สปสช.แจง “อัตราการตายผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้อง” เผยปี 56 อยู่ที่ร้อยละ 10 ขณะที่อัตราตายสะสมอยู่ที่ร้อยละ 16 อยู่ในเกณฑ์ไม่ต่างจากประเทศอื่น โต้ อภ.ใช้ข้อมูลเก่า สปสช.ปี 55 ที่ไม่ผ่านกลั่นกรองมาแถลง พร้อมย้ำ “การล้างไตผ่านช่องท้อง” เป็นวิธีเป็นวิธีมาตรฐาน ได้รับการยอมรับในระดับสากล แถมเป็นวิธีที่เหมาะสมกับประเทศไทย
จากการหยิบยกตัวเลขจำนวนผู้เสียชีวิตจากการล้างไตผ่านช่องท้องในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่สูงถึงปีละ 2,000 ราย หรือร้อยละ 28 ของผู้ป่วยที่เข้ารับบริการ มาแสดงในแถลงข่าวของ นพ.สุวัช เซียศิริวัฒนา ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) และ นพ.ดำรัส โรจนเสถียร ที่ปรึกษาองค์การเภสัชกรรม ต้องยอมรับว่าได้สร้างความตื่นตระหนกให้กับผู้ป่วยที่รับบริการล้างไตด้วยวิธีดังกล่าว ที่อาจส่งผลกระทบต่อระบบการดูแลผู้ป่วยไตในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้
ด้วยเหตุนี้ นพ.ปานเทพ คณานุรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนเครือข่ายระบบบริการทุติยภูมิและตติยภูมิ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในฐานะผู้รับผิดชอบกองทุนผู้ป่วยไตวายเรื้อรังจึงได้ชี้แจงข้อเท็จจริง โดยเริ่มต้นถึงที่มาของสิทธิประโยชน์การดูแลผู้ป่วยไตในระบบหลักประกันสุขภาพหน้าว่า สิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลดูแลผู้ป่วยโรคไต สปสช.ได้เริ่มต้นในปีงบประมาณ 2551 หรือเมื่อ 6 ปีที่แล้ว ครอบคลุมตั้งแต่การล้างไตผ่านช่องท้อง การฟอกไต และการปลูกถ่ายไต เนื่องจากเป็นโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูงมากที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงการรักษาและมีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่ต้องอยู่ในภาวะล้มละลายจากการรักษา จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือ
ทั้งนี้เหตุผลที่ สปสช.กำหนดให้ผู้ป่วยไตต้องเริ่มต้นบำบัดจากการล้างไตผ่านช่องท้องก่อน เนื่องจากเป็นวิธีบำบัดที่เหมาะสมกับสภาวะของประเทศไทย เพราะการบำบัดด้วยวิธีการฟอกไตผ่านเครื่องไตเทียมมีข้อจำกัดค่อนข้างมาก คือ 1.ประเทศไทยยังขาดแคลนทรัพยากร ทั้งหน่วยบริการ อุปกรณ์ในการฟอกไต โดยเฉพาะขาดแคลนบุคลากร ซึ่งในกรณีการฟอกไตนั้น จะต้องใช้พยาบาล 1 คน ดูแลผู้ป่วย 2-4 คน ต่างจากการล้างไตผ่านช่องท้องที่พยาบาล 1 คน สามารถดูแลผู้ป่วยได้ถึง 10 คน เพราะเป็นวิธีบำบัดที่สอนผู้ป่วยให้ทำการล้างไตผ่านช่องท้องเอง 2.ผู้ป่วยไม่ต้องเสียเวลาเดินทางมายังโรงพยาบาล และไม่ต้องเสียเวลานอนฟอกไต 3-4 ชม. ขณะที่การล้างไตผ่านช่องท้อง นอกจากผู้ป่วยสามารถทำเองที่บ้านได้ ยังสามารถทำงานอื่นๆ ได้ขณะล้างไตผ่านช่องท้อง
“ด้วยเหตุผลข้างต้นนี้ ทั้งข้อจำกัดและความสะดวกในการบำบัดของผู้ป่วย เมื่อวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขแล้ว การล้างไตผ่านช่องท้องจึงเป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุดสำหรับประเทศไทย” ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนเครือข่ายระบบบริการทุติยภูมิและตติยภูมิ กล่าว
