รอยเตอร์ : นักวิจัยจากเครือข่ายต่อต้านมาลาเรียดื้อยาระดับโลก ชี้เชื้อปรสิตมาลาเรียซึ่งแพร่ระบาดตามบริเวณชายแดนของประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เริ่มดื้อยา ย้ำนานาชาติควรร่วมมือกันหาทางควบคุมและกำจัดโรคมาลาเรียอย่างจริงจังก่อนประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเชื้อดื้อยาระบาดไปแอฟริกา
ทีมวิจัยซึ่งได้วิเคราะห์ตัวอย่างเลือดของผู้ป่วยมาลาเรีย 1,241 คน จาก 10 ประเทศในแถบเอเชียและแอฟริกา พบว่า เชื้อปรสิตมาลาเรียที่ดื้อต่อยาอาร์ทิมิซินิน (Artemisinin) ได้แพร่ระบาดตามแนวชายแดนตะวันตกและเหนือของกัมพูชา ชายแดนตะวันออกของเมียนมาร์ รวมถึงไทยและเวียดนาม อย่างไรก็ตาม การศึกษานี้ยังไม่พบตัวอย่างเลือดที่มีเชื้อปรสิตดื้อต่อยาอาร์ทิมิซินินใน 3 ฐานวิจัยในแอฟริกาซึ่งครอบคลุมประเทศเคนยา ประเทศไนจีเรีย และสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก
"ยังคงมีความเป็นไปได้ที่เราจะป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อปรสิตมาลาเรียที่ดื้อต่อยาอาร์ทิมิซินินในภูมิภาคเอเชียและแอฟริกาโดยหาทางกำจัดเชื้อนี้ให้สิ้นซาก แต่น่าเสียดายที่เวลามีน้อยและผ่านไปอย่างรวดเร็ว" นพ.นิโคลัส ไวท์ ศาสตราจารย์ด้านเวชศาสตร์เขตร้อน จากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ประธานของเครือข่ายต่อต้านมาลาเรียดื้อยา (Worldwide Antimalarial Resistance Network ) กล่าวในฐานะหัวหน้าทีมวิจัย
มากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรโลกกำลังสุ่มเสี่ยงที่จะติดเชื้อไข้มาลาเรีย ในขณะที่ตัวเลขของผู้ป่วยที่รอดชีวิตจากโรคที่มียุงเป็นพาหะได้ลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ ปัจจุบันโรคนี้ก็ยังคงคร่าชีวิตประชากรโลกไปมากกว่า 600,000 คนต่อปี และผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของมาลาเรียส่วนใหญ่ก็คือเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีซึ่งอาศัยอยู่ในเขตยากจนที่สุดของเขตซับ-ซาฮารา แอฟริกา (กลุ่มประเทศที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของทะเลทรายซาฮาราในทวีปแอฟริกา)
ขอบคุณภาพจาก www.malariaconsortium.org
ในช่วงปลายทศวรรษ 1950 - 1970 เชื้อปรสิตซึ่งดื้อต่อยาคลอโรควิน (Chloroquine) ได้แพร่ระบาดจากทวีปเอเชียไปยังแอฟริกา นับเป็นจุดเริ่มของการระบาดอย่างต่อเนื่องของไข้มาลาเรียที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตนับล้านคน ต่อมา ยาคลอโรควิน ถูกแทนที่ด้วย ยาซัลฟาด็อกซิน-ไพรีเมธามีน (Sulphadoxine-pyrimethamine) หรือ เอสพี แต่ปรากฎว่าเชื้อปรสิตมาลาเรียที่ดื้อต่อยานี้ได้เริ่มระบาดในแถบตะวันตกของประเทศกัมพูชาก่อนที่จะแพร่กระจายต่อไปยังทวีปแอฟริกาอีกระลอก และหลังจากนั้นจึงได้เริ่มใช้ยาสูตรผสมอาร์ทิมิซินิน หรือ ยาชุดต้านมาลาเรียเอซีที (ACT: artemisinin-based combination therapy) อย่างไรก็ตาม ล่าสุดผู้เชี่ยวชาญได้ออกมาเตือนแล้วว่า ในขณะนี้มนุษยชาติกำลังจะเจอประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเป็นครั้งที่ 3
