กรมการแพทย์จัดอบรมทันตแพทย์รองรับกลุ่มผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น พร้อมแนะการดูแลรักษาสุขภาพช่องปากที่ถูกต้องในเบื้องต้น เพื่อสร้างสุขอนามัยที่ดี
นายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยภายหลังเปิดการประชุมวิชาการทันตกรรมประจำปี 2557 เรื่อง “งานทันตกรรมกับคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ” ว่า ปัจจุบันสัดส่วนของประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปี มีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้น ในแต่ละปี ทั้งจำนวนและอายุเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น โดยคาดว่าในปี พ.ศ.2558 ประชากรผู้สูงอายุจะเพิ่มเป็น 9.1 ล้านคน หรือร้อยละ 13.4 ของประชากรทั่วประเทศ ประกอบกับผู้สูงอายุมีความตระหนักในภาวะสุขภาพช่องปากของตนเองมากขึ้น มีความต้องการที่จะเก็บรักษาฟันของตนไว้ให้คงทน และมีความสวยงาม ทำให้มีความต้องการรับการบริการมากยิ่งขึ้น ดังนั้นสุขภาพช่องปากซึ่งมีความสำคัญต่อสุขภาพร่างกาย ทั้งด้านกายภาพ ด้านจิตใจ และการเข้าสังคม รวมทั้งคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ทันตแพทย์จึงต้องได้รับความรู้เพิ่มเติม เพื่อพัฒนาการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ สถาบันทันตกรรม กรมการแพทย์ จึงได้จัดประชุม เพื่อเพิ่มพูนความรู้แก่ทันตแพทย์ทั่วประเทศ ให้สามารถดูแลปัญหาช่องปากของผู้ป่วยได้อย่างถูกต้อง พร้อมให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วยและจัดการเบื้องต้นได้ เพื่อให้ผู้ป่วยมีสุขภาพช่องปากที่ดี
รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การดูแลสุขภาพช่องปากของผู้สูงอายุเบื้องต้นนั้น ควรเริ่มจากการดูแลความสะอาดของฟัน อุปกรณ์ทำความสะอาด ควรเลือกด้ามจับที่ถนัดมือ ตัวแปรงควรมีขนาดเหมาะกับช่องปาก ขนแปรงนิ่ม ควรเปลี่ยนแปรงสีฟันเมื่อขนแปรงบานหรือมีอายุการใช้งาน 2-3 เดือน สำหรับผู้สูงอายุที่ใส่ฟันปลอม ควรทำความสะอาดฟันปลอม ด้วยการแช่ในน้ำสะอาด และควรถอดฟันปลอมอย่างน้อยวันละ 4-8 ชั่วโมง ไม่ควรใส่ฟันปลอมนอน เพราะอาจทำให้เกิดการอักเสบและติดเชื้อราในช่องปากได้ นอกจากนี้ผู้สูงอายุอาจเลือกใช้เครื่องมือช่วยทำความสะอาดฟันเพิ่มเติม เช่น แปรงซอกฟัน ทำความสะอาดฟันที่เป็นช่อง มีเหงือกร่นหรือฟันห่าง รวมถึงการทำความสะอาด กระพุ้งแก้มไปจนถึงโคนลิ้น เพื่อขจัดอาหารและคราบจุลินทรีย์ที่ตกค้าง และควรรับประทานอาหารเป็นมื้อไม่กินจุบจิบ เพื่อลดการตกค้างของเศษอาหารบริเวณช่องปาก สำหรับผู้สูงอายุที่ชอบรับประทานอาหารระหว่างมื้อ ควรเลือกอาหารกลุ่มธัญพืช ถั่ว นม และผลไม้ที่รสไม่หวานจัด เช่น ฝรั่ง พุทรา ชมพู่ มันแกว เป็นต้น เพราะนอกจากจะมีผลดีต่อช่องปากแล้ว ยังมีวิตามินและเกลือแร่ต่าง ๆ รวมทั้งมีเส้นใยช่วยให้ลำไส้ทำงานได้อย่างปกติ ที่สำคัญควรหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง เช่นการสูบบุรี่ การเคี้ยวหมาก การรับประทานอาหารที่มีรสหวานหรือมีแป้งและน้ำตาลเป็นส่วนประกอบ ทั้งนี้ผู้สูงอายุควรพบทันตแพทย์เป็นประจำทุกๆ 4-6 เดือน เพื่อรักษาสุขภาพฟันและช่องปากให้แข็งแรงอยู่เสมอ
- 4 views