เวบไซต์ The Conversation ออสเตรเลีย ระบุว่าจากผลการศึกษาวิจัยโดยนักวิจัยด้านเวชปฎิบัติทั่วไปจากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ชี้ว่า ข้อเสนอของรัฐบาลออสเตรเลียเกี่ยวกับระบบสุขภาพแบบประชาชนร่วมจ่าย และการเพิ่มขึ้นของเพดานชุดสิทธิประโยชน์ด้านยา อาจส่งผลกระทบด้านงบประมาณมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ หากนโยบายทั้งสองข้อนี้ได้รับการประกาศใช้ จะส่งผลให้ค่าใช้จ่ายรายหัวเฉลี่ยต่อคนต่อปีที่คำนวณเพิ่มตามอายุของประชากร
เวบไซต์เดอะคอนเวอร์เซชั่น (The Conversation) ประเทศออสเตรเลีย โดย ศาสตราจารย์เกียรติยศมิเชล แกรตตัน (Michelle Grattan) มหาวิทยาลัยแคนเบอร์รา ประเทศออสเตรเลีย ได้เขียนบทความเกี่ยวกับข้อเสนอของรัฐบาลออสเตรเลียที่เกี่ยวกับระบบสุขภาพแบบประชาชนร่วมจ่าย เมื่อวันที่ 7 ก.ค.57 ว่า
จากผลการศึกษาวิจัยโดยนักวิจัยด้านเวชปฎิบัติทั่วไปจากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ชี้ว่า ข้อเสนอของรัฐบาลออสเตรเลียเกี่ยวกับระบบสุขภาพแบบประชาชนร่วมจ่าย (co - payment) และการเพิ่มขึ้นของเพดานชุดสิทธิประโยชน์ด้านยา อาจส่งผลกระทบด้านงบประมาณมากกว่าที่คาดการณ์ไว้
หากนโยบายทั้งสองข้อนี้ได้รับการประกาศใช้ จะส่งผลให้ค่าใช้จ่ายรายหัวเฉลี่ยต่อคนต่อปีที่คำนวณเพิ่มตามอายุของประชากร จะมีการปรับเพิ่มขึ้นเริ่มตั้งแต่ 36 ดอลลาร์สำหรับเด็ก ไปจนถึง 122 ดอลลาร์สำหรับคนที่อายุมีอายุ 65 ปีขึ้นไป
การศึกษานี้ระบุว่า ครอบครัวขนาดเล็กที่มีสมาชิก 4 คน คาดว่าจะต้องจ่ายเงินประมาณ 170 ดอลลาร์ เพื่อร่วมจ่ายในกรณีที่แพทย์ทั่วไปมาเยี่ยมและตรวจรักษาที่บ้าน และต้องจ่ายเพิ่มอีก 14 ดอลล่าร์สำหรับการสั่งจ่ายยา กล่าวคือ รวมแล้วมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นต่อปีถึง 184 ดอลลาร์
ส่วนคู่สมรสเกษียณอายุแล้วที่พึ่งตนเอง และไม่มีบัตรสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพ คาดว่าจะต้องจ่ายเงินเฉลี่ยประมาณ 189 ดอลล่าร์ เพื่อร่วมจ่ายในกรณีที่แพทย์ทั่วไปมาเยี่ยมและตรวจรักษาที่บ้าน และต้องจ่ายเพิ่มอีก 55 ดอลล่าร์สำหรับการสั่งจ่ายยา รวมแล้วมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นต่อปีราว 244 ดอลลาร์ขึ้นไป
ด้านคู่สมรสที่เกษียณแล้วแต่ได้รับบำนาญและมีบัตรสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพ จะต้องจ่ายเงินเฉลี่ย 140 ดอลลาร์ เพื่อร่วมจ่ายในกรณีที่แพทย์ทั่วไปมาเยี่ยมและตรวจรักษาที่บ้าน และต้องจ่ายอีก 59 ดอลลาร์สำหรับการสั่งจ่ายยา รวมแล้วต้องจ่ายเพิ่ม 199 ดอลลาร์
งานวิจัยชิ้นนี้เผยแพร่หลังจากที่ข้อเสนอร่วมจ่ายเผชิญหน้ากับความพ่ายแพ้ในที่ประชุมสมาชิกวุฒิสภาโดยมี นายไคลฟ์ พาลเมอร์ ยืนยันที่จะคัดค้านนโยบายดังกล่าว
คณะผู้วิจัย ประกอบไปด้วย แคลร์ เบยแรม, คริสโตเฟอร์ แฮริสัน, แกรเอม มิลเลอร์ และ เฮเลน่า บริทท์ จาก ศูนย์วิจัยด้านเวชศาสตร์ครอบครัว โรงเรียนการสาธารณสุขซิดนีย์ ทั้งนี้คณะวิจัยได้ใช้ข้อมูลจาก The Bettering the Evaluation and Care of Health (BEACH) ซึ่งเป็นโครงการระดับชาติที่ศึกษางานด้านเวชปฏิบัติทั่วไปมาอย่างต่อเนื่อง และสำหรับการศึกษาในครั้งนี้คณะวิจัยกล่าวว่าพวกเขาระมัดระวังอย่างมากในการตั้งสมมติฐาน
