กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผยผลการศึกษาพบเชื้อไวรัสชิคุนกุนยาสายพันธุ์ IOL โดยส่วนใหญ่จะระบาดทางภาคใต้ของประเทศไทย สามารถถ่ายทอดเชื้อไวรัสจากแม่สู่ลูกได้ (transovarial Transmission) ทั้งยุงลายบ้านและยุงลายสวน ซึ่งข้อมูลดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อวงการสาธารณสุขไทยในการเฝ้าระวังโรคเพื่อป้องกันการระบาดของโรคที่อาจเกิดขึ้นในภูมิภาคอื่นๆของประเทศไทยได้
นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า โรคไข้ปวดข้อยุงลายหรือชิคุนกุนยา (Chikungunya fever) เกิดจากการติดเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา (Chikungunya virus) มียุงลายบ้าน (Aedes aegypti) และยุงลายสวน (Aedes albopictus) เป็นพาหะนำโรคมาสู่คน พบครั้งแรกในทวีปแอฟริกา ซึ่งในช่วงที่มีการระบาดในปี พ.ศ. 2548 – 2549 พบว่าเชื้อไวรัสชิคุนกุนยาที่แยกได้เป็นสายพันธุ์แอฟริกามีการกลายพันธุ์ (Indian Ocean Lineage strain, IOL) โดยเมื่อเชื้อไวรัสชิคุนกุนยาที่กลายพันธุ์นี้ไปเจริญในยุงลายสวนจะทำให้เกิดการติดเชื้อที่ต่อมน้ำลายของยุงลายสวนได้ดีขึ้นทำให้เพิ่มศักยภาพในการถ่ายทอดเชื้อไวรัสจากยุงลายสวนไปสู่คนได้ดี หลังจากนั้นโรคไข้ปวดข้อยุงลายได้ระบาดไปยังหลายประเทศทั่วโลกในทวีปยุโรป อเมริกาและออสเตรเลีย ซึ่งมีสาเหตุมาจากการที่นักท่องเที่ยวติดเชื้อไวรัสชิคุนกุนยามาจากพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคและนำกลับมายังประเทศของตนเอง โดยมีการนำเชื้อไวรัสชิคุนกุนยาที่กลายพันธุ์นี้ไปสู่พื้นที่ที่มีความชุกชุมของยุงลายสวนสูงและการระบาดได้ลุกลามมายังหลายประเทศในทวีปเอเชียรวมถึงประเทศไทย ซึ่งในอดีตโรคไข้ปวดข้อยุงลายในประเทศไทยมียุงลายบ้านเป็นพาหะหลักนำเชื้อไวรัสชิคุนกุนยาสายพันธุ์เอเชีย (Asian strain) แต่การระบาดของโรคในปัจจุบันพบมากในหลายจังหวัดทางภาคใต้ที่มียุงลายสวนชุกชุมและได้มีการแยกเชื้อไวรัสชิคุนกุนยาจากยุงลายสวนและผู้ป่วยไข้ปวดข้อยุงลาย โดยพบว่าเป็นสายพันธุ์เดียวกับที่ก่อการระบาดในหลายประเทศทั่วโลก คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่มีภูมิต้านทานต่อไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้จึงมีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก เนื่องจากโรคนี้ยังไม่มีวัคซีนในการป้องกันและมาตรการในการควบคุมโรคยังไม่มีประสิทธิภาพดีพอ
นพ.อภิชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข โดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข ได้เห็นตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวจึงได้มีการศึกษาอัตราการติดเชื้อไวรัสชิคุนกุนยาและจำนวนรุ่นของยุงลายบ้านและยุงลายสวนที่สามารถถ่ายทอดเชื้อไวรัสจากแม่สู่ลูกได้ (transovarial transmission) เพื่อประเมินศักยภาพในการนำโรคของยุงลายทั้งสองชนิด โดยให้ยุงลายบ้านและยุงลายสวนเพศเมียกินเลือดที่ผสมเชื้อไวรัสชิคุน กุนยาสายพันธุ์ IOL ที่แยกได้จากผู้ป่วยไข้ปวดข้อยุงลาย และนำลูกน้ำยุงลายที่ได้ในแต่ละรุ่นมาตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัสชิคุนกุนยาโดยวิธี real time RT-PCR จากการศึกษาพบว่ายุงลายบ้านสามารถติดเชื้อไวรัสชิคุน กุนยาสายพันธุ์ IOL ได้ และถ่ายทอดเชื้อไวรัสนี้ได้ทางไข่จากแม่ไปสู่ลูกได้ 5 รุ่น มีอัตราการติดเชื้อไวรัสร้อยละ 3.3 -16.7 ส่วนยุงลายสวนสามารถถ่ายทอดเชื้อไวรัสทางไข่จากแม่ไปสู่ลูกได้ 6 รุ่นในห้องปฏิบัติการ มีอัตราการติดเชื้อไวรัสร้อยละ 3.3 - 36.7 ซึ่งข้อมูลดังกล่าวเป็นการสนับสนุนงานวิจัยที่ได้มีรายงานว่าเชื้อไวรัสชิคุนกุนยาสายพันธุ์ IOL นี้ติดเชื้อในยุงลายสวนได้ดี เป็นการเพิ่มศักยภาพในการถ่ายทอดเชื้อไวรัสชิคุนกุนยาสายพันธุ์ที่ก่อการระบาดนี้มาสู่คนได้ นอกจากนี้ข้อมูลที่ได้ทำให้ทราบว่ายุงลายบ้านอาจจะมีความสามารถในการเป็นพาหะถ่ายทอดเชื้อไวรัสชิคุนกุนยาสายพันธุ์ IOL มาสู่คนได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อวงการสาธารณสุขไทยในการเฝ้าระวังโรคและควบคุมยุงลายบ้านและยุงลายสวนเพื่อป้องกันการระบาดของโรคไข้ปวดข้อยุงลายที่อาจจะเกิดขึ้นในภูมิภาคอื่นๆของประเทศไทยได้
- 148 views