สธ.ประชุมชี้แจงมาตรการการบรรจุข้าราชการใหม่ จำนวน 9,074 อัตรา ให้ผู้บริหารทุกจังหวัดดำเนินการอย่างโปร่งใส โดยให้ทำหลักเกณฑ์การจัดสรรตำแหน่งและการคัดเลือกลงสู่ตำแหน่งของแต่ละจังหวัด พร้อมนำเสนอส่วนกลางในวันที่ 7 – 9 สิงหาคม 2557 โดยจะมีการเชิญตัวแทนสหวิชาชีพร่วมรับฟัง เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและเป็นธรรม
30 ก.ค. 57 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประชุมวีดีโอทางไกลกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อชี้แจง เรื่องการจัดสรรตำแหน่งข้าราชการเพิ่มใหม่ของกระทรวงสาธารณสุข ที่ คสช.อนุมัติให้จำนวน 9,074 อัตรา บรรจุในปีงบประมาณ 2557
นพ.ณรงค์ กล่าวว่า ได้กำชับให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด และผู้ตรวจราชการรับผิดชอบดำเนินการ และติดตามการจัดสรรตำแหน่งอย่างใกล้ชิด และจะต้องไม่มีการร้องเรียนเกิดขึ้น โดยให้ใช้หลักเกณฑ์ในการพิจารณาบรรจุ ดังนี้ 1.ความขาดแคลน 2.อัตรากำลังที่ควรจะมีตามภาระงานโดยให้เขตบริการสุขภาพพิจารณากระจายตำแหน่งลงพื้นที่จังหวัด 3.แผนการจัดบริการ และ 4.การบริการปฐมภูมิตามจำนวนประชากรในพื้นที่ที่รับผิดชอบ
โดยให้ทุกเขตและจังหวัดเสนอหลักเกณฑ์การจัดสรรตำแหน่ง ตลอดจนการคัดเลือกผู้ที่จะเข้ารับตำแหน่ง พร้อมทั้งเสนอแผนการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารบุคคล การวางแผนด้านกำลังคน ในปี 2558 ในวันที่ 7 – 9 สิงหาคม 2557 โดยมีผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเขตบริการสุขภาพ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป คณะกรรมการเขตสุขภาพ ตัวแทนสหวิชาชีพของเขต และตัวแทนพยาบาลวิชาชีพของเขต เข้าร่วมรับฟัง แลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อให้มีความโปร่งใส และเกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจะรวบรวมนำเสนอ เพื่อขอตำแหน่งข้าราชการรอบที่ 3 จำนวน 7,547 อัตรา ภายในเดือนสิงหาคม 2557
นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในการบรรจุข้าราชการใหม่ จำนวน 9,074 อัตรา มี 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแพทย์ ทันตแพทย์ และเภสัชกร จำนวน 1,527 อัตรา ที่เป็นนักเรียนทุนรัฐบาลให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2557 โดยให้มีผลย้อนหลังวันที่ 1 เมษายน 2557 และกลุ่มที่ 2.คือบรรจุพยาบาลและบุคลากรสาธารณสุข รวม 19 สายงาน จำนวน 7,547 อัตรา ในจำนวนนี้เป็นพยาบาลวิชาชีพ 3,770 อัตรา โดยกระจายลงสถานบริการทุกระดับ ให้บรรจุพร้อมกันทั้งประเทศในวันที่ 29 สิงหาคม 2557
ขณะเดียวกันจะเร่งดำเนินการจัดทำยุทธศาสตร์กระทรวงสาธารณสุขระยะยาว 4 ด้าน ปรับปรุงระบบการบริหารกำลังคนให้เกิดประสิทธิภาพ ได้แก่ 1.การทบทวนบทบาทภารกิจและปรับปรุงระบบบริการสุขภาพ 2.การปรับระบบบริหารจัดการด้านงบประมาณ เช่น ปรับปรุงกระบวนการ และวิธีการปฏิบัติงาน ทางเลือกการจัดบริการสุขภาพรูปแบบอื่น 3.แนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้กำลังคนด้านสุขภาพ และ 4.การเพิ่มศักยภาพการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลในสถานบริการสุขภาพ ก่อนขอจัดสรรตำแหน่งของปี 2558 รวมทั้งมาตรการเร่งด่วนของ คสช. 3 เรื่อง ได้แก่ 1.การบริหารจัดการในรูปแบบของเขตบริการสุขภาพ 2. การปฏิรูปการเงินการคลังด้านสุขภาพ และ 3.การปฏิรูประบบข้อมูลด้านสุขภาพของชาติ เสนอสภาปฏิรูปแห่งชาติ ที่จะจัดตั้งขึ้นตามแนวทางการปฏิรูปประเทศของ คสช.ในระยะที่ 2 เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป
- 2 views