เครือข่ายพยาบาลลูกจ้างไม่เห็นด้วยหากชมรมสหวิชาชีพจะร้องศาลปกครอง เหตุส่งผลกระทบบรรจุข้าราชการต่อวิชาชีพอื่น แนะปลัดสธ.เรียก 21 วิชาชีพมาหารือก่อน เหตุยังเหลื่อมล้ำและไม่ชัดเจน ห่วงรอบที่ 3 จะมีพยาบาลได้บรรจุเท่าไหร่ หลังรอบ 1 และ 2 ได้รอบละ 3 พันกว่าคน ยังเหลือพยาบาลรอบรรจุกว่า 9 พันคน หวั่นถูกผลักเป็นพกส. ด้านชมรมสหวิชาชีพเผยฟ้องศาลปกครองจะเป็นมาตรการสุดท้าย หากผลหารือ 25 ก.ค.นี้ ยังไม่ปรับเกลี่ยนเป็นธรรมเดินหน้าแน่ รองวชิระวอนให้ใจเย็น รอการประชุม 25 ก.ค.นี้ แจงไม่ได้ใช้เกณฑ์ FTE กับรพ.สต. แต่ใช้ฐานประชากรกำหนด
จากกรณีชมรมสหวิชาชีพกระทรวงสาธารณสุขออกมาคัดค้านแนวทางการจัดสรรตำแหน่งข้าราชการของกระทรวงสาธารณสุขว่า ไม่เป็นธรรม ภายหลังที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เห็นชอบบรรจุลูกจ้างชั่วคราวของ สธ.เป็นข้าราชการจำนวน 7,547 อัตรา โดยเห็นว่าสัดส่วนในการกระจายพื้นที่ไม่ชัดเจน และหากไม่มีการหารือเพื่อปรับเปลี่ยน จะเคลื่อนไหวเพื่อร้องต่อศาลปกครองนั้น
น.ส.ศิริรัตน์ วงษ์บุดดา
24 ก.ค. 57 น.ส.ศิริรัตน์ วงษ์บุดดา ตัวแทนเครือข่ายพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราว สธ. กล่าวว่า โดยส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการฟ้องศาลปกครอง และเชื่อว่าทางชมรมสหวิชาชีพคงไม่ดำเนินการตามมาตรการนี้ เพราะหากทำจริงจะส่งผลต่อวิชาชีพอื่นๆ หยุดชะงักไปหมด ดังนั้น ควรมาหารือกับทางผู้บริหารกระทรวงฯ ก่อน โดยขอให้ ปลัด สธ. เรียกตัวแทน 21 สายงานที่ได้รับการบรรจุครั้งนี้มาหารือถึงเกณฑ์การจัดสรรตำแหน่งลงแต่ละพื้นที่อีกครั้ง เนื่องจากยังมีความเหลื่อมล้ำและไม่ชัดเจน โดยกรอบการบรรจุตำแหน่งเป็นข้าราชการตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) สมัย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีได้กำหนดกรอบการจัดสรรไว้ 3 ปี (2556 -2558) จำนวน 23,000 อัตรา แบ่งเป็นปีละประมาณ 7,500 อัตรา ซึ่งในส่วนของพยาบาลวิชาชีพมีทั้งหมด 16,000 อัตรา ในปีแรกคือ ปี 2556 ได้รับการจัดสรรจำนวน 3,200 อัตรา และปีที่ 2 คือ ปี 2557 ได้รับการจัดสรรที่ 3,695 อัตรา ซึ่งจะเหลือพยาบาลวิชาชีพที่เป็นลูกจ้างชั่วคราวรอบรรจุอีก 9,105 อัตรา ซึ่งน่าคิดว่าในปีที่ 3 คือ ปี 2558 พยาบาลวิชาชีพจะได้อัตราการบรรจุเท่าไร เนื่องจากไม่มีทางได้ทั้งหมด ทั้งๆที่ภาระงานมาก
"ที่กังวลคือ ตามเกณฑ์เงื่อนไขในการจัดสรรตำแหน่งของแต่ละวิชาชีพที่เคยได้ประชุมและสรุปกันนั้น ตกลงกันว่าทุกวิชาชีพจะได้รับการจัดสรรบรรจุสัดส่วนไม่เกิน 75 % ส่วนที่เหลือ 25% จะต้องเป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุข(พกส.) แต่ปรากฎว่าดูเหมือนแต่ละวิชาชีพ โดยเฉพาะพยาบาลอาจถูกผลักไปอยู่เป็นพกส.เกินกว่า 25% ด้วยซ้ำ จึงอยากให้ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดสธ. เรียกหารือเรื่องนี้เพื่อกำหนดเกณฑ์ใหม่ร่วมกันดีกว่า โดยทางเครือข่ายฯจะปรึกษาหารือว่าจะเคลื่อนไหวเรื่องนี้อย่างไร ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะขอเข้าพบปลัด สธ.อีกครั้ง" น.ส.ศิริรัตน์ กล่าว
นายวัฒนะชัย นามตะ
