คณบดีศิริราชมอบรางวัลผลงาน R2R ดีเด่น ชี้ช่วยพัฒนาบุคลากร แก้ปัญหางานประจำ เพิ่มประสิทธภาพการดูแลรักษาผู้ป่วย เข้าถึงบริการเพิ่มขึ้น ลดค่าใช้จ่าย ปลื้มแนวคิด R2R ขยายสู่วงการอื่นและต่างประเทศ สุดทึ่งหลากผลงาน รพ.สต.เปลี่ยนพฤติกรรม แก้ปัญหาสาธารณสุขทั้งหมู่บ้าน

วันนี้ (25 ก.ค.) ที่ศูนย์ประชุมอิมแพคฟอรั่ม เมืองทองธานี ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล กล่าวภายหลังมอบรางวัลผลงาน R2R ดีเด่น ในการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากงานประจำสู่งานวิจัย (R2R) ครั้งที่ 7 "เสริมพลัง สร้างคุณภาพ สู่สุขภาวะ" ว่า ในปีนี้มีการส่งผลงาน R2R ซึ่งเป็นการนำการวิจัยมาใช้แก้ปัญหาและพัฒนางานประจำ รวมเกือบ 500 ผลงาน โดยคณะกรรมการได้พิจารณาคัดเลือกให้ได้รับผลงาน R2R ดีเด่นจำนวน 47 ผลงาน แบ่งเป็นผลงานของหน่วยบริการระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ ตติยภูมิ งานด้านบริการ และนวัตกรรม ซึ่งประโยชน์ของงาน R2R นอกจากเป็นการพัฒนาทรัพยากรบุคคล ให้ได้เรียนรู้การแก้ปัญหางานประจำด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์แล้ว ยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการบริการ การดูแลรักษาผู้ป่วยให้ดีและมีคุณภาพมากขึ้น ทั้งยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาพยาบาล ผู้ป่วยและญาติมีความพึงพอใจต่อการให้บริการ ซึ่งนับเป็นประโยชน์ต่องานด้านสาธารณสุข
       
ศ.คลินิก นพ.อุดม กล่าวอีกว่า จากการเดินหน้าจัดงาน R2R มาเป็นเวลา 7 ปีร่วมกับเครือข่ายต่างๆ ทั้ง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) (สรพ.) และกระทรวงสาธารรณสุข (สธ.) นั้น ทำให้มีผู้เข้ามาร่วมทำงาน R2R เพิ่มมากขึ้น โดยปีนี้มีผู้เข้าร่วมประชุมมากถึง 1,500 คน ถือว่างาน R2R ได้เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญมีผู้คนจากวงการอื่นนอกจากวงการสาธารณสุขเข้ามาร่วมประชุมเพราะเห็นความสำคัญของงาน R2R ด้วย อาทิ วงการศึกษา ภาคเกษตร และภาคอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ยังขยายไปยังประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียนด้วย เช่น สิงคโปร์http://cdncache-a.akamaihd.net/items/it/img/arrow-10x10.png มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เป็นต้น หากงาน R2R จะขยายไปทุกวงการทั่วประเทศ จะช่วยให้ประเทศเกิดการพัฒนาขึ้นได้ เพราะเป็นการพัฒนาศักยภาพบุคคล
       
ด้าน รศ.นพ.เชิดชัย นพมณีจำรัสเลิศ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนอาร์ทูอาร์ประเทศไทย กล่าวว่า แต่เดิมงาน R2R ครอบคลุมเพียง 9 เครือข่าย 65 จังหวัดทั่วประเทศ แต่ในปีนี้ สธ.ได้ความสนใจ จงทำให้งาน R2R แพร่หลายไปทั่ว ครอบคลุม 12 เครือข่าย ตามเขตบริการสุขภาพ บุคลากรทางด้านสาธารณสุขทุกระดับ ตั้งแต่ แพทย์ พยาบาล พนักงานระดับปฏิบัติการทุกระดับต่างได้พัฒนางานวิจัยจากงานประจำของตนเองมานำเสนอ ที่น่าสนใจคือระดับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) มีการดำเนินการได้ดีมาก บางงานสามารถปรับปรุงพฤติกรรมเพื่อแก้ปัญหาด้านสาธารณสุขได้ทั้งหมู่บ้าน โดยเกณฑ์สำคัญในการพิจารณาผลงานให้ได้รางวัลคือ ต้องเป็นปัญหาจากงานประจำ ผู้ปฏิบัติงานต้องเก็บข้อมูลเอง เกิดการเรียนรู้ ผลลัพธ์ต้องชัดเจนว่าผู้ป่วยได้อะไร และมีการนำไปใช้ให้เห็นผลจริง
       
"มีผู้คนหน้าใหม่มาร่วมงานประชุม R2R เพราะให้ความสนใจมากขึ้น อย่างปีนี้ผู้เข้าร่วมประชุมพบว่ากว่า 70% เป็นคนหน้าใหม่ที่มาเรียนรู้กระบวนการทำ R2R ทั้งสิ้น ซึ่งเกิดจากการที่โรงพยาบาลในสังกัด สธ.ให้ความสนใจ และชักชวนกันมาแลกเปลี่ยนรู้ โดยในงานประชุมเรามีคลินิกเริ่มต้นการทำ R2R ให้คำปรึกษาด้วย" รศ.นพ.เชิดชัย กล่าว