต้น ที่ล้วนแต่ต้องพัฒนามาตรฐานโดยแข่งขันกับตัวเองเพื่อให้ประชาชนเชื่อมั่นและเข้ารับบริการ ทำให้ รพ.สต.สามารถอยู่ได้
“ตอนนี้คิดว่า รพ.สต.ส่วนใหญ่ คงไม่อยากออกนอกระบบ เนื่องจากการออกนอกระบบจะทำให้มีภาระการจัดการบริหารที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังเป็นรูปแบบที่ไม่เหมาะสมกับ รพ.สต.ที่อยู่ไกล ประชากรน้อย เพราะจะทำให้งบประมาณเหมาจ่ายรายหัวที่ได้รับตรงไม่เพียงพอที่จะนำมาบริหารจัดการได้ แต่ทั้งนี้หาก รพ.สต.เหล่านั้นต้องการออกนอกระบบก็ยังสามารถทำได้ เพียงแต่ต้องออกนอกระบบแบบกลุ่มหรือเครือข่าย โดยใช้วิธีรวมจัดการบริหาร”
นายนิติพัฒน์ กล่าวว่า ด้วยสภาวะการณ์รอบ รพ.สต.ที่เปลี่ยนแปลงไป และแนวคิดการออกนอกระบบยังเป็นเพียงข้อเสนอ ดังนั้นขณะนี้จึงต้องเดินหน้าบริหารโดยการหาภาคีเครือข่ายสนับสนุนการดำเนินงาน รพ.สต.หลักหกในส่วนที่ขาดหายไปก่อน เช่น การสนับสนุนว่างจ้างบุคลากร การจัดทำโครงการด้านงานบริการ ทั้งการรักษาและส่งเสริมป้องกัน เป็นต้น ซึ่งเป็นเพียงการดำเนินงานชั่วคราว ต่างจากการออกนอกระบบที่ทาง รพ.สต.หลักหก จะสามารถบริหารจัดการได้เอง.
- 526 views