ส่วนที่ผ่านมามักมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงวิธีการบำบัดทดแทนไตด้วยล้างไตผ่านช่องท้องในเรื่องมาตรฐานนั้น นพ.ปานเทพ กล่าวว่า การบำบัดทดแทนไตปัจจุบันมี 2 วิธี คือ การฟอกไตผ่านเครื่องไตเทียม และการล้างไตผ่านช่องท้อง ซึ่งต่างเป็นมาตรฐานในการบำบัดผู้ป่วยไต ส่วนจะเลือกใช้วิธีใดนั้น ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมและความพร้อมของประเทศตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับแพทย์ผู้ให้การรักษา อย่างไรก็ตามยอมรับว่าในอดีตการล้างไตผ่านช่องท้องในบ้านเราไม่เป็นที่แพร่หลาย ส่วนใหญ่เป็นการฟอกไตผ่านเครื่อง แต่หลังจากที่ สปสช.ได้ดำเนินนโยบายล้างไตผ่านช่องท้องทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนวิธีการรักษาผู้ป่วยไต รวมถึงการให้บริการของแพทย์ด้วย
“หากเปรียบเทียบการบำบัดผู้ป่วยไตทั้ง 2 วิธีในเชิงวิชาการทางการแพทย์ ต่างมีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกัน โดยในกรณีการเข้ารับปลูกถ่ายไต ผู้ป่วยไตที่ล้างไตผ่านช่องท้องจะมีความเหมาะสมมากกว่า ต่างจากผู้ป่วยที่ฟอกไตด้วยเครื่อง เนื่องจากในกระบวนการฟอกไตนั้นจะต้องใช้น้ำยาเข้าไปในเลือดที่ส่งผลต่อภูมิคุ้มกันในร่างกาย ทำให้เกิดปัญหามีภูมิคุ้มกันต่อต้านไตใหม่ได้ ส่วนการล้างไตผ่านช่องท้อง มีข้อด้อยเช่นกัน เพราะหลังการล้างไตผ่านช่องท้องต่อเนื่องไประยะหนึ่ง จะส่งผลต่อเยื่อบุช่องท้อง ทำให้การแลกเปลี่ยนของเสียทำได้ไม่ดี ต้องเปลี่ยนไปฟอกไตด้วยเครื่องแทน” นพ.ปานเทพ กล่าว
นพ.ปานเทพ กล่าวว่า ส่วนที่มีการนำเสนออัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยที่บำบัดด้วยวิธีการล้างไตผ่านช่องท้องซึ่งสูงถึง 2,000 รายต่อปี หรือร้อยละ 28 ของผู้ป่วยที่เข้าบำบัดนั้น ขอย้ำว่าเป็นการนำเสนอตัวเลขที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลตั้งแต่ปี 2555 ของ สปสช.ที่ยังไม่ผ่านการกลั่นกรอง ซึ่งภายหลังได้มีการจัดทำข้อมูลใหม่แล้ว พร้อมทั้งมีการทำรายงานข้อมูลอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้องต่อเนื่องรายปีตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปัจจุบัน ดังนั้นจึงนำข้อมูลดังกล่าวมาใช้ในการอ้างอิงไม่ได้ เพราะเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง อีกทั้งยังเป็นข้อมูลปี 2555 ที่สถานการณ์ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ซึ่งในทางวิชาการก็จะไม่มีการนำมาใช้อีกเช่นกัน
“จากข้อมูลอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ล้างไตผ่านช่องท้องของ สปสช. ตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปัจจุบัน ในกลุ่มผู้ป่วยรายใหม่ ปี 2552 มีอัตราการผู้ป่วยเสียชีวิตมากที่สุดอยู่ที่ร้อยละ 10.3 และในกลุ่มผู้ป่วยรวมทั้งใหม่และเก่า ปี 2553 มีอัตราผู้ป่วยเสียชีวิตมากที่สุดอยู่ที่ร้อยละ 16.1 จะเห็นได้ว่าไม่ได้มีจำนวนสูงถึงร้อยละ 28 ตามที่ระบุ อีกทั้งจากข้อมูลล่าสุดในปี 2556 ยังพบว่า อัตราการเสียชีวิตทั้งในกลุ่มผู้ป่วยใหม่และผู้ป่วย รวมทั้งใหม่และเก่า มีจำนวนลดลงมาก เหลือเพียงร้อยละ 3 และ 10.9 (ตามลำดับ) ทั้งนี้อัตราตายนี้เป็นอัตราตายจากทุกสาเหตุ ไม่ได้เจาะจงว่าตายจากการล้างไตผ่านช่องท้อง ซึ่งหากสามารถแยกสาเหตุการตายได้ อัตราตายของผู้ป่วยที่เกี่ยวข้องกับการล้างไตทางช่องท้องจะลดลงจากที่เห็นอีกพอสมควร โดยในการแถลงข่าวควรใช้ข้อมูลนี้ในการอ้างอิง”
นพ.ปานเทพ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้องในประเทศไทยเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ยังอยู่ในระดับที่ไม่แตกต่างกัน สะท้อนให้เห็นว่าการล้างไตผ่านช่องท้อง ซึ่งเป็นนโยบายที่ สปสช.ดำเนินอยู่นี้ เป็นวิธีการบำบัดผู้ป่วยไตที่เป็นมาตรฐานการเช่นเดียวกับการฟอกไต ทั้งยังได้รับการยอมรับในด้านวิชาการจากต่างประเทศ.
- 15 views