นายวัฒนะชัย นามตะ ประธานชมรมสหวิชาชีพกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากการหารือกับทางวิชาชีพต่างๆ มีความเห็นตรงกันว่า การจัดสรรตำแหน่งครั้งนี้ไม่มีความเป็นธรรม และมีความเหลื่อมล้ำในระดับพื้นที่มาก ซึ่งมาตรการในการร้องศาลปกครองเพื่อขอคุ้มครองชั่วคราวนั้น พวกตนจะถือเป็นทางเลือกสุดท้าย โดยขณะนี้ได้ให้ฝ่ายกฎหมายของชมรมฯ รวบรวมหลักฐานที่เกี่ยวข้องเตรียมไว้แล้ว หากผลการประชุมของ สธ. ในวันที่ 25 กรกฎาคมนี้ไม่มีการปรับเฉลี่ยอัตรากำลังกันใหม่อย่างเป็นธรรมก็จะมีการหารือเพื่อเคลื่อนไหวอย่างแน่นอน
นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัด สธ. กล่าวว่า ในวันที่ 25 กรกฎาคมนี้จะมีการประชุมเรื่องการจัดสรรตำแหน่งแต่ละวิชาชีพว่าจะกระจายอย่างไร เบื้องต้นได้มีการกำหนดการจัดสรรไว้แล้ว เนื่องจากประเด็นดังกล่าวมีการประชุมหารือมาก่อนตามความจำเป็นของแต่ละพื้นที่ จึงไม่อยากให้กังวลเรื่องนี้ ส่วนกรณีที่ชมรมสหวิชาชีพฯ ออกมาไม่เห็นด้วยกับเงื่อนไขการจัดสรรของ สธ.ที่เรียกว่า FTE ข้อเท็จจริงคือ เกณฑ์เงื่อนไขในส่วนของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) ไม่ได้ใช้เกณฑ์FTE ตามที่ชมรมสหวิชาชีพฯ ระบุ แต่การจัดสรรของรพ.สต.จะใช้ฐานประชากรกำหนด เนื่องจากเป็นโรงพยาบาลขนาดเล็กที่มีประชากรแตกต่างกัน โดยจะแบ่งเป็น รพ.สต.ขนาดเล็กมีประชากรต่ำกว่า 3,000 คน รพ.สต.ขนาดกลาง มีประชากร 3,000-8,000 คน และรพ.สต.ขนาดใหญ่มีประชากร 8,000 คน โดยการพิจารณาจัดสรรอัตรากำลังแต่ละวิชาชีพนั้น ให้พิจารณาตามฐานประชากร โดยประชากร 1,250 คนให้จัดสรรบุคลากรสาธารณสุขไปประจำจำนวน 1 คน โดยให้พิจารณาเลือกวิชาชีพตามความจำเป็นของแต่ละพื้นที่
"ไม่อยากให้กังวลว่า รพ.สต.จะมีบุคลากรสาธารณสุขไม่เพียงพอ เนื่องจากเมื่อมีการแบ่งเป็นเขตบริการสุขภาพก็จะมีการใช้ทรัพยากร และบุคลากรร่วมกันของโรงพยาบาลขนาดใหญ่มาช่วยโรงพยาบาลขนาดเล็ก ดังนั้น อยากให้ใจเย็นๆ และรับฟังข้อเท็จจริง ซึ่งทางสธ.มีทีมชี้แจงแล้ว และไม่ห่วงเรื่องที่จะไปฟ้องศาลปกครองคุ้มครองชั่วคราว เพราะเรื่องนี้ยังไม่มีความเสียหายต่อตัวบุคลากร" นพ.วชิระ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับอัตรากำลังในการบรรจุเป็นข้าราชการจำนวน 7,547 อัตรา แบ่งเป็นพยาบาลวิชาชีพ 3,695 อัตรา เภสัชกร 350 อัตรา นักเทคนิคการแพทย์ 505 อัตรา นักกายภาพบำบัด 450 อัตรา นักรังสีการแพทย์ 47 อัตรา นักกิจกรรมบำบัด 50 อัตรา นักจิตวิทยาคลินิก 10 อัตรา นักเวชศาสตร์การสื่อความหมาย 17 อัตรา นักเทคโนโลยีหัวใจและทรวงอก 72 อัตรา แพทย์แผนไทย 235 อัตรา นักวิชาการสาธารณสุข 236 อัตรา นักกายอุปกรณ์ 6 อัตรา เจ้าพนักงานทันตสาธารณสุข 350 อัตรา เจ้าพนักงานเภสัชกรรม 200 อัตรา เจ้าพนักงานวิทยาศาสตร์การแพทย์ 20 อัตรา เจ้าพนักงานสาธารณสุข 908 อัตรา เจ้าพนักงานเวชสถิติ 80 อัตรา เจ้าพนักงานโสตทัศนศึกษา 20 อัตรา เจ้าพนักงานสาธารณสุข(เวชกิจฉุกเฉิน) 209 อัตรา พยาบาลวิชาชีพ(สบช) 75 อัตรา และแพทย์แผนไทย(สบช) ว.อภัยภูเบศร์ 12 อัตรา
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
มติคสช.บรรจุลูกจ้างและนักเรียนทุนสธ.เป็นข้าราชการปี 57 รวม 9,074 ตำแหน่ง
สหวิชาชีพชี้เกณฑ์สธ.บรรจุขรก.ปี 57 ไม่เป็นธรรม ขู่ฟ้องศาลปกครอง
สธ.ยันบรรจุข้าราชการใหม่ 7,547 อัตรา ยึดหลักเกณฑ์ร่วมจากทุกวิชาชีพ
- 33 views