แฉ ปลัด สธ.เสนอ คสช.บังคับประชาชนร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาล 30-50% แถมในฐานะรักษาการรมว.สธ.ตามคำสั่งคสช. ยังไม่ยอมเรียกประชุมบอร์ดสปสช.กว่า 2 เดือน กระทบประชาชน เบิกจ่ายยามะเร็ง-ยารักษาไวรัสตับอักเสบซีไม่ได้ เพราะต้องรอมติบอร์ด
12 ก.ค. นายนิมิตร์ เทียนอุดม กรรมการระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ตามที่ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขทำเรื่องเสนอคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ประชาชนต้องร่วมจ่าย (co-pay)ในระบบหลักประกันสุขภาพ 30-50% โดยเมื่อวันที่ 31 พ.ค.ที่ผ่านมา ได้นำเสนอประเด็นนี้กับ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองหัวหน้า คสช. ด้านสังคมจิตวิทยา ในการเข้าตรวจเยี่ยมกระทรวงสาธารณสุข และระหว่างนี้ ปลัด สธ.ในฐานะรักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ไม่เรียกประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งไม่มีการประชุมมาแล้ว 2 เดือน ตนเห็นว่า การที่ สธ.ได้นำเสนอ คสช.ให้ประชาชนต้องร่วมจ่ายในอัตรา 30-50% โดยให้เหตุผลว่า ถ้าไม่ทำอย่างนี้จะทำให้ระบบล้มละลาย ซึ่งนี่เป็นการให้ข้อมูลที่ผิดมาก
“การที่สธ.บอกว่าระบบหลักประกันสุขภาพจะอยู่ไม่ได้ เพราะใช้เงินเยอะ ไม่จริง เพราะรัฐจ่ายเพื่อสุขภาพเพียง 7% เท่านั้น ถือว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มมาก ทั้งช่วยลดความยากจนในครัวเรือนได้ ซึ่งระบบหลักประกันสุขภาพของไทยได้รับการยกย่องจากนานาชาติมาโดยตลอดว่า มีประสิทธิภาพในการใช้งบประมาณที่ไม่มากแต่สามารถช่วยประชาชนให้พ้นความยากจนได้จริง ถ้ารัฐจะผลักภาระตรงนี้ ทหารเกณฑ์ที่ใช้บัตรทองก็ต้องมาแบกรับด้วย”
สำหรับการที่ปลัด สธ.ไม่เรียกประชุมบอร์ด สปสช.เป็นเดือนที่ 2 แล้วนั้น กรรมการหลักประกันสุขภาพระบุว่า ทำให้ไม่สามารถอนุมัติสิทธิประโยชน์ใหม่ๆได้ ทำให้ผู้ป่วยเสียโอกาส
“ตอนนี้ยารักษาไวรัสตับอักเสบซี ก็ยังไม่ได้อนุมัติ ทำให้ผู้ป่วยเสียโอกาส ถ้าไม่ได้ยาก็พัฒนากลายไปเป็นมะเร็งตับ ค่ารักษาก็แพงอีก นี่เป็นความทุกข์ แต่ยังไม่ประชุมบอร์ดกว่า 2 เดือนแล้ว บอร์ดจะประชุมได้ ประธานต้องเรียก ก็ไปดูแล้วกันว่าใครเป็นประธาน แล้วทำไมถึงไม่เรียกประชุมบอร์ดเสียที ตรงนี้อยากฝากไปถึง คสช.ที่พูดตลอดเวลาว่าเข้ามาเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะ และวางรากฐาน แต่ตอนนี้เรื่องปฏิรูประบบสาธารณสุขยังไม่เห็นทิศทางที่ชัดเจน และไม่เคยมีข้อเสนอที่มาจากการมีส่วนร่วมของประชาชน” นายนิมิตร์กล่าว
ทั้งนี้ รายการบัญชียา จ.2 ที่คณะกรรมการพัฒนาระบบยาได้อนุมัติแล้ว และอยู่ระหว่างรอบอร์ดสปสช.พิจารณาเข้าระบบให้ผู้ป่วยเบิกจ่ายได้นั้น ประกอบไปด้วย ยารักษามะเร็งเต้านมในระยะเริ่มแรก Tastuzumab, ยารักษาไวรัสตับอักเสบซี Peginterferon, ยารักษามะเร็งเม็ดเลือด Nilotinib, ยารักษามะเร็งเม็ดเลือด Dasatinib และยากำพร้า Dacarbazine ที่ใช้รักษา มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดฮอดจ์กิน (Hodgkin’s disease)
“ที่ผ่านมา เคยมีมติบอร์ดว่า เมื่อคณะกรรมการบัญชียาหลักอนุมัติไปแล้วระหว่าง รอประกาศ ให้สามารถเบิกจ่ายได้เลย ดังนั้น สปสช.ควรมีความกล้าหาญทำตามมติบอร์ด อย่าไปใช้ข้ออ้างนี้ในการไม่ให้ประชาชนใช้สิทธิ อย่าไปยอมให้ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขจับประชาชนเป็นตัวประกัน” นายนิมิตร์ กล่าว
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
‘หมอณรงค์’ ยันไม่มีแนวคิดร่วมจ่าย ย้ำไม่คิดล้มระบบสปสช.
- 2 views