“เครือข่ายภาคประชาสังคม” ค้านแนวคิด “ไม่ยากจน ไม่ยากไร้ ไม่มีสิทธิ์ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ชี้เป็นการแบ่งแยกชนชั้นสังคม แถมฐานะคนไม่แน่นอน รวยอาจจนได้ ขณะที่โรคค่าใช้จ่ายสูงรักษาต่อเนื่องอาจทำคนมีเงินเข้าไม่ถึงการรักษาเช่นกัน ซ้ำร้ายทำคนจนเข้าไม่ถึงสิทธิการรักษา เหตุมีคน “อยากจน” ใช้สิทธิแทน พร้อมเสนอ รธน.ฉบับใหม่ตัดคำว่า “ผู้ยากไร้ออก” เพราะ “ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ต้องเป็นของประชาชนทุกคน
นางพูลทรัพย์ สวนเมือง ตุลาพันธ์
นางพูลทรัพย์ สวนเมือง ตุลาพันธ์ ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยที่จะกำหนดให้สิทธิระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเฉพาะคนจนหรือยากไร้เท่านั้น เพราะมีข้อพิสูจน์แล้วว่าการเจาะจงกำหนดสิทธิเฉพาะกลุ่มส่วนใหญ่สิทธิเหล่านั้นจะไม่ถึงคนจน เพราะจะมีคนอยากจนที่ไม่ใช่จนจริงเข้ามาใช้สิทธิแทน ซึ่งเราเคยมีบทเรียนจากกรณีกองทุนเบี้ยยังชีพที่กำหนดให้สิทธิเฉพาะคนจน ไม่ได้ให้คนทุกคน แต่ปรากฎว่าคนที่ได้รับเบี้ยยังชีพกลับไม่จน เพราะมีคนอยากจนรับสิทธิแทน โดยผู้คัดเลือกได้เลือกญาติพี่น้องให้มารับสิทธิแทน ดังนั้นหากทำเป็นระบบถ้วนหน้าคนจนจะเข้าถึงสิทธิมากกว่า รวมไปถึงระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และเรื่องนี้เป็นที่พิสูจน์ในหลายประเทศแล้ว
ทั้งนี้ส่วนที่กังวลว่าจะเป็นภาระงบประมาณประเทศนั้น ไม่ต้องกังวลคนที่มีเงินจะมาใช้ระบบนี้ เพราะคนที่มีเงินจ่ายได้เขาเลือกไปรับบริการยังเอกชนอยู่แล้ว หรือซื้อประกันสุขภาพของเอกชน อีกทั้งเรื่องสุขภาพและรักษาพยาบาลเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องดูแลและประกันความเสี่ยงให้กับประชาชนทุกคน
“ถ้ามีการกำหนดให้สิทธิรักษาพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจำกัดเฉพาะคนจน จะทำให้คนจนเข้าไม่ถึง คนที่มีเงินทำเป็นคนจนเพื่อรับรักษาฟรี และจะทำให้คนจนถูกเบียดไมได้สิทธิ ในที่สุดคนจนก็เป็นกลุ่มคนที่ขาดโอกาสเช่นเดิม” นางพูลทรัพย์ กล่าว และว่า ก่อนหน้านี้รัฐธรรมนูญได้กำหนดให้ รัฐดูแลรักษาพยาบาลให้กับคนจนและยากไร้ ซึ่งควรปรับแก้โดยระบุ รัฐจะต้องจัดบริการพื้นฐานซึ่งรวมถึงบริการรักษาพยาบาลสำหรับประชาชนทุกคน ไม่ควรจำกัดแค่คนจนและคนยากไร้เท่านั้น
นางสมใจ เสริมสินสายทอง
นางสมใจ เสริมสินสายทอง ผู้ประสานงานชมรมสำเนาหัวใจ เครือข่ายผู้ป่วยโรคหัวใจ กล่าวว่า คำว่า “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ควรเป็นหลักประกันสุขภาพที่ให้ทั่วถึงกับประชาชนทุกคน ทุกสถานะ ไม่ควรจำกัดเพียงแค่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น ควรให้สิทธิ์การรักษาเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ เพราะในเรื่องของฐานะทางเศรษฐกิจมีความไม่แน่นอน คนที่จนก็อาจรวยได้ ขณะเดียวกันคนที่รวยก็อาจกลายเป็นคนจนได้เช่นกัน ดังนั้นเมื่อรัฐบาลดำเนินระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจึงไม่ควรสร้างหลักเกณฑ์ข้อจำกัดต่อการเข้าถึง ไม่ควรแบ่งคนรวย คนจน ขณะนี้เดียวกันยังมีกลุ่มคนที่มีฐานะระดับกลาง ตรงนี้ถามว่าจะแบ่งอย่างไร
นางสมใจ กล่าวว่า นอกจากนี้จากปัญหาโรคในปัจจุบัน พบว่ามีโรคที่ต้องใช้ค่ารักษาที่แพงมาก แม้แต่คนที่มีเงินเองก็อาจมีปัญหาการเข้าถึงเช่นกัน ซึ่งอาจมีการกำหนดให้ผู้ใช้สิทธิ์ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นคนจนและยากไร้เท่านั้น จะกลายเป็นการกีดกันทำให้ผู้ป่วยที่ควรได้รับการดูแลเข้าไม่ถึงการรักษาที่จำเป็นได้ อย่างไรก็ตามตามหลักการระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นระบบที่เฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข ซึ่งไม่ใช่ทุกคน 48 ล้านคนที่มีสิทธิ์ในกองทุนนี้จะใช้สิทธิทั้งหมด มีคนที่คิดว่าจ่ายได้เองจำนวนไม่น้อยที่เลือกจ่ายค่ารักษาเพื่อเข้ารับบริการยังโรงพยาบาลเอกชน หรือซื้อประกันสุขภาพรักษาพยาบาลของเอกชน ดังนั้นจึงควรให้ประชาชนเป็นผู้เลือกว่าจะใช้สิทธิรักษาในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือไม่
