เดอะการ์เดียน : ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์จากสหราชอาณาจักร กล่าวแสดงความชื่นชมหลังจากที่นายกรัฐมนตรีเสนอให้มีการเคลื่อนไหวในระดับนานาชาติเพื่อต่อสู้กับปัญหาเชื้อแบคทีเรียสายพันธุ์ดื้อยาปฏิชีวนะทุกชนิด หรือที่เรียกว่า "ซูปเปอร์บัค" พร้อมย้ำเตือน การแพทย์สมัยใหม่อาจถึงคราวล่มสลายหากทั่วโลกยังไม่มีการลงทุนคิดค้นยาปฏิชีวนะชนิดใหม่
นายเดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร (ขอบคุณภาพจาก The Telegraph)
เว็บไซต์ของเดอะการ์เดียนรายงานเมื่อวันที่ 2 ก.ค.57 ว่า ศ.แดม แซลลี เดวิส ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์จากสหราชอาณาจักร ได้แสดงความเห็นต่อท่าทีของ นายเดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร หลังจากที่เขาออกมาเรียกร้องให้ทั่วโลกตระหนักถึงความรุนแรงของปัญหาพร้อมกล่าวว่า “ภัยคุกคามจากเชื้อแบคทีเรียดื้อยาซูปเปอร์บัคจะนำมนุษยชาตไปสู่ยุคมืดด้านสาธารณสุข”
ในตอนหนึ่งของการสัมภาษณ์ ศ.เดวิสชี้แจงว่าเธอเห็นด้วยกับความคิดของนายกรัฐมนตรีที่ได้ขอให้ อดีตหัวหน้าทีมนักเศรษฐศาสตร์จาก Goldman Sachs มาช่วยนำทีมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญจากนานาประเทศ ซึ่งรวมตัวกันเพื่อหาแนวทางในการสนับสนุนให้บริษัทยาลงทุนคิดค้นยาปฏิชีวนะชนิดใหม่ขึ้นมา
"ดิฉันยินดีอย่างยิ่งที่นายกรัฐมนตรีเข้ามาเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนครั้งยิ่งใหญ่เพื่อที่ยาปฏิชีวนะชนิดใหม่จะได้รับการพัฒนาและนำไปใช้รักษาผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ"
ศ.เดวิส ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการวิทยุบีบีซี ว่า ปัญหาเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะเป็นหายนะที่กำลังทวีความเลวร้ายขึ้นทุกที โดยในประเทศอังกฤษ เธอกล่าวว่าแต่ละปีมีผู้ป่วยราว 5,000 คน เสียชีวิตจากการติดเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะ "ในขณะที่อัตราตายเพิ่มสูงขึ้น แต่เรากลับไม่มียาชนิดใหม่ที่จะใช้รักษา"
ศ.เดวิสกล่าวเตือนด้วยว่า ต่อไปการผ่าตัดเปลี่ยนข้อตะโพก การผ่าคลอด และการรักษาโรค เช่น มะเร็ง จะทำได้ยากหากปราศจากแนวทางรักษาการติดเชื้อในผู้ป่วย และสถานการณ์ดังกล่าวจะส่งผลให้การแพทย์ปัจจุบันไร้ประสิทธิภาพภายในระยะเวลาอันสั้น
ดร.หลุยส์ ลีอง จากสมาคมอุตสาหกรรมยาแห่งสหราชอาณาจักร กล่าวว่า ยาปฎิชีวนะ ตกเป็นจำเลยและโดนกล่าวโทษเนื่องจากข้อดีของตัวมันเองคือเป็นยาราคาถูกแต่ในขณะเดียวกันก็เป็นยาที่มีการใช้อย่างพร่ำเพรือโดยไม่มีความจำเป็น ซึ่งเรื่องนี้คงต้องแก้ไขโดยอาศัยโมเดลทางเศรษฐกิจใหม่ที่ภาครัฐและเอกชนต้องทำงานร่วมกัน อย่างเช่นในยุโรปก็ได้มีการจัดตั้งองค์กรความร่วมมือภาครัฐ-เอกชนขนาดใหญ่เพื่อแก้ไขปัญหาสำคัญด้านสาธารณสุขรวมทั้งปัญหาการดื้อยาปฏิชีวนะนี้ด้วย
