รพ.ชุมชน โวยสธ. ไม่ยอมส่งข้อมูลตัวเลขเงินเดือน จนทำให้ยังไม่ได้รับเงินเหมาจ่ายรายหัวจากสปสช. เผยทุกปีต้องเรียบร้อยตั้งแต่ ธ.ค. แต่ปีนี้ล่าช้าจนเข้าไตรมาสที่ 4 ส่งผลกระทบการให้บริการประชาชน รพ.ขาดสภาพคล่อง ตั้งข้อสังเกต เป็นเพราะสธ.พยายามผลักดันจัดสรรเงินขั้นต่ำแบบ MOC จึงไม่ยอมส่งตัวเลขงบเงินเดือนให้สปสช.หรือไม่ วอนปลัดสธ.เรียกประชุมบอร์ดเพื่อคุยให้ชัด อย่าเรียกคุยเฉพาะเลขาธิการสปสช.
17 ก.ค. 57 นพ.บัลลังก์ อุปพงษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพรานกระต่าย อ.พรานกระต่าย จ.กำแพงเพชร กล่าวว่า ขณะนี้โรงพยาบาลหลายแห่งมีปัญหาในเรื่องงบประมาณที่จะได้รับจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) เนื่องจากงวดเงินไตรมาสที่ 4 ของเงินเหมาจ่ายรายหัวในกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้รับช้า เนื่องจากปกติสปสช.จะโอนเงินให้นั้น จะต้องหักลบเงินในส่วนเงินเดือนของบุคลากรสาธารณสุขในโรงพยาบาลก่อน ซึ่งส่วนใหญ่จะหักไปประมาณ 60% โดยตัวเลขเงินเดือนนั้น ทางสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สป.สธ.)จะเป็นผู้จัดส่งข้อมูลให้ แต่ปีนี้กลับล่าช้า จากเดิมต้องแล้วเสร็จตั้งแต่เดือนธันวาคม แต่จนบัดนี้บางแห่งก็ยังไม่ได้รับ ขณะที่บางแห่งได้รับเงินน้อยลง อย่างโรงพยาบาลในจ.อุตรดิตถ์หลายแห่งถูกปรับลดเงินกว่า10 ล้านบาท จนเกิดคำถามว่าการหักเงินเดือนมีจำนวนมากขนาดนั้นเลยหรืออย่างไร ทั้งนี้ ในการแก้ปัญหาขณะนี้ ทราบมาว่า สปสช.ได้มีการจัดสรรงบฯ แล้ว แต่เป็นการจัดสรรงบล่วงหน้า เพื่อให้โรงพยาบาลนำไปบริหารจัดการภายในไปก่อน
“อย่างโรงพยาบาลพรานกระต่าย เดิมตนได้รับงบฯงวดละ 17 ล้านบาท แต่ครั้งนี้ได้ประมาณ 13-14 ล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้ยังไม่ได้รับผลกระทบมาก แต่โรงพยาบาลท่าปลา จ.อุตรดิตถ์ เจอปัญหาเยอะ ถูกลดเงินเยอะมาก อย่างแต่ละปีจะได้รับงบประมาณ 30 กว่าล้านบาท แต่เงินงวดที่ 4 กลับได้ลดลงเหลือ 23 ล้านบาท ซึ่งหากจะบอกว่าเป็นการหักจากเงินเดือนโดยพิจารณาจากผลของงาน ต้องถามกลับว่า ผลงานจากการบริการผู้ป่วย ทั้งผู้ป่วยนอกผู้ป่วยในน้อยลงขนาดนั้นเชียวหรือ ซึ่งไม่น่าเป็นไปได้ เพราะทุกวันนี้โรงพยาบาลแต่ละแห่งยังคงมีผู้ป่วยมารอคิวรับบริการอยู่มาก” นพ.บัลลังก์ กล่าว
นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิชล จ.นครศรีธรรมราช อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวถึงกรณีปัญหาสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)โอนเงินไปยังโรงพยาบาลล่าช้า ว่า ปัญหามาจากตัวเลขเงินเดือนของบุคลากรตามโรงพยาบาลต่างๆ มาไม่ถึง สปสช. เนื่องจากโดยปกติงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจะต้องถูกหักประมาณ 60% เพื่อนำไปเป็นงบเงินเดือนของข้าราชการ บุคลากรของโรงพยาบาล เมื่อหักเรียบร้อยแล้วจึงจะสามารถโอนไปยังหน่วยบริการต่างๆได้ ซึ่งแต่ละปีก็มีการดำเนินการมาโดยตลอด แต่ปีนี้ปรากฎว่ามีปัญหา เพราะทางสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สป.สธ.)ไม่ยอมส่งข้อมูลเงินเดือนมาให้ ส่งผลให้โรงพยาบาลต่างๆ โดยเฉพาะโรงพยาบาลชุมชนขนาดเล็กมีปัญหาขาดสภาพคล่อง ซึ่งหากสปสช.ไม่ส่งเงินไปให้ในกรอบระยะเวลาก็จะต้องเดือดร้อน
“จึงเป็นเหตุให้สปสช.ต้องส่งเงินไปให้ก่อน โดยคำนวนจากฐานข้อมูลเก่าในปีก่อนๆ เพื่อให้เงินไปถึงโรงพยาบาล ทั้งๆที่สป.สธ.ส่งข้อมูลมาให้ได้แต่กลับไม่ทำ เรื่องนี้มีคนตั้งข้อสังเกตว่า เพราะต้องการกดดันสปสช.ทางอ้อมหรือไม่ เนื่องจากที่ผ่านมา สป.สธ.มีความพยายามปรับเปลี่ยนแนวทางจัดสรรเงินใหม่ที่เรียกว่า MOC หรือ Minimal Operation Cost หรือ จัดสรรตามค่าใช้จ่ายขั้นต่ำ ทั้งๆ ที่ค่าใช้จ่ายมีมากอย่างเดิม สปสช.จัดสรรเงินตามรายหัวประชากรสำหรับผู้ป่วยนอกและงบส่งเสริมป้องกัน และจัดสรรตามปริมาณงานตามจำนวนผู้ป่วยในที่ดูแล แต่อันใหม่ไม่มีการแจกแจงแบบนี้ ทำให้มีคนไม่เห็นด้วยเยอะ ทางชมรมแพทย์ชนบทก็ไม่เห็นด้วย ดังนั้น เพื่อให้ได้ข้อสรุปขอให้ปลัดสธ.เรียกประชุมบอร์ดสปสช.เสียที เพื่อมาหาข้อสรุปตรงนี้ ไม่ใช่เรียกแต่ นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสปสช.ไปคุยคนเดียว เพราะเรื่องนี้ต้องคุยและได้ข้อสรุปเป็นมติคณะกรรมการฯ” นพ.อารักษ์ กล่าว
- 13 views