กรรมการสุขภาพแห่งชาติเตรียมเสนอ คสช.ไฟเขียวจัดตั้ง "เขตสุขภาพเพื่อประชาชน" เป็นกลไกชี้ทิศทางแบบมีส่วนร่วมของทั้งภาครัฐและภาคประชาชน บูรณาการการทำงานในระบบสุขภาพของทุกหน่วยงานโดยใช้พื้นที่เป็นฐาน ยึดประโยชน์ประชาชนเป็นศูนย์กลาง พร้อมเสนอมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 6 เรื่อง “ปฏิรูประบบสุขภาพ ภายใต้การปฏิรูปประเทศไทย” ผลักดันเข้าสู่สภาปฏิรูปแห่งชาติ
8 ส.ค.57 พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) หัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และเป็นประธานแถลงข่าวผลการประชุม ที่อาคารสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ นนทบุรี ซึ่งการประชุมครั้งนี้มีผู้บริหารหน่วยงานหลักในระบบสุขภาพ ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(กสธ.), เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.), ผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.), เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม(สปส.), และอธิบดีกรมบัญชีกลาง เข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติด้วย โดยมีเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) ทำหน้าที่เลขานุการ
พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย กล่าวว่า ที่ผ่านมา ระบบสุขภาพของประเทศไทยมีการปรับตัวก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด เป็นที่ชื่นชมของนานาชาติ แต่เนื่องจากสภาพปัญหาและบริบทต่างๆในสังคมเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จึงจำเป็นที่ระบบสุขภาพต้องปรับตัวตามไปเพื่อให้ทำงานได้อย่างเท่าทันสถานการณ์อยู่เสมอ ประกอบกับ คสช.มีนโยบายขับเคลื่อนให้มีการปฏิรูปประเทศในทุกๆด้าน ซึ่งงานด้านสุขภาพเป็น 1 ใน 11 ด้านที่ต้องพิจารณาด้วยเช่นเดียวกัน และเมื่อไม่นานมานี้ สมัชชาสุขภาพแห่งชาติได้มีฉันทมติเรื่องการปฏิรูประบบสุขภาพ ภายใต้การปฏิรูปประเทศไทย ออกมาสอดรับกันพอดี ที่ประชุมจึงได้หยิบยกประเด็นสำคัญขึ้นมาพิจารณา ซึ่งที่ประชุมมีมติให้เสนอต่อ คสช.ให้ความเห็นชอบการจัดตั้ง “เขตสุขภาพเพื่อประชาชน” เพื่อเป็นกลไกสำคัญกลไกหนึ่งในการขับเคลื่อนการปฏิรูประบบสุขภาพโดยใช้พื้นที่เป็นฐาน
เขตสุขภาพเพื่อประชาชน ไม่ไช่เขตเชิงอำนาจหรือเชิงโครงสร้างหรือเขตบริหาร แต่เป็นเขตในลักษณะกลไกการทำงานร่วมกันของหน่วยงานหลักต่างๆที่ทำงานเกี่ยวกับสุขภาพในทุกมิติ เช่น กสธ.,สปสช.,สช.,สสส.,มหาวิทยาลัย หน่วยงานอื่นๆของรัฐ,องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น,เอกชน และภาคประชาชน แบ่งกลุ่มจังหวัดออกเป็นเขต ทั้งประเทศอาจมีประมาณ 12 – 13 เขต เพื่อให้เกิดการทำงานแบบมีส่วนร่วมตามพันธกิจของแต่ละหน่วยงาน โดยใช้พื้นที่เป็นฐาน (Area – Function - Participation : AFP) เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาสุขภาพในเขตร่วมกัน ให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาของแต่ละพื้นที่ที่แตกต่างกัน เกิดการบูรณาการการทำงานและการใช้ทรัพยากรร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล มีคุณภาพมากขึ้น โดยไม่เพิ่มภาระการเงินการคลังของประเทศ