“โรคบางโรคมีค่ารักษาที่แพงมาก ทั้งยังต้องรักษาต่อเนื่อง ทำให้แม้แต่คนที่มีฐานะก็อาจมีปัญหาการเข้าถึงการรักษาได้ อย่างเครือข่ายโรคหัวใจ ซึ่งได้ทำงานดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจที่โรงพยาบาลราชวิถี จากการพูดคุยกับผู้ป่วยส่วนใหญ่ ต่างกังวลต่อค่าผ่าตัด ค่ารักษาทั้งนั้น หากไม่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าคงไม่ได้เข้ารับการรักษาแน่นอน แม้แต่คนที่พอมีฐานะก็มีความเห็นเดียวกัน ซึ่งหากไม่ป่วยจริงๆ คนเหล่านี้ก็ไม่อยากมาโรงพยาบาล” ผู้ประสานงานชมรมสำเนาหัวใจ กล่าว
น.ส.วิมล ถวิลพงษ์
น.ส.วิมล ถวิลพงษ์ ผู้ประสานงานองค์กรสลัม 4 ภาค กล่าวว่า เมื่อพูดถึงหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มองว่าเป็นสิ่งที่รัฐต้องดูแลให้กับประชาชน เป็นการประกันความเสี่ยงด้านสุขภาพ จึงไม่ควรจำกัดว่าเป็นคนจนหรือคนรวย อีกทั้งการกำหนดดังกล่าวในแง่หลักสิทธิมนุษยชนยังเป็นการแบ่งแยกชนชั้นที่ไม่ควรเกิดขึ้นในประเทศไทย เป็นความเหลื่อมล้ำ และแนวทางที่ถูกต้องคือต้องให้ประชาชนเป็นผู้เลือกเองว่าจะใช้สิทธิหรือไม่ เพราะในกรณีคนที่มีเงินมากๆ ก็คงไม่อยากมารับบริการที่ต้องรอนาน คงจะยอมจ่ายเงินเพื่อรับบริการที่สะดวกกว่าในโรงพยาบาลเอกชน แต่การกำหนดให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นสิทธิคนไทยทุกคน เพื่อให้ครอบคลุมกรณีที่อาจเกิดปัญหาทางเศรษฐกิจขึ้น ซึ่งจะทำให้คนมีฐานะกลายเป็นคนเคยมีฐานะ ส่งผลต่อการเข้าไปถึงการรักษาได้
น.ส.วิมล กล่าวต่อว่า ในขณะนี้เป็นช่วงที่อยู่ระหว่างการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ควรกำหนดให้สิทธิรักษาพยาบาลที่รัฐจัดให้นั้น เป็นสิทธิของคนไทยทุกคน ซึ่งในช่วงการดำเนินงาน 12 ปีของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า สามารถช่วยให้คนไทยทุกคนเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ นอกจากนี้ภาครัฐเองควรที่จะสนับสนุนเพราะการเข้าถึงการรักษาเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน เป็นการกำหนดนโยบายที่ทำให้ประชาชนได้ประโยชน์แท้จริง ต่างจากนโยบายอื่น
“การที่ระบุว่าการดำเนินนโยบายระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นภาระงบประมาณประเทศ และควรจำกัดเฉพาะคนจนและคนยากไร้เท่านั้น มองว่าไม่ถูกต้อง เพราะค่ารักษาพยาบาลรัฐบาลใช้เงินค่าเหมาจ่ายรายหัวเพียงไม่กี่บาทต่อคน แต่ประโยชน์ได้กับประชาชนเต็มที่” ผู้ประสานงานสลัมองค์กร 4 ภาค กล่าว
น.ส.สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า ตามหลักการระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประชาชนควรได้รับสิทธิคุ้มครองที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ ไม่ควรริดรอนสิทธิการเข้าถึงการรักษากลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งรัฐบาลมีหน้าที่ดูแลและคุ้มครองการเข้าถึงบริการสาธารณสุขและรักษาพยาบาลที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน และในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น จากรัฐธรรมนูญฉบับเดิมช่วงหนึ่งกำหนดไว้ว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับบริการทางสาธารณสุขที่ได้มาตรฐานและ “ผู้ยากไร้” มีสิทธิได้รับการรักษาจากสถานบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ควรตัดคำว่ายากไร้ออก เนื่องจากภายหลังการดำเนินระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยปีนี้เข้าสู่ปีที่ 12 แล้ว เป็นการจัดหาบริการสุขภาพเพื่อให้กับประชาชนทั้งประเทศที่ไม่มีหลักประกันสุขภาพสามารถเข้าถึงการรักษา
“มองว่าในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ควรเสนอให้ตัดคำว่ายากไร้ออกได้แล้ว เพราะปัจจุบันกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นกองทุนที่ช่วยให้คนไทยเข้าถึงการรักษา ไม่ได้จำกัดเพียงแค่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง” ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าว และว่า นอกจากนี้ยังต้องกำหนดให้ทุกหน่วยบริการดูแลผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ไม่แต่เฉพาะหน่วยบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น.
- 30 views