แบคทีเรียสายพันธุ์ MRSA ซึ่งเป็นหนึ่งในแบคทีเรียสายพันธุ์ดื้อยาปฏิชีวนะทุกชนิดหรือที่เรียกว่า "ซูปเปอร์บัค"
แม้ว่าในอุตสาหกรรมยาจะขาดแรงจูงใจในการลงทุนค้นคว้าวิจัยยาที่ไม่ได้ใช้รักษาโรคเรื้อรังหรือยาที่กำไรน้อย แต่ศ.เดวิสก็พยายามชี้ให้เห็นว่า บริษัทยาต่างๆไม่ควรเพิกเฉยต่อปัญหาการดื้อยาปฎิชีวนะ เพราะยารักษามะเร็งหรือยารักษาโรคอื่นๆ ก็คงจะขายไม่ได้ หากยาปฎิชีวนะใช้รักษาไม่ได้ผล
ในรอบ 60 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมยาได้ผลิตยาปฎิชีวนะออกมาแล้ว 3 รุ่น โดยนับรวมตัวแรกที่เป็นเพนิซิลินที่ได้จากธรรมชาติ ซึ่งยากลุ่มนี้ใช้ไม่ได้ผลแล้วเนื่องจากแบคทีเรียได้พัฒนาเอนไซม์จนทำให้ยาสลายตัวได้ ต่อมายาปฎิชีวนะรุ่นที่สอง คือเพนิซิลินสังเคราะห์ ที่ปรับแก้ในห้องปฏิบัติการเพื่อให้ออกฤทธิ์ยังยั้งเอนไซม์ของแบคทีเรียที่ทำให้ยาสลายตัว แต่ในที่สุดเชื้อแบคทีเรียก็ดื้อต่อยากลุ่มนี้แล้ว ส่วนยารุ่นที่ 3 ที่ได้รับการปรับปรุงล่าสุดคือ ยาปฏิชีวนะกลุ่ม Carbapenems ซึ่งในปี 2003 ได้มีรายงานว่าพบจุลินทรีย์ที่ดื้อต่อยานี้แล้วในสหราชอาณาจักร
ทั้งนี้ จากรายงานเบื้องต้นเชื่อว่านายโอนีลจะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาและการควบคุมการใช้ยาปฏิชีวนะ ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้งบเพื่อเริ่มดำเนินการกว่า 500,000 ยูโรจาก The Wellcome Trust องค์กรด้านการวิจัยและพัฒนาสุขภาพของคนและสัตว์ในสหราชอาณาจักร พร้อมกันนี้ก็จะมีการวางแผนงานเพื่อสนับสนุนและตรวจสอบกระบวนการค้นคว้าพัฒนายาปฎิชีวนะชนิดใหม่ ที่สำคัญจะมีการพิจารณารูปแบบการลงทุนที่ดึงดูดใจบริษัทยาต่างๆ โดยเน้นความสมดุลระหว่างประสิทธิภาพและแรงจูงใจในการลงทุนที่ยั่งยืน มีการคิดหาแนวทางที่รัฐบาลและกลุ่มทุนต่างๆจะสามารถกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในยาต้านจุลชีพชนิดใหม่ โดยจะเน้นการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศรวมถึงส่งเสริมการทำงานอย่างใกล้ชิดกับประเทศยากจนต่างๆด้วย
อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะมีการนำเสนอรายงานผลการศึกษาเป็นครั้งแรกได้ในระหว่างปี 2558 พร้อมกับได้ผลสรุปรวมถึงข้อเสนอแนะที่น่าสนใจ และคงจะมีการติดตามผลต่อเนื่องในระหว่างปี 2559 ทั้งนี้คาดว่าโครงการดังกล่าวจะดำเนินงานควบคู่ไปกับแผนปฎิบัติการเกี่ยวกับแบคทีเรียที่ดื้อยาปฏิชีวนะขององค์การอนามัยโลก
- 19 views