เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีฯ จวกองค์การเภสัชกรรมบริหารไร้ประสิทธิภาพ ทำยาเอดส์เหลืออยู่ในสต็อกอีก 1 เดือน หวั่นกระทบผู้ป่วย 2 กองทุนทั้งบัตรทองและประกันสังคม ด้าน ผู้อำนวยการอภ.ยืนยันไร้ปัญหา อีก 1 เดือนเข้าสู่ภาวะปกติ
นายอภิวัตน์ กวางแก้ว
18 ส.ค. 57 นายอภิวัตน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากกรณีองค์การเภสัชกรรม(อภ.) ประสบปัญหาขาดวัตถุดิบในการผลิตยาต้านไวรัสเอชไอวี ทำให้ไม่สามารถจัดส่งยาดังกล่าวให้แก่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ได้ โดยขณะนี้มียาอยู่ในสต็อกเพียง 2 เดือน ซึ่งในเดือนสิงหาคมนี้จะครบกำหนด และจะส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยเอชไอวีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า(บัตรทอง)จำนวนมาก ล่าสุดยังเกิดปัญหาในกองทุนประกันสังคม เนื่องจากมีแนวโน้มว่าผู้ประกันตนจะขาดยาต้านไวรัสเอชไอวี โดยเฉพาะยาเอฟฟาไวเร็นซ์ (Efavirenz) โดยที่ผ่านมามีผู้ป่วยประกันสังคมร้องมายังเครือข่ายฯ ว่า เดิมได้รับยาจากโรงพยาบาลสต็อกเก็บไว้ 3 เดือน ขณะนี้เหลือ 1 เดือนเท่านั้น โดยทางโรงพยาบาลกังวลว่ายาอาจไม่เพียงพอ
"จากปัญหาดังกล่าว ปรากฎว่า อภ.กลับเสนอให้ทางสำนักงานประกันสังคม(สปส.) ไปยืมยาจาก สปสช. แทน โดยให้ทางโรงพยาบาลแต่ละแห่งดำเนินการหยิบยืม จากนั้นค่อยมาเคลียร์ทางบัญชี ซึ่งไม่มีการการันตีว่า อภ.จะคืนยาให้สปสช.เมื่อไร และสปส.จะได้ยาเมื่อไร เรื่องนี้คาราคาซัง และถามว่าสมควรแก้ปัญหาด้วยวิธีนี้หรือไม่ ผู้อำนวยการ อภ. ควรออกมารับผิดชอบ รวมทั้งขอเรียกร้องคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)อีกครั้ง ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และขอให้ปฏิรูป อภ. โดยควรมีผู้บริหารที่บริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพจริงๆ " นายอภิวัฒน์ กล่าว
นพ.สุวัช เซียศิริวัฒนา ผู้อำนวยการ อภ. กล่าวว่า จริงๆแล้วเรื่องนี้ไม่ได้มาจากการผลิตยาไม่ทัน เนื่องจากกระบวนการผลิตมีหลายขั้นตอน แต่สุดท้ายก็สามารถผลิตยาได้ เพียงแต่อาจมีข้อกังวล ซึ่ง อภ.ก็น้อมรับ โดยขณะนี้ อภ.อยู่ระหว่างทยอยผลิตยาต้านไวรัสฯให้แก่ สปสช. โดยภายใน 1 เดือนจะแล้วเสร็จ ส่วนยาต้านไวรัสเอชไอวีในส่วนของสปส. ก็จะผลิตต่อจากของ สปสช.ทันที ซึ่งทุกอย่างอยู่ในกรอบระยะเวลาของการผลิต ไม่ต้องกังวล ส่วนกรณีที่ว่าจะให้สปส.ยืมยาต้านไวรัสฯจากสปสช.นั้น อภ.ก็ไม่ได้เป็นผู้เสนอ แต่เป็นการหารือของระดับปฏิบัติงานว่า หากสปส.ต้องการยาต้านไวรัสฯอย่างเร่งด่วน ก็สามารถยืมจากสปสช.ได้
นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล รองเลขาธิการสปส. และรักษาการที่ปรึกษาด้านประสิทธิภาพ สปส. กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องหารือกันในสามหน่วยงาน คือ อภ. สปส. และสปสช. ถึงการประสานงานกัน ส่วนหากจะมีปัญหายาไม่เพียงพอ จะไม่ส่งผลกระทบกับผู้ป่วย เนื่องจากในโรงพยาบาลมีการใช้ยาต้านไวรัสฯกับผู้ป่วยสิทธิบัตรทองและประกันสังคมเหมือนกัน ซึ่งจริงๆแล้วตนมองว่าหากยาเหมือนกันก็ไม่ควรแยกสัดส่วน แต่ควรเอามารวมกันเพื่อจ่ายแก่ผู้ป่วยที่ต้องรับยาจะดีกว่า
- 7 views