นพ.ไวท์ กล่าวเตือนว่า วิธีควบคุมการแพร่ระบาดของมาลาเรียแบบดั้งเดิมยังไม่เพียงพอ "เราต้องการปฏิบัติการขั้นเด็ดขาดและทำให้ทั่วโลกให้ความสำคัญกับโรคนี้ในลำดับต้นๆ จะรอช้าไม่ได้”
คำเตือนข้างต้นมาพร้อมกับการเปิดเผยข้อค้นพบใหม่ของเขา โดยการศึกษานี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์นิวอิงแลนด์ เป็นงานวิจัยที่เก็บรวบรวมข้อมูลผู้ป่วยที่ติดเชื้อมาลาเรียทั้งผู้ใหญ่และเด็กจาก 15 ฐานการทดลองใน 10 พื้นที่ที่มีการระบาดของโรค ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2011 – เมษายน 2013
ในการวิจัย ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาด้วยยาต้านเชื้อมาลาเรียเป็นเวลา 6 วัน โดยได้รับอนุพันธ์ของยาอาร์ทีมิซินิน เป็นเวลา 3 วันและได้รับยาชุดต้านมาลาเรียเอซีที 3 วัน จากนั้นนักวิจัยจะนำเลือดไปวิเคราะห์หาอัตราของยาที่สามารถฆ่าเชื้อปรสิตมาลาเรียจนหมดได้
การศึกษาได้ค้นพบว่า เชื้อปรสิตพลาสโมเดียม ฟัลซิปารัม ซึ่งเป็นชนิดที่ร้ายแรงที่สุด ได้ดื้อต่อยาอาร์ทิมิซินินแล้ว และล่าสุดได้แพร่ระบาดตั้งแต่แนวฝั่งตะวันตกของประเทศกัมพูชา ประเทศไทย เวียดนาม, ฝั่งตะวันออกของเมียนมาร์ และทางตอนบนของประเทศกัมพูชา นอกจากนี้ยังมีสัญญาณที่บ่งบอกว่ามีการดื้อยาในพื้นที่ตอนกลางของเมียนมาร์ ทางตอนใต้ของประเทศลาว และทางฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของกัมพูชาอีกด้วย
"หากเชื้อมาลาเรียดื้อยาแพร่กระจายจากภูมิภาคเอเชียไปยังทวีปแอพริกา ความก้าวหน้าในการลดอัตราตายของโรคมาลาเรียจะถูกทำให้ย้อนกลับ” ศาสตราจารย์เจเรมี ฟาร์ราร์ ผู้อำนวยการของ เเวลคัม ทรัสต์ โกลบอล เฮลท์ ชาริตี้ (Wellcome Trust global health charity) กล่าว “นี่ไม่ใช่ภัยคุกคามในอนาคต แต่มันคือสภาพความเป็นจริงในปัจจุบัน”
องค์การอนามัยโลก ประกาศว่า เมื่อปี 2013 ที่ผ่านมามีรายงานว่าพบเชื้อปรสิตมาลาเรียดื้อต่อยาอาร์ทิมิซินิน ใน 4 ประเทศของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีอีก 64 ประเทศที่พบหลักฐานว่ามีการดื้อยาต้านมาลาเรีย
แม้ว่าจะมีการพัฒนายาต้านมาลาเรียชนิดใหม่ เช่น ยาที่รับประทานวันละครั้งของบริษัทยาสัญชาติสวิสอย่างโนวาร์ติส และวัคซีนจากแกล็กโซสมิธไคลน์ แต่ยาเหล่านี้ก็ยังไม่ได้วางตลาดและเชื่อว่าคงยังไม่สามารถนำมาใช้อย่างแพร่หลายได้ในระยะเวลาไม่กี่ปีข้างหน้า
ผลการทดลองในระดับ Mid-stage trial ของโนวาร์ติสได้รับการตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ NEJM ระบุว่า สามารถกำจัดเชื้อปรสิตทั้งหมดจากเลือดได้ภายในเวลา 12 ชั่วโมง ผลการวิจัยดังกล่าวได้รับการเผยแพร่โดย คริสโตเฟอร์ โพลเออร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านมาลาเรีย จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ เมืองบัลติมอร์
อลิซาเบธ แอชลี่ย์ นักวิจัยคลินิก จากหน่วยวิจัยมหิดล-ออกซ์ฟอร์ด รีเซิร์ช ยูนิท คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จนกว่าจะมียาใหม่ออกวางตลาด ยาอาร์ทิมิซินินและภาวะดื้อยาของเชื้อปรสิต จะต้องได้รับการติดตามอย่างใกล้ชิด
- 40 views