เชื่อว่าปัญหาขยะ ยังคงเป็นตัวการหลักที่สร้างภาระให้ทั้งภาครัฐและเอกชน ไม่เว้นแม้แต่โรงพยาบาล ที่พ่วงมากับขยะติดเชื้ออีกเป็นจำนวนมากจำนวนมาก ที่ รพ.ละงู อำเภอละงู จังหวัดสตูล ก็เช่นกันประสบปัญหาขยะมีเป็นจำนวนมากถึง 150 กิโลกรัมต่อวัน จึงต้องหาวิธีกำจัดขยะด้วยตนเอง
จากข้อมูลของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม ที่ได้ให้ความสำคัญของการกำจัดขยะติดเชื้อในโรงพยาบาล พบว่า ในปี 2555 มีขยะติดเชื้อ เช่น ผ้าพันแผล สำลี เข็มฉีดยา ชิ้นส่วนอวัยวะที่เกิดจากการผ่าตัด ประมาณ 42,000 ตันต่อปี แบ่งเป็นสถานบริการสาธารณสุขของรัฐ 28,000 ตัน และสถานบริการสาธารณสุขของเอกชน 14,000 ตัน ซึ่งขยะเหล่านี้หากำจัดไม่ถูกวิธีอาจกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรคได้เช่นกัน
ขณะเดียวกันการกำจัดด้วยการเผาในเตาเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ให้ผลดีต่อการกำจัดขยะติดเชื้อเหล่านี้ แต่จากการสำรวจพบว่า องค์กรปกครองส่วนท้องทิ้งทั่วประเทศมีเตาเผาขยะเพียง 13 แห่งเท่านั้น มีมีเตาเผาของภาคเอกชนอีก 4 แห่ง ซึ่งส่วนทางกับปริมาณขยะที่เพิ่มมากขึ้นทุกวัน รพ.ละงู จึงเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของโรงพยาบาลที่มีความพร้อมในการกำจัดขยะติดเชื้อด้วยตนเองและยังสามารถรองรับขยะติดเชื้อจากหน่วยบริการสาธารณสุขของรัฐในพื้นที่ใกล้เคียงได้อีกด้วย
นพ.ปวิตร วณิชชานนท์
นพ.ปวิตร วณิชชานนท์ ผู้อำนวยการ รพ.ละงู กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของการกำจัดขยะ เริ่มมาจากโครงการสาธารณสุขลดโลกร้อน ในปี 2554 ประกอบกับจำนวนปริมาณขยะติดเชื้อในโรงพยาบาลที่มีมากถึง 150 กิโลกรัมต่อวัน และจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) ในเครือข่าย รพ.ละงู จำนวน 11 แห่ง มีปริมาณขยะ 160 กิโลกรัมต่อสัปดาห์ จึงได้เกิดแนวคิดพัฒนาเตาเผาขยะที่มีอยู่เดิมให้ทันสมัยไร้มลพิษ โดยจะให้ความรู้เรื่องการกำจัดขยะที่ถูกวิธีแก่เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลและ เจ้าหน้าที่ของ รพ.สต.ที่เป็นเครือข่ายทั้งหมด เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
การดำเนินงานจะเริ่มจาก การจัดเตรียมความพร้อมทั้งบุคลากรและอุปกรณ์ มีการแยกและเก็บขยะ โดยจะแบ่งขยะออกเป็น ขยะรีไซเคิล คือขยะที่สามารถนำกลับไปใช้ใหม่ได้ เช่น กระดาษ โลหะ , ขยะทั่วไป คือ ขยะที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ได้อีก ,ขยะ/ของเสียอันตราย คือ ขยะทางการแพทย์ที่มีพิษอาจก่อให้เกิดอันตรายกับมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ต้องทำลายด้วยวิธีพิเศษ และขยะติดเชื้อ คือ ขยะทางการแพทย์ที่มีเหตุอันควรให้สงสัยว่า มี หรือ อาจมีเชื้อโรค
ทั้งนี้ รพ.ละงู จะมีการขนขยะติดเชื้อทุกวันๆละ 2 เวลา คือ ช่วงเช้า เวลา 07.30 น. และช่วงบ่าย เวลา 15.30 น. จากนั้นจะนำมาเผาในเตาเผาขยะด้วยความร้อนสูงของโรงพยาบาลอาทิตย์ละ 3 วัน ได้แก่ วันจันทร์ พุธ และศุกร์
นพ.ปวิตร กล่าวว่า สำหรับการดำเนินงานกำจัดในภาพรวมจะเริ่มจาก การแยะขยะตามที่กล่าวมาแล้ว ส่วนขยะที่มาจาก รพ.สต. จะมีรถขนขยะของโรงพยาบาลเป็นรถขยะที่ปิดสนิท ไม่ติดแอร์ ไปรับขยะติดเชื้อจาก รพ.สต.ทุกวันพฤหัสบดี โดยบรรจุในถังสีแดง ของโรงพยาบาล เพื่อนำกลับมาพักไว้ที่โรงพักขยะติดเชื้อของโรงพยาบาล เพื่อรอเผาในเตาเผาขยะในวันศุกร์ ซึ่งขยะที่รับมาจะชั่งน้ำหนักปริมาณขยะ ติดป้ายขยะติดเชื้ออย่างชัดเจน และบอกที่มาของขยะว่ามาจากที่ไหน ส่วนรถขนขยะหลังจากขนเรียบร้อยแล้วต้องล้างทำความสะอาดทุกครั้ง และพนักงานขับรถต้องอาบน้ำชำระร่างกายทุกครั้งหลังเสร็จภารกิจขยะติดเชื้อด้วย
“ผลที่ได้คือ ปริมาณขยะของโรงพยาบาลเมื่อเทียบกับปี 2554 มีจำนวนลดลงถึง 30-40% นอกจากนี้ รพ.ละงู ยังได้มีการพัฒนาสิ่งแวดล้อมต่างในโรงพยาบาล อาทิ ห้องส้วมพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ใช้หลังคาใสที่สามารถสะท้อนแสงแดดลงมาได้ ซึ่งแสงแดดสามารถฆ่าเชื้อโรคบางส่วนได้ ทำให้ห้องส้วมที่มีคนใช้เยอะปราศจากความชื้นแฉะ และสร้างอนามัยที่ดีแก่ผู้มาใช้บริการได้” ผอ.รพ.ละงู กล่าว
- 67 views