การศึกษานี้พบว่า กว่า 1 ใน 4 ของผู้ใหญ่ที่เข้ารับคำปรึกษากับแพทย์เวชปฎิบัติทั่วไป จำเป็นต้องเข้ารับการตรวจคัดกรอง 1 ครั้ง ซึ่งอย่างน้อยจะต้องร่วมจ่ายค่ารักษาเป็นเงินราว 14 ดอลลาร์ นอกจากนี้ประมาณร้อยละ 3 ของผู้ป่วยที่เข้าพบแพทย์ทั่วไป จำเป็นต้องได้รับการตรวจร่างกายโดยการสร้างภาพเหมือนจริงและการตรวจทางพยาธิวิทยา ซึ่งอย่างน้อยจะต้องร่วมจ่ายเป็นเงินราว 21 ดอลล่าร์
ปัจจุบันชาวออสเตรเลียแต่ละคนใช้บริการด้านสุขภาพในอัตราที่แตกต่างกัน จากค่าเฉลี่ยการไปเยี่ยมบ้านโดยแพทย์ทั่วไปซึ่งเก็บข้อมูลในปี ค.ศ. 2012-2013 พบค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 6.6 และมีอัตราเพิ่มขึ้นตามอายุอย่างมีนัยยะสำคัญ คือเด็กจะมีอัตราเฉลี่ยการใช้บริการอยู่ที่ 4.5 ในขณะที่คนสูงวัยที่อายุ 65 ปีขึ้นไปจะอยู่ที่ 10.5 ทั้งนี้อัตราค่าเฉลี่ยในการรับบริการทางพยาธิวิทยาก็มีรูปแบบที่คล้ายกับอัตราการเยี่ยมบ้านโดยแพทย์ทั่วไปนี้
“ด้วยเหตุนี้ การเสนอให้มีการร่วมจ่ายในระบบสุขภาพจะผลกระทบต่อประชากรอย่างไม่เท่าเทียมกัน โดยกลุ่มคนที่จำเป็นต้องใช้บริการทางการแพทย์ที่มากกว่าโดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุที่เจ็บป่วยจะได้รับผลกระทบมากที่สุด" รายงานการศึกษาดังกล่าวได้ระบุไว้เช่นนี้
นโยบายร่วมจ่าย จะเปลี่ยนรูปแบบการใช้บริการทางการแพทย์ ในขณะเดียวกันก็จะส่งผลกระทบที่แตกต่างกันในคนไข้แต่ละกลุ่ม
“เมื่อเทียบกับประเทศสมาชิกในองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) ออสเตรเลียเป็นหนึ่งในประเทศที่ประชาชนมีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่สูง การที่รัฐบาลเสนอให้ประชาชนมีสวนรวมจายคาบริการนั้นก็เพราะต้องการจะมั่นใจว่าระบบบริการสุขภาพจะสามารถดำเนินการได้อย่างยั่งยืนและถูกใช้มีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตามยังไม่มีหลักฐานว่าจะมีการนำแบบจำลองใดมาใช้ประเมินผบกระทบของการร่วมจ่ายค่ารักษาที่จะส่งผลต่อการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ ทั้งการเข้าพบแพทย์ทั่วไปหรือการเข้ารับบริการที่ห้องฉุกเฉิน"
จากการศึกษาพบว่าในปี 2012 - 2013 มีประชากรราวร้อยละ 5.8 ที่มาพบแพทย์ทั่วไปล่าช้าหรือไม่มาพบแพทย์เลยเพราะเหตุปัจจัยด้านค่ารักษาพยาบาล ซึ่งนับว่าเป็นกำแพงขนาดใหญ่ที่ขวางกั้นผู้ป่วยยากไร้ไม่ให้เข้าถึงบริการสุขภาพ
“ดูเหมือนว่าค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากนโยบายร่วมจ่ายนี้ อาจยิ่งขวางกั้นประชาชนจากการเข้ารับการตรวจคัดกรองและการได้รับยารักษาโรคที่จำเป็น เรื่องนี้กลายประเด็นที่น่ากังวลเมื่อพบว่า ขณะนี้ประชาชนในแถบชนบทกว่าร้อยละ 13 ไปพบแพทย์ล่าช้าหรือไม่ไปพบแพทย์เลยเหตุเพราะค่ารักษาพยาบาล ในขณะที่อีกกว่าร้อยละ15 ซื้อยากินเองโดยใช้ใบสั่งยาเดิม"
ในรายงานการศึกษานี้ยังระบุด้วยว่า “จากการศึกษาในต่างประเทศชี้ว่า มีหลักฐานเพียงเล็กน้อยที่อ้างว่าค่าใช่จ่ายด้านสุขภาพลดลงจากการใช้นโยบายร่วมจ่าย ในขณะเดียวกัน ก็มีหลักฐานที่ให้ข้อเสนอแนะว่าค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพในระยะยาวอาจจะสูงขึ้นเหตุเพราะคนไข้เข้าไม่ถึงการบริการสาธารณสุขที่จำเป็น ส่งผลให้อัตราการเจ็บป่วยที่ต้องนอนพักรักษาในโรงพยาบาลเพิ่มสูงขึ้นเช่นเดียวกันกับการดำเนินโรคที่รุนแรงขึ้น”
จากการศึกษาในระดับนานาชาติต่างเสนอแนะว่าระบบสุขภาพที่มีประสิทธิภาพ มีความคุ้มค่า และเท่าเทียม จะต้องมุ่งเน้นไปที่การบริการระดับปฐมภูมิ หากออสเตรเลียต้องการที่จะรักษาประสิทธิภาพและความเท่าเทียมในระบบสุขภาพ จะต้องตระหนักว่าระบบการแพทย์เวชปฎิบัติทั่วไปต้องการการลงทุนไม่ใช่การลดต้นทุนลง
- 10 views