โพสต์ทูเดย์ -การประชุมร่วมระหว่างคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กรมบัญชีกลางสำนักงานประกันสังคม และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เมื่อวันที่31 ก.ค.ที่ผ่านมาส่งสัญญาณว่า "ดุลอำนาจ" ในแวดวงสุขภาพกำลังเปลี่ยนไป
การประชุมครั้งนี้เป็นครั้งแรกหลังเกิดข้อพิพาทระหว่าง สธ. และ สปสช. ตั้งแต่ นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัด สธ. สั่งห้ามเจ้าหน้าที่ สธ.ประชุมร่วมกับ สปสช. ตามมาด้วยความพยายามผลักดันให้ผู้ป่วยบัตรทอง "ร่วมจ่าย" ค่ารักษาพยาบาล รวมถึงความขัดแย้งในการเปลี่ยนวิธีโอนเงินกองทุน สปสช.เป็นครั้งแรกเช่นกันที่ สช.ถูกเชิญเข้าร่วม เพราะตั้งแต่ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ รับตำแหน่งปลัด สธ.เมื่อปี 2555 เป็นต้นมา สช.ถูกกันออกนอกวงโดยตลอด
ก่อนการประชุมครั้งนี้จะเกิดขึ้น ฝั่ง สธ.พยายามชี้นำว่าจะหาข้อสรุปเรื่องการจ่ายเงินกองทุนแต่สุดท้าย คสช.ทุบโต๊ะเปลี่ยนวาระเป็นเรื่อง"การปฏิรูประบบสุขภาพ"โดยมี สช. ที่ นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เป็นเลขาธิการเป็นแม่งาน
สาระสำคัญในการปฏิรูปครั้งนี้ คสช.จะเดินหน้าโครงการ "คณะกรรมการประสานงาน 3 กองทุนสุขภาพ"เพื่อลดความเหลื่อมล้ำใน 3 ระบบสุขภาพ ซึ่งรัฐบาลชุดที่แล้วได้ดำเนินการไปบางส่วนแล้ว
นอกจากนี้ ยังกำหนดธงนำที่สานต่อมติของ "สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ" โดยมีเนื้อหา 5 ประเด็น คือ 1.การปฏิรูประบบสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค และการจัดการกับภัยคุกคามสุขภาพ
2.การปฏิรูประบบบริการสุขภาพ 3.การปฏิรูประบบการผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านสุขภาพ 4.การปฏิรูประบบการเงินการคลังและระบบหลักประกันด้านสุขภาพ 5.การปฏิรูปการอภิบาลระบบสุขภาพและการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ
อย่างไรก็ตาม คสช.ได้เตรียมแต่งตั้งบุคคลเข้าเป็นคณะกรรมการประสานงาน 3 กองทุนสุขภาพ ทั้งสิ้น 14 คน ประกอบด้วย อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยเป็นประธาน ส่วนกรรมการ ได้แก่ นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย นวพร เรืองสกุล อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล
นอกจากนี้ ยังมี นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา กรรมการสุขภาพแห่งชาติ นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ เลขาธิการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ นพ.พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช เลขาธิการสมาคมโรงพยาบาลเอกชน จุรี วิจิตรวาทการ อดีตอธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ นพ.สุชาติ สรณสถาพร ผู้อำนวยการสำนักงานกลางสารสนเทศบริการสุขภาพ นพ.เทียม อังสาชน ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพแห่งชาติ รวมทั้งมีเลขาธิการ สปสช. เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม และผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ร่วมด้วย
เพียงแต่ คสช.ยังไม่ประกาศรายชื่อออกมาอย่างเป็นทางการผลจากการประชุมดังกล่าวเท่ากับสวนทางข้อเสนอของฝั่งกระทรวงสาธารณสุขที่ปลัด สธ.พยายามผลักดันมาก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะแนวคิดหลักในการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง และความพยายามตั้งซูเปอร์บอร์ดสุขภาพควบคุมการทำงานของหน่วยงาน "ตระกูล ส." ที่ต้องพังลงไม่เป็นท่า
ทั้งนี้ เพราะกรอบการปฏิรูปเวอร์ชั่นใหม่เน้นการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น เน้นการมีส่วนร่วมประชาชน
ด้าน นพ.ณรงค์ แถลงภายหลังการประชุมว่าทิศทางการปฏิรูปหลังจากนี้จะเป็นไปตามมติสมัชชาสุขภาพทั้ง 5 ข้อ โดยแต่ละฝ่ายจะกลับไปเตรียมประเด็นเพื่อพูดคุยกันอีกครั้งในการประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า
สำหรับ นพ.อำพล ที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการปฏิรูประบบสุขภาพครั้งนี้เคยเป็นเลขานุการ นพ.มงคล ณ สงขลา อดีต รมว.สาธารณสุข ที่มีบทบาทผลักดันการปฏิรูปประเทศภายใต้สมัชชาปฏิรูปชุดที่มี นพ.ประเวศ วะสี เป็นประธาน ก่อนหน้านี้จากมติที่ประชุมในครั้งนี้ถือเป็นการล้างนโยบายสาธารณสุขของขั้วอำนาจเก่าลงอย่างชัดเจน และกำลังเดินไปสู่แนวทางที่ นพ.ประเวศ ได้ปูทางมาก่อนหน้านี้
ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 1 สิงหาคม 2557
- 19 views