8 องค์กรสุขภาพ สงสัย อภ.ตั้งคณะทำงานบริหารล้างไตช่องท้อง ข้องใจไม่น่าใช่ภารกิจของอภ. แถมยังมีพิรุธ ผอ.อภ.ส่อทุจริต หลังมีมติเช่าสถานที่รพ.มหาสารคามอินเตอร์ ฮั้วกับที่ปรึกษาคณะทำงานและเป็นเจ้าของรพ. ด้วย เพื่อเป็นพื้นที่นำร่อง 18 เดือน ค่าเช่ากว่า 8 ล้านบาท แต่กลับใช้วิธีตกลงราคา แทนที่จะเปิดซองเพื่อแข่งขัน ด้าน ผอ.อภ.แจงทำตามคำแนะนำ สปสช. ยันเป็นโครงการวิจัย ไม่ต้องประกวดราคา เลือก รพ.เอกชน เพราะ รพ.รัฐพื้นที่เต็ม
31 ก.ค. 57 นพ.วชิระ บถพิบูลย์ ตัวแทนชมรมแพทย์ชนบทและตัวแทน 8 เครือข่ายองค์กรด้านสุขภาพ กล่าวว่า ขณะนี้มีประเด็นที่จะส่อการทุจริตในองค์การเภสัชกรรม(อภ.) ขึ้นมาอีกกรณีหนึ่ง สืบเนื่องจากที่ นพ.สุวัช เซียศิริวัฒนา ผอ.อภ.ได้แต่งตั้งคณะทำงานบริหารโครงการ CAPD หรือการล้างไตทางช่องท้องสำหรับผู้ป่วยที่ล้างไตทางช่องท้อง โดยมี นพ.สุวัช เป็นประธาน และมี นพ.ดำรัส โรจนเสถียร กรรมการบริษัทมหาสารคามเมดิคอล จำกัด ซึ่งบริหารรพ.มหาสารคามอินเตอร์ จ.มหาสารคาม เป็นที่ปรึกษา ซึ่งคณะทำงานนี้มีมติเมื่อวันที่ 24 ก.ค.57 เห็นชอบให้จัดตั้งโครงการศูนย์สนับสนุนงานล้างไตและฟอกเลือดเพื่อผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ทั้งยังเห็นชอบให้เช่าพื้นที่รพ.มหาสารคามอินเตอร์ ซึ่ง น.พ.ดำรัสเป็นเจ้าของ ให้เป็นสถานที่ดำเนินโครงการนำร่อง ค่าเช่าเดือนละ 462,000 บาท เป็นเวลา 18 เดือน ระยะเวลาตั้งแต่ 1 ส.ค.57-31 ม.ค.59 รวมแล้วเป็นเงินกว่า 8,316,000 บาท เฉพาะค่าเช่าที่อย่างเดียว ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า ไม่มีการเปิดให้มีการเปิดซองเปรียบเทียบราคา เพื่อเปิดโอกาสให้ที่อื่นเสนอราคาแข่งขันได้ แต่กลับใช้วิธีตกลงราคาเลือกบริษัทนี้ คล้ายกับมีเจตนาฮั้วกันหรือไม่
นพ.วชิระ กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกัน การที่ อภ.จะดำเนินการนำร่องเรื่องโครงการล้างไตทางช่องท้องนี้ ควรเป็นความร่วมมือกับ สปสช.จะดีกว่าหรือไม่ เพราะที่ผ่านมา สปสช.ก็มีนโยบาย CAPD First หรือสนับสนุนให้เลือกวิธีล้างไตทางช่องท้องก่อน สำหรับผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายในระบบ แต่ครั้งนี้มีเจตนาส่อทุจริต โดยที่สปสช.ไม่ทราบเรื่อง ขณะเดียวกันการแต่งตั้งให้นพ.ดำรัส เป็นที่ปรึกษาเรื่องโครงการล้างไตทางช่องท้อง ก็ไม่แน่ใจถึงความเหมาะสม เพราะเท่าที่ทราบ นพ.ดำรัส สนับสนุนการฟอกไตมากกว่า
“นอกจากนี้ จากการที่อภ.และสปสช.ทำข้อตกลงร่วมกันเรื่องการจัดส่งน้ำยาล้างไตให้กับผู้ป่วย โดย อภ.ทำหน้าที่เป็นผู้จัดซื้อน้ำยาล้างไตแทน สปสช. มีรายงานว่า อภ.ไม่สามารถจัดส่งน้ำยาได้ทัน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยได้” ตัวแทนชมรมแพทย์ชนบทกล่าว
