ลูกจ้างชั่วคราวสธ.ชิงลาออกจากสังกัด เหตุรอบรรจุข้าราชการไม่ไหว ชี้รอแบบไม่มีอนาคต ทั้งยังไม่มีหวัง เมื่อมีที่ไปดีกว่า ก็ต้องไปเพื่ออนาคตและครอบครัว เผยเป็นนักเรียนทุนสถาบันพระบรมราชชนก รอบรรจุเป็นข้าราชการกว่า 6 ปี ให้กำลังใจรุ่นน้องขอให้ได้บรรจุเป็นข้าราชการทุกคน
แม้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะอนุมัติให้กระทรวงสาธารณสุขเดินหน้าบรรจุลูกจ้างชั่วคราวเป็นข้าราชการรอบที่ 2 ปีงบประมาณ 2557 จำนวน 7,547 ตำแหน่ง ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยกระทรวงสาธารณสุขให้คำมั่นว่าจะต้องได้รับการบรรจุภายในวันที่ 29 สิงหาคมนี้ แต่ระหว่างนี้ก็ยังมีปัญหาเรื่องการจัดสรรให้แต่ละสาขาวิชาชีพที่สร้างความรู้สึกไม่เป็นธรรม ไม่เป็นไปตามข้อตกลง จนบรรดาลูกจ้างชั่วคราวที่รอการบรรจุมานานต่างตบเท้าหารือกับผู้บริหารบ้าง ร้องไปยัง คสช.โดยตรงบ้าง รวมไปถึงการแสดงความคิดเห็นผ่านเฟสบุ๊คของแต่ละชมรม แต่ละเครือข่าย ยืดเยื้อ คาราคาซังจนเกือบจะสิ้นปีงบประมาณ 2557 เป็นเหตุให้หลายต่อหลายคนสิ้นหวังที่จะมีความก้าวหน้าในวิชาชีพสาธารณสุขจนต้องตัดสินใจลาออก
สิบตำรวจตรี เศรษฐวุฒิ ทิตย์วัลลี ผบ.หมู่สายป้องกันปราบปราม สภ.สุคิรินทร์ จ.นราธิวาส หนึ่งในอดีตบุคลากรในระบบสาธารณสุขของประเทศไทย กล่าวว่า ตนเองเรียนจบมาตั้งแต่ปี 2550 ก็เข้ารับตำแหน่งเจ้าพนักงานสาธารณสุขลูกจ้างชั่วคราว ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านน้ำตก หมู่ 5 อำเภอสุคิรินทร์ จังหวัดนราธิวาส ทำหน้าที่ให้บริการทางการแพทย์ทั่วๆ ไป ครอบคลุมประชากรใน 4 หมู่บ้าน โดยต้องขับรถจักรยานยนตร์ระยะทางกว่า 11 กิโลเมตร ทุกวันๆ เป็นอย่างนี้มานานกว่า 6 ปี แลกกับค่าตอบแทนที่รวมเงินเดือน ค่าครองชีพแล้วอยู่ที่แปดพันกว่าบาทต่อเดือน และด้วยความที่ตนมีตำแหน่งเป็นเพียงลูกจ้างชั่วคราวเท่านั้นจึงทำให้ไม่ได้เบี้ยเสี่ยงภัยแม้แต่บาทเดียว ไม่พอสำหรับค่าใช้จ่ายในครอบครัวที่ต้องส่งเสียน้องสาวเพียงคนเดียวให้เรียนหนังสือ
“ตอนนั้นรับผิดชอบประชาชนใน 4 หมู่บ้าน ต้องลงพื้นที่รู้จักทุกคนในหมู่บ้าน เด็กเกิดกี่คน คนไหนป่วย คนไหนไม่สบายรู้หมด ข้อมูลพื้นฐานรู้หมด รู้แม้กระทั่งลูกบ้านนี้ไปทำงานอะไร ที่ไหน กลับมาบ้านเมื่อไหร่ เด็กคนนี้ต้องรับวัคซีนตัวไหน วันไหน สิ่งเหล่านี้กับการทำงาน 6 ปี เรารู้หมด ยิ่งพอเปลี่ยนผ่านจากสถานีอนามัยมาเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลที่มีภาระงานเพิ่มมากขึ้น ทั้งๆ ที่คนทำงานเท่าเดิม ก็ถือว่าหนักเหมือนกัน ต้องมาคีย์ข้อมูลเพื่อให้ได้เงินมาใช้จ่ายในสถานพยาบาลต้องกรองแล้วกรองอีกกว่าจะได้มาแต่ละบาทก็ลำบากแสนเข็ญ แต่พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้รับเงินก็เท่านั้น”
