กลุ่มข้าราชการต้องการความยุติธรรม ร้องคสช.เยียวยาปัญหาความเหลื่อมล้ำเรื่องค่าตอบแทนรุ่นน้องเงินเดือนมากกว่ารุ่นพี่ จากเหตุ กพ. ออกหลักเกณฑ์เงินเดือนพิลึก แถมไม่ยอมแก้ไข อ้างผิดพ.ร.บ.ข้าราชการพลเรือน
ขอบคุณภาพจาก facebook ข้าราชการ
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2557 ที่ผ่านมากลุ่มข้าราชการต้องการความยุติธรรม ซึ่งเป็นข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขที่ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการก่อนวันที่ 11 ธันวาคม 2555 เดินทางไปยังทำเนียบรัฐบาลเพื่อยื่นคำร้องขอความเป็นธรรมจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เนื่องจากได้รับผลกระทบตามหลักเกณฑ์ นร 1008.1/154 ลว. วันที่ 6 มิถุนายน 2556 คือได้รับเงินเดือนในอัตราที่ต่ำกว่าข้าราชการที่บรรจุหลัง วันที่ 11 ธันวาคม 2555
นายธนภัทร ศรีชุม ประธานกลุ่มข้าราชการต้องการความยุติธรรม กล่าวว่า เนื่องจากเมื่อปี 2556 สำนักงานข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ได้ออกหลักเกณฑ์พิเศษสำหรับข้าราชการที่ได้รับการบรรจุหลังวันที่ 11 ธันวาคม 2555 ให้ได้รับสิทธิในการทำเอกสารวิชาการได้ทันทีโดยนับอายุงานตั้งแต่เป็นลูกจ้างชั่วคราว หากครบ 4 ปีสามารถเลื่อนตำแหน่งได้ 2. ให้ข้าราชการราชได้รับอัตราเงินเต็มขั้นในฐานปฏิบัติการคือ 24,450 บาท จากหลักเกณฑ์ดังกล่าวส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำเรื่องค่าตอบแทนของข้าราชการที่บรรจุก่อนวันที่ 11 ธันวาคม 2555 จำนวนประมาณ 12,000 คน กับข้าราชการที่บรรจุหลังวันที่ 11 ธันวาคม 2555 เนื่องจากข้าราชการที่บรรจุก่อนจะถูกลดเงินเดือนลงจากเดิมประมาณ 2,000 บาท เช่น จากเดิมประมาณ 9,000 ลดเหลือ 7,260 บาท (อัตราในปีที่บรรจุ) จากนั้นค่อยไต่เต้าขึ้นมา เป็นเหตุให้อัตราเงินเดือนของรุ่นน้องที่บรรจุเป็นข้าราชการมีอัตราเงินเดือนมากกว่าข้าราชการรุ่นพี่อย่างน้อย 4,000 บาท ขึ้นไป เรื่องนี้ส่งผลกระทบต่อขวัญและกำลังใจในการทำงาน เพราะถือว่ารุ่นน้องเงินเดือนแซงรุ่นพี่ หรือลูกน้องเงินเดือนมากกว่าหัวหน้า เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญเพราะขัดแย้งกับการปกครอง
ทั้งนี้ ที่ผ่านมากลุ่มข้าราชการที่บรรจุก่อนต่อสู้เรื่องนี้กันมานานมากจนเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2556 เพิ่งได้รับสิทธิในการทำเอกสารวิชาการ ส่วนเรื่องเงินเดือนที่เหลื่อมล้ำกันนั้น ล่าสุดทางกระทรวงสาธารณสุขได้เสนอเป็นวาระเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการในระยะแรกต่อ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผู้บัญชาการทหารเรือ หัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิยา คสช.เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2557 แต่ล่าสุดเมื่อวันที่ 21กรกฎาคม 2557 ทาง ก.พ. ในฐานะผู้ที่รับผิดชอบเรื่องการจัดทำค่าตอบแทนโดยตรง ตอบกลับมาว่าไม่สามารถอนุมัติอัตราเงินเดือนใหม่ให้ได้ เพราะผิด พ.ร.บ.ข้าราชการพลเรือน 2551 ซึ่งตรงนี้ตนมีข้อสงสัยว่าหากติดปัญหาเรื่องกฎหมายแต่ทำไมถึงยังอนุมัติให้กับข้าราชการที่บรรจุใหม่ได้
