มติชน -เปิดข้อมูลสิทธิรักษาพยาบาลคณุเอกชน พบหลายรายเสียชีวิตดับเหตุไม่มีเงินจ่ายค่ารักษาป่วยเรื้อรัง หนี้สินเพียบ เพราะกำหนดเพดานค่ารักษาไม่เกินปีละ 1 แสนบาท ชี้สิทธิ์ต่ำกว่าบัตรทอง และประกันสังคม แห่ถอนบรรจุและถอนออกจากกองทุนสงเคราะห์
นายจอมพงศ์ มงคลวนิช
มติชน -เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม นายจอมพงศ์ มงคลวนิช นายกสมาคมวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ได้ประชุมสถานศึกษาอาชีวศึกษาเอกชนหลายภูมิภาค พบปัญหาที่สะท้อนเหมือนๆ กันคือ สวัสดิการรักษาพยาบาลของครูเอกชน เพราะเมื่อบรรจุเป็นครูเอกชนจะเข้าเป็นสมาชิกกองทุนสงเคราะห์ครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน โดยครูจ่าย 3% สถานศึกษาสมทบ 3% และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) สมทบ 6% ของเงินเดือนครูบรรจุตามบัญชี สช. แต่ปัญหาในขณะนี้คือ สวัสดิการรักษาพยาบาลกำหนดเพดานไม่เกิน 1 แสนบาทต่อคนต่อปี และกำหนดให้จ่ายล่วงหน้าแล้วนำบิลมาเบิก ถือว่าเหลื่อมล้ำกับบัตรทองที่ไม่ต้องจ่ายล่วงหน้า และไม่ได้กำหนดเพดานค่ารักษา พบว่าครูเอกชนหลายรายเสียชีวิต เพราะเข้ารับการรักษาพยาบาล แต่ไม่สามารถจ่ายเงินล่วงหน้าได้ รวมถึงมีกำหนดเพดานการเบิกค่าใช้จ่าย บางคนที่เป็นโรคเรื้อรังก็ทำให้มีภาระหนี้สินในระยะยาว ขณะนี้มีครูเอกชนจำนวนมากขอถอนบรรจุ และขอถอนออกจากกองทุนสงเคราะห์ครูใหญ่ฯด้วย
"เรื่องนี้ทำให้ครูเอกชนน้อยเนื้อต่ำใจในการดูแลของภาครัฐที่เหลื่อมล้ำกัน กระทบทั้งขวัญและกำลังใจ เบื้องต้นจะทำหนังสือเสนอกองทุนสงเคราะห์ครูใหญ่ฯ และ สช.ภายในสัปดาห์นี้ ว่าอย่างน้อยครูเอกชนควรได้สิทธิในการรักษาพยาบาลเท่ากับระบบประกันสังคม และไม่ควรต่ำกว่าประชาชนโดยทั่วไป เพราะประชาชนที่ใช้สิทธิบัตรทองไม่ต้องจ่ายล่วงหน้าและไม่กำหนดเพดานรักษาพยาบาลด้วย ความจริงเรื่องนี้เป็นปัญหาหมักหมมมานาน แต่ยังไม่มีใครแก้ไข ทั้งนี้ ทราบว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กำลังจะปรับปรุงหลักประกันสุขภาพ จึงอยากให้พิจารณากองทุนต่างๆ ที่รัฐเกี่ยวข้อง รวมถึงกองทุนสงเคราะห์ครูใหญ่ฯ เพื่อให้มี นัยยะเดียวกัน ซึ่งครูเอกชนทั่วประเทศมีจำนวนกว่า 1.5 แสนคน ก็อยากได้รับการดูแลด้วย" นายจอมพงศ์กล่าว
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 6 สิงหาคม 2557
- 756 views