นพ.วชิระ กล่าวว่า จากการดำเนินการดังกล่าวของอภ. มีข้อสังเกตว่า 1.เป็นพันธกิจของอภ.หรือไม่ ที่จะจัดบริการล้างไตทางหน้าช่องท้องหรือฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมที่มหาสารคามจึงต้องไปเช่าที่ของรพ.มหาสารคามอินเตอร์ ซึ่งเดิมเป็นพื้นที่ห้องผ่าตัด ห้องไตเทียม ห้องไอซียู 2.เป็นพันธกิจของอภ.หรือไม่ที่จะต้องทำศูนย์สนับสนุนงานล้างไตและฟอกเลือดเพื่อผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง หรือ Dialysis BACKUP CENTER ซึ่งไม่น่าจะใช่ภารกิจอภ. แต่น่าจะเป็นภารกิจร่วมของอภ.และสปสช. ซึ่งอภ.ต้องทำเรื่องการจัดหาน้ำยาล้างไตและสำรองให้เพียงพอสำหรับผู้ป่วยสิทธิบัตรทองทั่วประเทศจะดีกว่า
3.การตั้งที่ปรึกษาของคณะทำงาน แล้วไปดำเนินการเช่าพื้นที่ของที่ปรึกษาท่านนั้น เข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อนและทำให้ราชการเสียหายหรือไม่
4.การกระทำการจัดซื้อจัดจ้างอาจจะผิดระเบียบพัสดุเนื่องจากมูลค่าตั้งแต่ 1แสนบาท เกินสองล้านบาท ต้องประกวดราคาไม่สามารถใช้การตกลงราคาได้
ทางด้าน นพ.ปานเทพ คณานุรักษ์ ผอ.แผนงานสนับสนุนระบบบริการโรคไตวาย สปสช. กล่าวถึงประเด็นการจัดส่งน้ำยางล้างไตให้สปสช.ว่า ปัญหาดังกล่าวไม่มีผลกระทบกับผู้ป่วย ขณะนี้ยังคงได้รับน้ำยาต่อเนื่องตามปกติ แต่ยอมรับว่ามีปัญหาการจัดส่งน้ำยาล้างไตช้าอยู่บ้าง อย่างไรก็ตามการดำเนินการระหว่างอภ.และสปสช. เป็นข้อตกลงความร่วมมือ สปสช.ให้อภ.ทำหน้าที่จัดซื้อน้ำยาล้างไตและจัดส่งให้กับผู้ป่วย หากอภ.ไม่สามารถดำเนินการได้ สปสช.ก็จะดำเนินการหาหน่วยงานอื่นเพื่อมาทำหน้าที่นี้ต่อไป แต่ยืนยันว่าในขณะนี้ไม่ได้มีปัญหาใดๆ ผู้ป่วยยังได้รับน้ำยาล้างไตตามปกติ
ด้านเวบไซต์ASTVผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า นพ.สุวัช กล่าวว่า โครงการดังกล่าวเคยได้รับคำแนะนำจาก สปสช.ว่าต้องการให้ อภ.มีการผลิตน้ำยาล้างไต และการจัดส่งที่มีคุณภาพ ลดปัญหาที่ผู้ป่วยจะได้รับ โดยเฉพาะกรณีการจัดส่งน้ำยา ซึ่งกว่าจะถึงผู้ป่วยอาจเกิดปัญหาน้ำยาเสียหาย ตรงนี้จะเป็นการศึกษาและพัฒนาน้ำยาให้มีคุณภาพ รวมทั้งการขนส่งให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น อีกทั้งโครงการดังกล่าวเป็นโครงการศึกษาวิจัย จึงไม่ต้องมีการประกวดราคาเลือกบริษัทมาดำเนินการ ส่วนที่ต้องเลือกพื้นที่เอกชน เพราะพื้นที่โรงพยาบาลรัฐเต็ม ไม่มีสถานที่พอในการดำเนินการ ยืนยันว่าเรื่องทุกอย่างมีข้อเท็จจริง และพร้อมชี้แจงทุกเรื่อง
- 27 views