สำหรับกลไกการทำงาน จะมี “คณะกรรมการอำนวยการเขตพื้นที่สุขภาพเพื่อประชาชน” เป็นกลไกอภิบาลแบบมีส่วนร่วมหรือแบบหุ้นส่วน องค์ประกอบจะมาจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐได้แก่ กสธ., มหาวิทยาลัย,สปสช.,สสส.,สช.,กลาโหม,กระทรวงอื่นๆที่เกี่ยวข้อง,อปท. เป็นต้น ภาคสังคมทั้งประชาสังคม เอกชน และภาควิชาการ ซึ่งรวมไปถึงองค์กรวิชาชีพต่างๆที่เกี่ยวข้อง หนุนเสริมการทำงานกันและกันเพื่อตอบสนองความต้องการด้านสุขภาพ (Health needs) ของประชาชนในพื้นที่นั้นๆ โดยแต่ละหน่วยงานไม่ใช้อำนาจเหนือกัน องค์กรยังคงมีอิสระในการทำงานตามอำนาจหน้าที่ของตน โดยทุกฝ่ายเข้ามาเป็นเจ้าของกลไกนี้ร่วมกัน สร้างให้มีความผูกพันและรับผิดชอบต่อการดำเนินงานในทุกระดับร่วมกัน (Collective accountability) ทั้งนี้ จะยึดหลักการ ทิศทางและแนวทางสำคัญของการปฏิรูประบบสุขภาพ ตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 6 ซึ่งครอบคลุมทั้งด้านการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรคและจัดการภัยคุกคามสุขภาพ การบริการสุขภาพ การผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านสุขภาพ การเงินการคลังและระบบหลักประกันสุขภาพ และการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพที่เน้นการมีส่วนร่วม
นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา กรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า “กลไกเขตสุขภาพเพื่อประชาชนนี้ จะเป็นเครื่องจักรใหม่ที่สำคัญในระบบสุขภาพแห่งชาติ ที่ทำให้ทุกหน่วยงานที่ทำงานด้านสุขภาพมาร่วมคิด ร่วมกำหนดแนวทางการทำงานด้านสุขภาพในเขตนั้นๆ และร่วมกันรับผิดชอบการดำเนินงานตามอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานตน จะเป็นการบูรณาการการทำงานที่สอดคล้องกับสภาพที่เป็นจริงของพื้นที่ ดีกว่าการแยกกันคิด แยกกันทำ พื้นที่เขตที่จะกำหนดขึ้นน่าจะต้องมีขนาดใหญ่พอสมควร เพื่อให้สามารถวางแผนระบบการจัดบริการสุขภาพ(Area Health Service Plan) มีการวางแผนผลิตและพัฒนากำลังคนร่วมกันในเขต และมีการทำงานสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคได้อย่างครอบคลุม”
นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า “แนวคิดเรื่องเขตสุขภาพ มีการศึกษาและคิดกันมานานแล้ว การจัดตั้งเขตสุขภาพเพื่อประชาชนครั้งนี้ จะเกิดประโยชน์อย่างมาก เพราะจะทำให้ทุกหน่วยงาน รวมไปถึงตัวแทนภาคประชาชนได้เข้ามาร่วมคิด ร่วมกำหนดทิศทางการจัดการสุขภาพในเขตนั้นๆ สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ตรงจุดมากขึ้นและให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีข้อพันธะสัญญาแนวทางที่ต้องให้การสนับสนุนเพื่อให้เป็นไปตามทิศทางที่คณะกรรมการเขตสุขภาพกำหนด ในส่วนของกสธ.ก็จะพัฒนาเขตบริการสุขภาพภายใต้ความรับผิดชอบของกระทรวง เพื่อเชื่อมโยงหนุนเสริมการทำงานของเขตสุขภาพเพื่อประชาชนนี้อย่างเต็มที่ต่อไป”
นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า “ปัจจุบัน สปสช.ก็มีการดำเนินงานเขตสุขภาพของตัวเองอยู่แล้วโดยเป็นคณะกรรมการประสานระดับเขตและดำเนินการมานานกว่าสิบปี เพื่อทำหน้าที่ในความรับผิดชอบของ สปสช. โดยเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ได้แก่ กองทุน ผู้ให้บริการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคประชาชน แต่การจัดตั้งเขตสุขภาพเพื่อประชาชนนี้ เป็นการขยายเวทีหรือขยายกลไกมาร่วมคิด ร่วมทำงานในภาพกว้าง สามารถทำเรื่องที่สอดคล้องกับปัญหาของพื้นที่ได้ เช่น เขตในภาคอีสาน ที่มีปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับ ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็จะได้มาทุ่มเทคิดด้วยกัน และหาวิธีทำงานเสริมกันให้สามารถแก้ปัญหายากๆเช่นนั้นได้จริงจังมากขึ้น”
ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า “ในส่วนของสสส.ไม่ได้มีหน้าที่ปฏิบัติการในระบบสุขภาพโดยตรง แต่มีบทบาทส่งเสริมการพัฒนารูปแบบ วิธีการทำงานสร้างเสริมสุขภาพในมิติต่างๆที่กว้างกว่าการแพทย์และสาธารณสุข การมีเขตสุขภาพเพื่อประชาชน จะทำให้มีกลไกที่จะนำรูปแบบวิธีการสร้างเสริมสุขภาพที่ภาคีต่างๆช่วยกันพัฒนาขึ้น นำไปต่อยอดขยายผลปฏิบัติการให้กว้างขวางยิ่งขึ้นได้เป็นอย่างดี”
ทั้งนี้ เมื่อมีเขตสุขภาพเพื่อประชาชน จะมีการร่วมกันวางแผนระบบบริการสุขภาพในภาพรวมของเขตนั้นๆ เพื่อเชื่อมต่อกันทั้งรพ.ของกสธ., รพ.มหาวิทยาลัย, รพ.เอกชน และรพ.สังกัดอื่นๆ ผู้เอาประกันตนของประกันสังคม ข้าราชการที่อยู่ภายใต้ระบบสวัสดิการรักษาพยาบาล และประชาชนที่อยู่ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพ จะได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นทันที เพราะการเข้าถึงรับบริการสะดวกขึ้น จะมีการส่งต่อที่ไร้รอยต่อ สะดวกรวดเร็ว และมีคุณภาพมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ในฐานะฝ่ายเลขานุการกล่าวปิดท้ายว่า จะได้เสนอเรื่องนี้ต่อ คสช.ให้ความเห็นชอบ ในขณะเดียวกันคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติได้เห็นชอบให้ตั้งคณะทำงานพัฒนารูปแบบเขตสุขภาพเพื่อประชาชน มี นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา กรรมการสุขภาพแห่งชาติ จากภาคประชาชน เป็นประธาน มีหน้าที่พัฒนารูปแบบเขตสุขภาพเพื่อประชาชนนี้คือคิดรายละเอียดเรื่องบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการฯ องค์ประกอบ การได้มา การบริหารจัดการและการสนับสนุนต่างๆ ทั้งนี้ จะไม่มีการสร้างโครงสร้างใหม่หรือการของบประมาณเพิ่ม จะเป็นการใช้ทรัพยากรของหน่วยงานต่างๆที่มีอยู่แล้วร่วมกันทำงาน โดยจะมีการรับฟังความเห็นของภาคีภาคส่วนต่างๆต่อไปด้วย
อนึ่ง นอกจากการจัดตั้งเขตสุขภาพเพื่อประชาชนแล้ว ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติยังได้เห็นชอบให้นำมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 6 เรื่อง "การปฏิรูประบบสุขภาพ ภายใต้การปฏิรูปประเทศไทย" ซึ่งครอบคลุมทั้งเรื่องหลักการ ทิศทาง และแนวทางสำคัญของการปฏิรูประบบสุขภาพ มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 1-6 จำนวน 59 มติ มติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น 6 มติ มติสมัชชาปฏิรูประดับชาติ 21 มติ และข้อเสนอต่างๆของคณะกรรมการปฏิรูป(คปร.) ที่มีนายอานนท์ ปัณยารชุน เป็นประธาน เสนอต่อ คสช.เพื่อพิจารณาส่งต่อให้สภาปฏิรูปแห่งชาติที่กำลังจะมีขึ้นในเร็ววันนี้ รับไปพิจารณาประกอบการทำงานต่อไปด้วย
- 2 views