องค์การอนามัยโลก มีมติเห็นชอบ ให้ประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศกรณีการแพร่ระบาดอย่างเลวร้ายของเชื้อไวรัสอีโบลาซึ่งจำเป็นที่ทุกฝ่ายต้องหามาตรการตอบโต้เป็นกรณีพิเศษเพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสมรณะชนิดนี้ ยอดผู้เสียชีวิตล่าสุด 932 รายแล้ว
เวบไซต์เดลินิวส์ออนไลน์ รายงานว่า สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงลอนดอนประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 8 ส.ค.ว่าองค์การอนามัยโลกหรือฮู มีมติเห็นชอบเมื่อวันศุกร์ให้ประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศกรณีการแพร่ระบาดอย่างเลวร้ายของเชื้อไวรัสอีโบลาซึ่งจำเป็นที่ทุกฝ่ายต้องหามาตรการตอบโต้เป็นกรณีพิเศษเพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสมรณะชนิดนี้ โดยฮูประกาศว่า การแพร่ระบาดของอีโบลาครั้งใหญ่ที่สุดและยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ถือเป็นความวิตกกังวลมากพอที่จะประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศซึ่งฮุเคยประกาศในลักษณะเดียวกันนี้เมื่อครั้งที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009ในปี 2552 และโปลิโอในเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ฮู ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านสาธารณสุขของสหประชาชาติหรือยูเอ็น ในนครเจนีวาประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ระบุว่าการระบาดของอีโบลาในแอฟริกาตะวันตกถือเป็น “เหตุการณ์พิเศษ”และขณะนี้ได้ยกระดับเป็นความเสี่ยงด้านสุขภาพระหว่างประเทศแล้วเนื่องจาก มีความเป็นไปได้ว่าการระบาดครั้งนี้อาจคุมไม่อยู่จนเกิดการแพร่ระบาดระหว่างประเทศซึ่งเฉพาะใน 4 ประเทศแอฟริกาตะวันตกมีผู้เสียชีวิตแล้วเกือบ 1,000 คนเพราะฉะนั้นการร่วมมือกันระหว่างประเทศเพื่อแก้ปัญหาเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อหยุดยั้งการระบาดของอีโบลาข้ามประเทศโดยฮู ออกแถลงการณ์หลังจากจัดการประชุมฉุกเฉินผู้เชี่ยวชาญเรื่องอีโบลา 2วันซึ่งการประกาศภาวะฉุกเฉินระหว่างประเทศจะส่งผลให้มีการยกระดับการเตือนภัยและเฝ้าระวังการระบาดของไวรัสอีโบลา
ด้านดร.มาร์กาเรต ชาน ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก กล่าวว่าการประกาศดังกล่าวถือเป็นข้อเรียกร้องอย่างชัดเจนให้นานาชาติร่วมมือกันอย่างแข็งขันในการต่อสู้กับอีโบลาแม้หลายประเทศอาจไม่มีกรณีการติดเชื้อไวรัสอีโบลาชานแถลงข่าวในนครเจนีวาประเทศสวิตเซอร์แลนด์ด้วยว่าประเทศที่ได้รับผลกระทบในปัจจุบันนี้ไม่มีขีดความสามารถในการบริหารจัดการการแพร่ระบาดของอีโบลาในระดับนี้ได้ชานจึงเรียกร้องให้ประชาคมระหว่างประเทศให้การสนับสนุนอย่างเร่งด่วนเท่าที่จะเป็นไปได้
ส่วนในสหรัฐศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคติดต่อหรือซีดีซีก็ได้ยกระดับมาตรการตอบโต้อีโบลาขึ้นสู่ระดับสูงสุดและแนะนำให้ประชาชนห้ามเดินทางไปยังแอฟริกาตะวันตกเด็ดขาดโดยเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา
ดร.ทอม ฟรีเดน ผู้อำนวยการซีดีซีเข้าชี้แจงต่อรัฐสภาว่าการแพร่ระบาดของอีโบลาในปัจจุบันเลวร้ายกว่าทุกครั้งก่อนหน้านี้ขณะเดียวกัน กระทรวงต่างประเทศสหรัฐออกแถลงการณ์เมื่อวันพฤหัสบดีสั่งให้สมาชิกของครอบครัวเจ้าหน้าที่สหรัฐทั้งหมดเดินทางออกจากสถานทูตในกรุงมันโรเวียประเทศไลบีเรียสืบเนื่องจากการระบาดอย่างรุนแรงของอีโบลา
สำหรับหลายประเทศในเอเชียก็ใช้เทคโนโลยีเข้าช่วยด้วยการติดตั้งกล้องจับภาพความร้อนของอุณหภูมิและเจ้าหน้าที่แพทย์ประจำสนามบินเพื่อคัดกรองผู้เดินทางเข้าประเทศที่อาจป่วยติดเชื้อไวรัสอีโบลาขณะที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขก็เตรียมพร้อมรับมือการระบาดของอีโบลาอย่างเต็มที่โดยในจีน แม้ไม่มีรายงานการระบาดของอีโบลาแต่โรงพยาบาลต่างๆ ก็ได้รับคำสั่งให้รายงานกรณีต้องสงสัยทันทีส่วนในอินเดีย ซึ่งมีประชาชนเกือบ 45,000 คนอาศัยและทำงานอยู่ใน 4 ประเทศแอฟริกาตะวันตกที่มีการระบาดของอีโบลาแถลงว่า จะตรวจสอบผู้เดินทางผ่านหรือเริ่มเดินทางไปยัง 4 ประเทศดังกล่าวเมื่อพวกเขาเดินทางกลับ
ขณะที่ ญี่ปุ่น นายโยชิฮิเดะ ซูกะ แถลงว่าญี่ปุ่นพร้อมส่งผู้ต้องสงสัยติดเชื้ออีโบลาไปยังโรงพยาบาลที่มีการควบคุมและกักกันโรคเป็นพิเศษด้านออสเตรเลีย เจ้าหน้าที่ระบุว่ายังไม่มีมาตรการอะไรเป็นพิเศษแต่สั่งให้สนามบินทุกแห่งเฝ้าระวังผู้เดินทางที่ป่วยอย่างเข้มข้นและกล่าวว่าความเสี่ยงของโรคที่จะเข้ามาถึงออสเตรเลียนั้นอยู่ในระดับต่ำ
จากข้อมูลของฮูระบุว่า จนถึงขณะนี้มีผู้เสียชีวิตจากเชื้อไวรัสอีโบลาใน 4 ประเทศแอฟริกาตะวันตกคือกินี,เซียร์ราลีโอน,ไลบีเรียและไนจีเรีย แล้ว 932 คนและล้มป่วยมากกว่า 1,700 คนตั้งแต่เริ่มต้นการระบาดในกินีเมื่อต้นปี
- 3 views