ทั้งนี้ความหวังเดียวของสิบตำรวจตรี เศรษฐวุฒิ คือการบรรจุเป็นข้าราชการแต่รอมานานกว่า 6 ปีก็ยังไม่มีความหวังว่าจะได้รับการบรรจุแต่อย่างใด อีกทั้งกระแสข่าวในเรื่องนี้ที่ผ่านมาไม่ค่อยจะสู้ดีเท่าไหร่ทำให้ไขว้เขว ไม่รู้ว่าเรื่องไหนจริง เรื่องไหนหลอก ประกอบกับช่วงนั้นมีการเปิดสอบตำรวจจึงตัดสินใจไปสมัครสอบทั้งๆ ที่อาชีพตำรวจไม่ใช่ความฝันตั้งแต่แรกเริ่มของตัวเอง อย่างไรก็ตาม วันนี้ตนเดินทางมาไกลแล้วสิ่งหนึ่งที่ปรารถนาคือให้น้องๆ ลูกจ้างชั่วคราวได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการกันทุกคน ในกรณีที่ไม่ได้รับการบรรจุขอให้ได้รับค่าตอบแทนที่เป็นธรรม โดยเฉพาะค่าเสี่ยงภัยในกรณีผู้ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ 3 จังหวัด รวมไปถึงสวัสดิการต่างๆ เพราะบางครั้งเราเข้าไปรักษาโรคภัยไข้เจ็บนี่ได้สิทธิน้อยกว่า อสม.อีก เพราะใช้ระบบประกันสังคม ครอบคลุมตัวคนเดียว ส่วน อสม.เข้าฟรี ทำใบรับรอง แถมยังได้ทั้งพ่อ ทั้งแม่ด้วย
ด้าน นายสถาพร (ขอสงวนนามสกุล) หรือเล็ก อดีตเจ้าพนักงานสาธารณสุข กล่าวว่า ตนเองเป็นนักเรียนทุนระยะสั้น 2 ปี ของสถาบันพระบรมราชนก จบการศึกษาเมื่อปี 2553 ก็เข้าทำงานที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลแห่งหนึ่งในจังหวัดสกลนคร รับผิดชอบดูแลสุขภาพของประชาชนกว่า 7,000 หลังคาเรือนใน 9 หมู่บ้าน ภาระงานส่วนใหญ่เกี่ยวกับการพยาบาลเบื้องต้น ควบคุมโรค ป้องกันโรค การบริหารเวชภัณฑ์ ตามขอบข่ายนั้น บางครั้งทำงานติดต่อกันโดยไม่ได้พัก แต่มีค่าล่วงเวลา รวมเงินเดือน และสวัสดิการอื่นๆ แล้วตกเดือนละประมาณ 12,000-13,000 บาท แต่ก็ไม่เพียงพอ เพราะช่วงนั้นเรียนต่อระดับปริญญาตรีด้วย
อย่างไรก็ตามตนทำงานมาประมาณ 3 ปี สถานะยังเป็นเพียงลูกจ้างชั่วคราวกระทรวงสาธารสุขเท่านั้น แม้จะรู้ว่าอนาคตจะมีการบรรจุเป็นข้าราชการตามคำมั่นสัญญาใจอันเป็นที่ทราบต่อๆ กันมารุ่นสู่รุ่นว่าเรียนจบจากสถาบันพระบรมราชนกแล้ว กระทรวงแม่อย่าง สธ. จะให้กลับมาทำงานที่ภูมิลำเนาของตัวเองแน่นอน 100% หลังจากนั้นจะมีการบรรจุให้เป็นข้าราชการตามระเบียบข้าราชการพลเรือน ตามลำดับปีการศึกษาที่จบ ซึ่งขณะนั้นเองเริ่มมีกระแสข่าวว่าจะบรรจุลูกจ้างชั่วคราวสายวิชาชีพที่จบปี 2549-2551 แต่ส่วนตัวแล้วเพิ่งจะจบมาเมื่อปี 2553 กว่าจะได้บรรจุคงอีกหลายปี จึงตัดสินใจไม่รอ พอมาในปี 2555 ทางกรุงเทพมหานครประกาศสอบบรรจุข้าราชการจึงเสี่ยงเข้ามาสมัคร สอบได้ก็เลยตัดสินใจมารับราชการที่กรุงเทพฯ และได้รับเงินเดือนในอัตราเท่ากับที่กระทรวงสาธารณสุขให้ จะต่างกันอยู่ก็ตรงที่สังกัดกรุงเทพมหานครตนเป็นข้าราชการ และเงินเดือนเป็นขั้น ปีละ 2 ครั้ง
“การที่ลาออกมาไม่ได้มองว่าที่นั่นแย่ ที่นี่ดี แต่เป็นเรื่องของความพร้อม ก็รักนะเพราะว่าผมก็เกิดมาจากกระทรวงสาธารณสุข ตอนที่เรียนค่าเทอมก็ถูกมากเมื่อเทียบกับสถาบันอื่น เพราะเป็นนักเรียนทุน คำว่านักเรียนทุนจริงอยู่ว่าไม่ได้มีทุนเป็นตัวเงินให้เรา แต่เป็นการผลิตคนขึ้นมาเอง แต่สิ่งที่ตัดสินใจลาออกมาก็ไม่อยากเรียกว่าความไม่แน่นอน คือมันแตกแตกต่างจากสมัยก่อนเมื่อตอนหลังปี 2549 วันที่นักเรียนทุนของกระทรวงสาธารณสุขจบการศึกษาจะเรียกกันว่าวันปฐมนิเทศข้าราชการใหม่ คือจบแล้วรับราชการเลย ช่วยที่เรียนก็มีเงินเดือนให้ แต่มายุคของผมเหมือนกับต้องรอซึ่งคำตอบของคำว่ารอ ก็ไม่ว่ารู้ว่าเมื่อไหร แต่ก็ทราบดีว่าทางผู้ใหญ่เขาไม่ได้นิ่งนอนใจ มีการสำรวจทุกปีว่าปีนี้จะเพิ่มเท่าไหร่ ให้เท่าไหร่ แต่ปัญหาคือเราไม่สามารถแบบไม่อนาคตย่างนี้ได้” นายสถาพร กล่าว
- 85 views