ดังนั้นจึงได้เดินทางไปร้องขอความเป็นธรรมต่อ คสช. โดยเรียกร้อง 3 ข้อ คือ 1. ขอให้ คสช. เร่งดำเนินการเยียวยาค่าตอบแทนที่ก.พ.ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากตอนนี้ทาง คสช.มีนโยบายจะปรับฐานเงินเดือนข้าราชการทั้งระบบ 2. ในกรณีที่ ก.พ.ระบุว่าไม่สามารถปรับแก้ฐานเงินเดือนได้เนื่องจากผิดพ.ร.บ.นั้น ก็ขอคสช.ใช้อำนาจพิเศษในการสั่งการให้ผู้ได้รับผลกระทบมาร่วมพิจารณาหาทางออกในกรณีดังกล่าวร่วมกัน และ 3. ให้สิ้นสุดการถือปฏิบัติเรื่องอัตราเงินเดือนของลูกจ้างชั่วคราวจากเดิมที่กำหนดไว้โดยไม่มีที่สิ้นสุด ไม่เช่นนั้นจะก่อให้เกิดปัญหาไปเรื่อยๆ และอาจจะเป็นการเอื้อให้กระทำการทุจริต เช่น หัวหน้าหน่วยงานหนึ่งๆ มีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้จะเข้ามาเป็นลูกจ้างชั่วคราวและอนุมัติอัตราเงินเดือนเต็มฐานปฏิบัติการเดิมคือ 24,450 บาทเมื่อลูกจ้างชั่วคราวคนดังกล่าวได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการก็จะได้รับเงินเดือน 24,450 บาทเลย ตรงนี้จะเกิดความเหลื่อมล้ำกับข้าราชการรุ่นพี่อีกเช่นเคย และเกิดปัญหาไม่มีที่สิ้นสุด
“ตอนที่บรรจุเป็นข้าราชการ แม้ว่าเงินเดือนจะถูกลดลงกว่า 2,000 บาท เราก็ดีใจมาก แต่ไม่รู้ว่าจะมีหลักเกณฑ์พิเศษแบบนี้เกิดขึ้นในปี 2556 ซึ่งทำให้ข้าราชการรุ่นน้องได้รับเงินเดือนแซงแบบสุดโต่งไปเลย ทำให้เกิดผลกระทบกับข้าราชการเดิมกว่า 12,000 คน การให้สิทธิประโยชน์นั้น ถ้าเอามาสู้กันด้วยคุณงามความดี ผลงาน เราไม่ว่าเลย ทุกคนมีสิทธิ์แซงกันได้ รุ่นน้องทำผลงานดีกว่ารุ่นพี่ รุ่นพี่ทำงานไม่ได้เรื่องแซงกันก็อาจจะเป็นไปได้ แต่อันนี้คุณวุฒิเดียวกัน เหมือนกันในทุกๆ เรื่องแต่อัตราเงินเดือนกลับมากกว่ารุ่นพี่ตั้งแต่เริ่มทำงาน อย่างนี้ยอมรับไม่ได้จริงๆ เพราะผิดจารีตประเพณีของระบบข้าราชการ” นายธนภัทร กล่าว และว่า แม้แต่ก.พ.เองยังยอมรับว่ามีปัญหา และ ถ้าบอกว่าขัดกับพ.ร.บ.จริงก็ให้มีแนวทางเลยว่า 1. ใช้อำนาจพิเศษของ คสช.ในการเยียวยา หรือจะเยียวยาโดยการเพิ่มเงินเดือนให้ปีละ 10% ก็ได้ ตรงนี้เรายอมรับได้ เรายอมเสียเปรียบแต่ทำไมถึงไม่ทำ
ผู้สื่อข่าวถามว่า เพราะอะไร ก.พ.จึงออกหลักเกณฑ์ที่ทำให้รุ่นน้องได้รับค่าตอบแทนมากกว่า หรือเป็นเพราะนโยบายเงินเดือน 15,000 บาท ที่ออกมาในช่วงหลังหรือไม่ ประธานกลุ่มข้าราชการฯ กล่าวว่า ทาง ก.พ.ไม่ได้ตอบว่าทำไม แต่อาจจะเป็นเพราะเห็นใจลูกจ้างชั่วคราวที่พอบรรจุเป็นข้าราชการแล้วถูกลดเงินเดือนจากที่เคยได้รับเมื่อตอนที่เป็นลูกจ้างชั่วคราว จึงให้มีการต่อรองเงินเดือน แต่ไม่ชัดเจนว่าให้ตามนโยบายเงินเดือน 15,000 บาทหรือไม่ เพราะช่วงนั้นถ้าให้ตามนโยบายเงินเดือน 15,000 บาทจะต้องมีการปรับคุณวุฒิ ตาม ว. 3 และ ว.20 ที่ให้ 1 ม.ค. 55 – 57 แต่ก็ไม่เท่าเงินเดือนน้องข้าราชการที่บรรจุทีหลังได้ แต่ก็ไม่ได้ไปเรียกร้องอะไรอีก
ผู้สื่อข่าวถามต่อว่าข้าราชการบรรจุใหม่ได้รับเงินเดือน 24,000 บาทจริงหรือไม่ เพราะที่ผ่านมามีการเรียกร้อง ร้องเรียนว่าเงินเดือนไม่เป็นไปตามที่ระบุ นายธนภัทร กล่าวว่า ได้รับจริง ซึ่งตอนแรกก็ไม่เชื่อเหมือนกัน เพราะเราดูภาพรวมในประเทศคนจ้างแพงก็มี เพราะถือเป็นขวัญกำลังใจน้องที่เป็นลูกจ้างชั่วคราว บางแห่งจ้างในอัตรา 18,000 บาท บางแห่งได้รับ 26,000 บาท ซึ่งเป็นเงินเดือนที่ไม่รวมค่าทำงานล่วงเวลา หรือค่าตอบแทนพิเศษใดๆ พอได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการก็ได้รับเงินเดือนเต็มอัตราคือ 24,500 บาท โดยเฉพาะโรงพยาบาลในเขตอุตสาหกรรม เมื่อเทียบเคียงกับข้าราชการรุ่นพี่ที่บรรจุก่อนแล้วเหลื่อมล้ำกันมาก ซึ่งเรื่องนี้เราไม่ยอมแน่นอน ข้าราชการที่ต้องการความยุติธรรมกว่า 12,000 คน เราไม่ยอมแน่นอน และจะปรึกษากับทางผู้รับผิดชอบในกระทรวงสาธารณสุขอีกครั้งหนึ่งว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร ตอนนี้ต้องดูท่าทีของ ก.พ.ก่อน
- 127 views