สธ.ส่งหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ 5 ทีม ลงเรือท้องแบน ให้บริการผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่จังหวัดอุบลราชธานี ตรวจรักษาดูแลสุขภาพประชาชน
2 ส.ค.57 นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการแพทย์และสาธารณสุขแก่ผู้ประสบภัยน้ำท่วมจากฝนตกหนัก เบื้องต้นได้รับรายงานว่าจังหวัดอุบลราชธานี ได้ประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติแล้ว 17 อำเภอ 5 ตำบล 526 หมู่บ้าน จากที่มีทั้งหมด 25 อำเภอ มีจำนวนครัวเรือนได้รับผลกระทบ 26,963 ครัวเรือน อำเภอที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ อำเภอพิบูลมังสาหาร มี 590 ครัวเรือน และอำเภอตระการพืชผล มี 1,200 ครัวเรือน โดยน้ำท่วมบ้านเรือนประชาชนสูงประมาณ 1 เมตร บางหมู่บ้านไม่สามารถเดินทางเข้าออกได้ เนื่องจากถนนถูกตัดขาด ส่วนสถานบริการสาธารณสุข น้ำไม่ท่วมทุกแห่งเปิดให้บริการตามปกติ ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ประกอบด้วย แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ 40 คน พร้อมเวชภัณฑ์ยา ออกให้บริการผู้ประสบภัย โดยใช้เรือท้องแบน จำนวน 5 ทีม ใน 2 อำเภอดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง จนกว่าสถานการณ์จะกลับสู่ภาวะปกติ โดยเฉพาะเด็กเล็ก คนชรา ผู้ป่วยพิการและผู้โรคเรื้อรัง ที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้
นพ.สุรพร ลอยหา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทุกอำเภอเฝ้าระวังโรคที่มากับน้ำท่วม โดยเฉพาะโรคไข้เลือดออก โรคไข้ฉี่หนู โรคอุจจาระร่วง ไข้หวัดใหญ่ ผลการเฝ้าระวังที่ผ่านมายังไม่มีโรคระบาด พร้อมให้เจ้าหน้าที่ประจำโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ประชาชน ในเรื่องการดูแลรักษาความสะอาด ขอความร่วมมือผู้ประสบภัยน้ำท่วม โดยเฉพาะบ้านที่ถูกน้ำท่วม ซึ่งส้วมมักจะใช้การไม่ได้ ขอให้ถ่ายอุจจาระลงในถุงดำหรือถุงพลาสติก แล้วมัดปากถุงให้แน่น นำไปฝังกลบ ไม่ทิ้งขยะลงน้ำ เพื่อลดความสกปรกน้ำท่วม ให้ดื่มนำสะอาดบรรจุขวด หรือน้ำต้มสุก รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ ให้ล้างมือก่อนรับประทานอาหาร และภายหลังออกจากห้องน้ำทุกครั้ง หลังจากเดินลุยน้ำ ย่ำโคลน ให้ล้างทำความสะอาดมือ เท้า ด้วยสบู่และเช็ดให้แห้งทุกครั้ง หากประชาชนมีไข้สูงทันทีทันใด ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะที่น่อง ร่วมกับอาการคลื่นไส้ ท้องเสีย ขอให้นึกถึงโรคไข้ฉี่หนู ให้รีบไปพบเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่อยู่ใกล้บ้านและหากเจ็บป่วยฉุกเฉิน หรือยาที่กินประจำใกล้หมด สามารถโทรขอความช่วยเหลือที่สายด่วนกู้ชีพ 1669 ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง
- 5 views